กฎหมายค้ำประกัน
มาตรา 680 วรรคแรก บัญญัติว่า “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ”
ลักษณะสำคัญของสัญญาค้ำประกันมี 3 ประการ คือ
1.ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก กฎหมายใช้คำว่า “สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน” ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือ บุคคลที่สาม คือ ไม่ใช่เจ้าหนี้ และ ไม่ใช่ลูกหนี้ อาจจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ ผู้ค้ำประกันหนี้รายหนึ่งอาจจะมีเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ สัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ซึ่งมีผลให้เจ้าหนี้มีบุคคลสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้โดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของผู้ค้ำประกัน ต่างกับกรณีจำนองและจำนำ ซึ่งเป็นการประกันด้วยทรัพย์ทำให้เจ้าหนี้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนองหรือจำนำ เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์นั้น แม้ทรัพย์นั้นจะเปลี่ยนเจ้าของ แต่จะไปบังคับชำระหนี้จากจเาของทรัพย์สินอื่นของผู้จำนอง หรือผู้จำนำไม่ได้
สัญญาค้ำประกันจะต้องเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ไม่ใช่ประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์เฉพาะสิ่งหรือด้วยนิติกรรมอื่น เช่น การที่ลูกหนี้ออกเช็คเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้เงินกู้ ไม่ใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. จะนำสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับไว้สำหรับสัญญาค้ำประกันใช้บังคับกับกรณีนี้ไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2223/2539 จำเลยขอให้โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากที่ดจทก์ฝากไว้แก่ธนาคารเป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลย โจทก์จึงทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์มาชำระหนี้ได้ถ้าจำเลยผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ ดังนี้ สัญญาระหว่างโจทก์กับธนาคารมิใช่สัญญาค้ำประกันตามมาตรา 680 แต่เป็นเรื่องความตกลงในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารแทนจำเลยตามที่จำเลยร้องขอ โดยจำเลยรับจะชำระเงินคืนโจทก์ จำเลยจึงต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4328/2559 ความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ ไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่า จะเข้าทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ การเข้าทำสัญญาค้ำประกันโดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 3777/2560 สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันตกลงผู้พันต่อเจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมต้องชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันเอง สัญญาค้ำประกันจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นสิทธิในทรัพย์สิน จึงเพิกถอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ได้
2.กฎหมายค้ำประกัน ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จะมีการค้ำประกันได้จะต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หนี้นั้นจะเกิดจากสัญญาหรือละเมิดก็ได้ หนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เรียกว่าหนี้ประธาน ถ้าไม่มีหนี้ประธาน แม้มีการทำสัญญาค้ำประกันไว้ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ 3781/2533 โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระ หนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเช่าโฉนดที่ดินโจทก์เพื่อนำไปใช้ประกันญาติของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา โจทก์เรียกค่าตอบแทนกับให้จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ และให้จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ การที่จำเลยทั้งสอง ทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ก่อน แล้วโจทก์จึงไปยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวญาติของจำเลยที่ 2 นั้น ขณะทำสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ยังไม่มีการประกันตัวผู้ต้องหา ความเสียหายอันเกิดจากการประกันตัวยังไม่เกิด จึงไม่มีมูลเหตุเดิมที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นมูลหนี้ในสัญญากู้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 4684/2536 ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไว้กับโจทก์จำนวน 80,000 บาท เพื่อเป็นการประกัน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้ แม้ในขณะนั้น สัญญากู้เงินจะยังไม่บริบูรณ์ตามมาตรา 650 วรรค 2 แต่ก่อนฟ้องคดี ธนาคารได้หักเงินจากบัญชีฝากของโจทก์ ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปแล้วเท่ากับจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 หนังสือสัญญาเงินกู้จึงเป็นหนังวสือสัญญาที่บริบูรณ์ มีมูลหนี้ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญา
หนี้ประธานที่จะมีการค้ำประกันได้ จะเกิดจากมูลหนี้ชนิดใดก็ได้ เช่น เกิดจากสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญาจ้างแรงงาน หรือละเมิด ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ในทางแพ่ง จะค้ำประกันตาม ป.พ.พ. ไม่ได้ เช่น การที่นายประกันทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาหรือ จำเลยไปจากพนักงานสอบสวนหรือศาล เมื่อประกันไปแล้วนายประกันมีหน้าที่ต้องนำตัวบุคคลกดังกล่าวไปส่งให้แก่พนักงานสอบสวนหรือศาลตามนัด หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ใช่หนี้ทางแพ่ง แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขอให้โจทก์ไปประกันตัวผู้ต้องหาจะต้องผูกพันตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย
3. ต้องเป็นเรื่องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะเป็นการค้ำประกัน จะต้องเป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ คือ ต้องทำสัญญากับเจ้าหนี้ ถ้าไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน เช่น ธนาคารดจทก์ทำสัยญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อองค์การสะพานปลา ยินยอมให้เงินแก่องค์กรารสะพานปลาในกรณีที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาแล้วไม่ชำระหนี้ ในการที่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาไว้กับธนาคาร โจทก์มีข้อความว่าตามที่ธนาคารโจทก์ได้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 กับองค์การสะพานปลา ถ้าองค์การสะพานปลาเรียกร้องให้ธนาคารโจทก์ชำระเงินจำนวนที่ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดให้ธนาคารโจทก์ไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ดังนี้ สัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ธนาคารโจทก์ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามมารตรา 680
การที่บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ที่จะเป็นสัญญาค้ำประกัน จะต้องเป็นการผูกพันตนเพื่อชำระหนี้ถ้าเป็นการให้คำรับรองลอยๆ ไม่ได้ระบุว่าจะชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน เช่น จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารออมสินอนุมัติให้พนักงานบัญชี ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาลงรายการในบัญชีรับจ่ายแทนจำเลยได้โดยระบุไว้ด้วยว่า จำเลยขอรับผิดชอบโดยไม่มีข้อโต้แย้งเมื่อมีการทุจริตผิดพลาด ดังนี้ไม่ใช่การค้ำประกัน เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในธนาคาร เมื่อพนักงานบัญชียักยอกเงินของธนาคารไป จำเลยอาจจะต้องรับผิดฐานละเมิด (ฎีกา 718/2519)
https://pantip.com/topic/37142453
เอกสารพิพาทมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านางสาวอัญชลี (จำเลยที่ 2) นางสาวดารณี (จำเลยที่ 3) ขอรับรองว่าโฉนดที่ดิน มอบให้นายแพทย์มนู สาธารณสุขจังหวัด ในวันที่ 13 มีนาคม 2531 เพื่อเป็นหลักทรัพย์ซึ่งนางนิตยา (จำเลยที่ 1) ได้บกพร่องต่อราชการสาธารณสุข ตามความเป็นจริงที่นางสาวนาตยาได้กระทำเท่านั้น” เอกสารดังกล่าวไม่ปรากฎข้อความ ที่ให้ความหมายว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แล้ว2 และจำเลยที่ 3 จะชำระหนี้ จึงไม่ใช่เอกสารที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันหนี้ ของจำเลยที่ 1 (ฎีกา 1066/2539)
กรณีตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงิน ป.พ.พ. มาตรา 938 ,940 ,985 บัญญัติว่า ให้มีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินตามตั๋วได้เรียกว่าอาวัล และผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับบุคคลซึ่งตนประกัน แต่มาตรา 967 บัญญัติให้ผู้ทรงตั๋วมีสิทธิเรียกให้ผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วรับผิดโดยไม่ต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านี้มาผูกพัน ดังนั้น ผู้รับอาวัลจึงไม่ใช่ผู้ที่ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ใช่ผู้ค้ำประกันตามความหมายของมาตรา 680
สรุป กฎหมายค้ำประกัน เป็นเรื่องของบุคคลภายนอก ประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ซึ่งมีผลให้เจ้าหนี้มีบุคคลสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้โดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของผู้ค้ำประกัน
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE