กลฉ้อฉล
1.ลักษณะโดยทั่วไปของ กลฉ้อฉล
กลฉ้อฉล หมายถึง การกระทำไม่ว่าจะในลักษณะใด อันเป็นการแสดงให้ปรากฎชัดถึงข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการใช้อุบายหลอกลวงให้ผิดไปจากความจริง เพื่อให้คู่กรณีในนิติกรรม ไม่ว่าฝ่ายใดหลงเชื่อในข้อความนั้น ว่าเป็นความจริง และจะได้เข้าทำนิติกรรมตามวัตถุประสงค์อันบุคคลผู้แสดงเจตนานั้นหลงผิด ซึ่งผู้กระทำโดยทุจริตใช้อุบายหลอกลวงนั้น อาจจะเป็นคู่กรณีแต่ละฝ่ายในการทำนิติกรรม หรือบุคคลภายนอก หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ย่อมทำได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 กำหนดให้กลฉ้อฉลที่จะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ จะต้องถึงขนาดที่ว่า หากไม่ได้ใช้กลฉ้อฉลเช่นว่านั้นแล้ว นิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น จะไม่ได้ทำขึ้นด้วย หากปรากฎ ข้อเท็จจริงว่า ไม่ว่าคู่กรณีจะได้ใช้กลฉ้อฉลหรือไม่ คุ่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ยังคงตกลงทำนิติกรรมอยู่ดี เช่นนี้ นิติกรรมที่ทำขึ้น ย่อมไม่ตกเป็นโมฆียะ เพราะถูกกลฉ้อฉล
ข้อสังเกต
คำพิพากษาฎีกาที่ 4238/2559 สัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่ผู้ต้ำประกันเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จึงเป็นข้อที่คาดเห็นว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ และผู้ค้ำประกันยังคงเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้แทนลูกหนี้ การที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะเหตุใด ไม่ใช่ข้อที่ผู้ค้ำประกันจะนำมาอ้างเพื่อไม่ชำระหนี้แทนลูกหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ ของลูกหนี้จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่าจะทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ หากผู้ค้ำประกันอ้างได้ว่า ถ้ารู้ว่าลูกหนี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ไม่เข้าทำสัญญาค้ำประกัน ความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันย่อมไม่อาจมีขึ้นได้ ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของลักษณะสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจึงไม่อาจอ้างว่า หากผู้ค้ำประกันรู้ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ค้ำประกันก็จะไม่ทำสัญญาคำ้ประกัน การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาของผู้ค้ำประกัน โดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนา เพราะถุกกลฉ้อฉล เป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159 วรรค 1 สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์ และจำเลย จึงไม่เป็นโมฆียะ
2.หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำนิติกรรมโดยกลฉ้อฉล
(1) บุคคลผู้ทำกลฉ้อฉล
(1.1) คู่กรณีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งในนิติกรรม คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้อุบายหลอกลวงให้ผิดไปจากความจริง เพื่อให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหลงเชื่อ และเข้าทำนิติกรรม ซึ่งต้องบังคับตามมาตรา 159 วรรค 1
(1.2) คู่กรณีทั้งสองฝ่าย หลักเกณฑ์การทำกลฉ้อฉลโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตามาตรา 163
ก. เป็นการที่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย แห่งนิติกรรมนั้น ต่างได้ทำกลฉ้อฉล
ข. มาตรา 163 ใช้คำว่า “คู่กรณีต่างได้กระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย” ถ้อนคำดังกล่าวไม่ได้กำหนดุถึงลักษณะหรือวิธีการทำกลฉ้อฉล และมาตรา 163 ห้ามไว้ 2 ข้อ คือ ห้ามบอกล้างประการหนึ่ง และห้ามมิให้เรียกค่าสินไหมทดแทนอีกประการหนึ่ง หากพิจาณาตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การทำกลฉ้อฉลตามมาตรา 163 นี้ เป็นเรื่องที่มีได้ทั้งทำการกลฉ้อฉลถึงขนาด และกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ ด้วยเหตุนี้ ถ้าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างได้ทำกลฉ้อฉลต่างประเภทกัน โดยฝ่ายหนึ่งทำกลฉ้อฉลถึงขนาด แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำกลฉ้อฉล เพื่อเหตุเท่านั้น โดยหลักเกณฑ์ทั่วไปแล้ว คู่กรณีผู้ถูกกลฉ้อฉลคงขนาดย่อมมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเกิดจากการแสดงเจตนา เพราะเหตุกลฉ้อฉลถึงขนาดนั้น ตามาตรา 159 วรรค 2 ส่วนคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีสิทธิบอกล้าง แต่ก็อาจมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 161 แต่ด้วยบทบัญญัติมาตรา 163 ได้ห้ามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่หยิบยก้อกลฉ้อฉลเช่นนั้น อ้างขึ้น ดังนั้น แม้จะมีการทำกลฉ้อฉลต่างขนาดกันใน่ละฝ่าย กฎหมายก็ได้ปิดปากไว้ในทำนองคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จะหยิบยกความไม่สมบูรณ์แห่งนิติกรรม หรือสิทธิแห่งตนในการเรียกค่าสินไหมทดแทนขึ้นอ้าง ในแต่ละฝ่ายอย่างใดหาได้ไม่
(1.3) บุคคลภายนอก กลฉ้อฉลนั้น หากเกิดจากากรใช้อุบายโดยบุคคลภายนอกแล้ว จะต้องพิจารณาว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ หรือควรรู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นหรือไม่ ตามมตรา 159 วรรค 3 กล่าวคือ หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รู้หรือควรจะรู้ ถึงการใช้กลฉ้อฉลของบุคคลภายนอก นิติกรรมย่อมสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆียะ แต่หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง รู้หรือควรจะรู้ ถึงการใช้กลฉ้อฉลของบุคคลภายนอก ย่อมถือว่าเป็นนิติกรรมที่เกิดจากกลฉ้อฉล ตกเป็นโมฆียะ
ข้อสังเกต แม้กลฉ้อฉลที่เกิดจากบุคคลภายนอกโดยคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ถึงกลฉ้อฉลด้วย จะไม่เป็นโมฆียะตามมาตรา 159 วรรค 3 แต่อาจจะเป็นโมฆะตาม มาตรา 156 เพราะเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หรือเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 เพราะเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินได้ เช่น จ.มีที่ดินแปลงหนึ่งมีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน จ. ต้องการขายที่ดินแปลงดังกล่าวในราคา 1,000,000 บาท จึงติดต่อให้ น. นายหน้าค้าที่ดินเป็นผู้ดำเนินการให้ น. พบ ข. นักธุรกิจใหญ่ จึงเสนอขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้ ข. แต่ด้วยเกรงว่าจะขายที่ดินไม่ได้ จึงใช้อุบายหลอกลวง ข. ว่าในที่ดินอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการก่อสร้างโรงเรือนเพราะไม่มีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ข. จึงตกลงทำสัญญาด้วย เช่นนี้ หาก จ. ได้รู้ หรือควรจะรู้ว่า น. ได้ใช้ หรือจะใช้กลฉ้อฉลเช่นนั้น นิติกรรมย่อมมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159 วรรค 3 ข. มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมได้ แต่หาก จ. มิได้รู้ถึงการใช้กลฉ้อฉลของ น. นิติกรรมย่อมไม่มีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 วรรค 3 ข. ไม่อาจอ้างกลฉ้อฉลนั้นเพื่อบอกล้างโมฆียะกรรม อย่างไรก็ตาม แม้ ข. จะไม่อาจอ้างได้ว่า นิติกรรมตกเป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉลตามมตรา 159 แต่ย่อมอ้างได้ว่าตนทำนิติกรรมลงไปโดยการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมตามาตรา 159
กลฉ้อฉลเกิดจากบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ หรือควรจะได้รู้ถึงกดลฉ้อฉลนั้น ทั้งนี้ กรณีตามาตรา 159 วรรค 3 หมายถึง กรณีที่เป็นนิติกรรม 2 ฝ่าย ถ้าบุคคลภายนอกทำกลฉ้อแลให้แสดงเจตนาทำนิติกรรมฝ่ายเดียว ตกเป็นโมฆียะทันที แม้คู่กรณีอีกฝ่ายจะไม่รู้ หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลก็ตาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 5308/2538 บ. หลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้จำนองของโจทก์มอบอำนาจให้ บ. จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของสามีโจทก์ ที่มีต่อธนาคาร ส. โจทก์หลงเชื่อจึงจดทะเบียนปลดจำนองให้ การปลดจำนองเกิดจากกลฉ้อฉลของ บ. และเนื่องจากการปลดจำนองเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ฉะนั้น แม้จำเลยจะไม่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นก็ย่อมเป็นโมฆียะ โจทก์มีสิทธิบอกล้างเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้
สรุป กลฉ้อฉลคือ การกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวงให้ผิดไปจากความจริง จนเป็นเหตุให้คู่กรณีหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงยอมทำนิติกรรมด้วย ซึ่งหากคู่กรณีมารู้ภายหลัง สามารถมาฟ้องให้นิติกรรมที่ทำลงนั้น เป็นโมฆียะได้
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE