การกู้ยืมเงิน
สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี เป็น สำนักงานทนายความ ทนายความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ครับ ให้บริการปรึกษาคดี วางแผนทางคดี ให้คำแนะนำเบื้องต้นด้านกฎหมาย คดีอาญา คดีแพ่ง คดีครอบครัว คดีที่ดิน คดีก่อสร้าง ฯลฯ สำนักงาน กฎหมาย มีบทความเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับ การกู้ยืมเงิน หลักเกณฑ์จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามกันได้เลยครับ
หลัก การกู้ยืมเงิน และสัญญากู้ยืม
คดีกู้ยืมเงิน เป็นคดีอีกประเภทหนึ่งที่มีการนำคดีขึ้นมาสู่ศาลกันมากมาย ทั้งบุคคธรรมดากู้ยืมกันเอง หรือกู้ยืมกับสถาบันการเงิน ซึ่งโดยรวมของคดีประเภทนี้มีทั้งความยากและความง่ายปะปนกันไป เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับลักษณะยืม จะต้องพัฒนาและต่อยอดไปเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายอื่นด้วย เช่น ค้ำประกัน จำนำ จำนอง พระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินพัฒนาต่อไปแล้ว ฉะนั้นองค์ประกอบในการพิจารณาอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก ถึงลักษณะของสัญญาที่อาจจะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
หลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายของคดีกู้ยืม
1.ลักษณะทั่วไปของการกู้ยืม
1.1 การกู้ยืมเงิน เป็นลักษณะของการยืมใช้สิ้นเปลือง หมายความว่า เป็นสัญญาที่โอนกรรมสิทธิในเงินที่ยืม ให้กับผู้ยืม และผู้ยืม ไม่จำเป็นต้องคืนเงินที่ยืมไป จะนำเงิน หรือธนบัตรใบอื่นมาคืนกับผู้ให้ยืมได้แต่จะต้องคืนในจำนวนเท่ากับที่ยืมหรือตามจำนวนที่คู่สัญญาจะตกลงกัน
1.2 สัญญายืม ย่อมบริบูรณ์เมื่อส่งมอบเงินที่ยืม ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 650 วรรค 2 ที่วางหลักว่า “ย่อมบริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินหรือเงินที่ยืม” ฉะนั้นหากไม่ส่งมอบเงินที่ให้ยืม สัญญาก็ไม่บริบูรณ์ วิธีการส่งมอบไม่จำกัดวิธี จะใช้วิธีใดก็ได้ให้เงินที่ยืมไปอยู่ในการครอบครองของผู้ยืม
1.3 สัญญากู้ยืมเงิน ไม่มีแบบตามที่กฎหมายบังคับ แต่กฎหมายกำหนดเพียงแต่ว่า “มีหลักฐานเป็นหนังสือ” ซึ่งหมายถึง การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท ต้องมีหลักฐานการกู้ โดยมีเนื้อความที่อ่านแล้วเข้าใจว่า เป็นการกู้ยืมกัน ระบุจำนวนเงิน ระบุวันคืนเงิน และลงลายมือชื่อผู้กู้
2. หลักฐานการกู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วางหลักไว้ว่า ” การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ” จากบทบัญญัติมาตรานี้ สามารถอธิบายได้ดังนี้
2.1 การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาท ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ แปลว่า กู้ยืม 2,000 บาทพอดี หรือน้อยกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อฟ้องร้องบังคับคดี หากเป็นจำนวนเงิน 2,001 บาท กฎหมายบอกว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือในการฟ้องร้องบังคับคดีนั่นเอง
2.2 การทำหนังสือสัญญากู้ จะทำขณะใดก็ได้ แต่ต้องมีก่อนฟ้องคดี แปลว่า ขณะยืมเงินกันไปแล้ว จะทำสัญญากู้ยืมย้อนหลังก็ได้ ทำสัญญากู้ในวันเดียวกันกับวันส่งมอบเงินที่กู้ก็ได้
2.3 ในหนังสือสัญญาเงินกู้ ต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้กู้เป็นสำคัญ จะมีการลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ หรือพยานผู้รู้เห็นขณะกู้หรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับมีลยมือชื่อของผู้กู้ปรากฎในสัญญา แต่หากผู้กู้พิมพ์ลายนิ้วมือ หรือทำสัญลักษณ์แทนการลงลายมือชื่อ จะต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย จึงจะถือว่าถูกต้องตามหลักการลงลายมือชื่อเพื่อนำไปฟ้องร้องบังคับคดี
ตัวอย่างไม่ถือว่าเป็นสัญญาเงินกู้
คำพิพากษาฎีกาที่ 14712/2551 เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ไม่จำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แต่เอกสารที่จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจะต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงจะนำสืบพยานบุคคลเพื่อธิบายว่าหนี้ที่ระบุในเอกสารนั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติสัมพันธ์ในเรื่องกู้ยืมเงินได้ เอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้าง มีข้อความเพียงว่า “ได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) ไม่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินและจำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ อันมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือมีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3809/2526 ตอนบนของเอกสารมีชื่อและนามสกุลของจำเลย ถัดไปเป็นรายการลงวันเดือนปีและข้อความว่า “เอาเงิน” กับจำนวนเงินต่างๆ กัน รวม 12 รายการ อีก 5 รายการ มีข้อความว่า “ข้าวสาร” และลงจำนวนไว้ว่า 1 กระสอบบ้าง 1 ถังบ้าง 3 ถังบ้าง และทุกรายการมีชื่อจำเลยลงกำกับเอาไว้ เอกสารดังกล่าวไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
คำพิพากษาฎีกาที่ 408/2532 เอกสาร้ทายฟ้องฉบับแรกมีข้อความว่า “โปรดมอบเงินจำนวน 15,000 บาท ให้กับนายนเรศ ผู้ถือบัตรนี้มาด้วยครับ” และอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่า “ได้รับเงินจากพี่เล้ก 15,000 บาท ” ดังนี้ ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับ ไม่อาจแปลได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
ตัวอย่างถือว่าเป็นสัญญากู้ยืม
คำพิพากษาฎีกาที่ 1567/2499 คำรับสภาพหนี้ในบันทึกคำเปรียบเทียบของอำเภอ ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน แสดงการกู้ยืมเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
คำพิพากษาฎีการที่ 215/2510 จำเลยและภรรยาจดทะเบียนหย่ากันที่อำเภอ และได้ให้ถ้อยคำในบันทึกหลังทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ภรรยาจำเลยได้ยืมเงินจากโจทก์แต่ยังไม่ได้คืน จำเลยและภรรยาได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าบันทึกถูกต้อง ดังนี้ บันทึกหลังทะเบียนหย่าถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 โจทก์นำหลักฐานนั้นมาฟ้องเรียกหนี้อันเกิดจากการกู้ยืมได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3465/2528 หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมิใช่แบบของนิติกรรม ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้ว่าหลักฐานนั้น จะต้องมีในขณะให้กู้ยืม หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีก่อนหรือหลังการกู้ยืมได้ จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ซึ่งจำเลยที่ 1 กู้จากโจทก์ เมื่อหนังสือสัญญาจำนองระบุให้ถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้เงินด้วยและจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินที่กู้จากโจทก์ ดังนี้ หนังสือสัญญาจำนองนั้น ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ
3. เมื่อนำหลักฐานสัญญาเงินกู้ยืม มาอ้างเป็นพยานหลักฐานจะต้องปิดอากรแสตมป์ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 18 วางหลักว่า ” หากไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์แล้ว จะใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้” เมื่อโจทก์ต้องการจะใช้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล สามารถปิดอากรตามจำนวนเงินที่กู้ เงินกู้ยืม 2,000 บาท ติดอากรแสตมป์ 1 บาท เศษของ 2,000 บาทของจำนวนเงินกู้ยืม ให้ติดเพิ่มจำนวน 1 บาท
แต่หากเป็นหลักฐานในรูปแบบอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องติดอากรแสตมป์ เช่น หนังสือรับสภาพหนี้ บันทึกข้อตกลง ข้อความทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ฯ เป็นต้น เหล่านี้มิใช่ตราสารที่จะต้องปิดอากรแสตมป์
3.1 การปิดอากรแสตมป์ จะปิดวันที่ทำสัญญากู้ยืมหรือเมื่อใดก็ได้ แต่อย่างช้าที่สุดต้องก่อนหรือขณะนำสัญญากู้ยืมมาใช้ในชั้นพิจารณาคดี
3.2 เมื่อปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว ต้องขีดฆ่าอากรนั้นเสีย หากไม่ขีดฆ่าเสีย ก็ยังนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้
3.3 กรณีปิดอากรไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จะไม่อาจนำสัญญาเงินกู้มาใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้ และเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลสามารถยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เองโดยที่ไม่จำเป็นที่ต้องมีผู้ใดคัดค้าน
4. ดอกเบี้ยเงินกู้
การกู้ยืมเงิน จะมีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ก็ได้ หากไม่ระบุเอาไว้อาจแปลความได้ว่าคู่สัญญาไม่ติดใจที่จะเรียกดอกเบี้ยในระหว่างกู้ยืม จะมาเรียกในภายหลังไม่ได้ แต่หากตกลงกันเรื่องดอกเบี้ยกันแล้วก็ให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา
4.1 อัตราดอกเบี้ยมีวางหลักไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ” ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี “
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 วางหลักว่า “ถ้าจะเสียดอกเบี้ยให้แก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ ให้ใช้ร้อยละ 3 ต่อปี…” หรือดูได้ที่ บทความเกี่ยวกับ การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายใหม่ คลิ๊กที่นี่
4.2 ในทางอาญา มีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ให้ถือเป็นความผิดอาญา มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่บุคคลทั่วไปคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยมิชอบด้วยกฎหมายอาญาแล้ว ดอกเบี้ยจะตกเป็นโมฆะทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
4.3 การห้ามเรียกเบี้ยเกินอัตรา จะถูกจำกัดเฉพาะเรื่องกู้ยืมเท่านั้น หากเป็นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องกู้ยืมก็สามารถทำได้ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายแต่อย่างใด เช่น การเล่นแชร์ การขายลดเช็ค ขายฝากฃ
สรุป การกู้ยืมเงินจะต้องมีสัญญากู้ยืม หรือหลักฐานการกู้เป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้กู้ เป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แต่หากเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ขาดสาระสำคัญในเอกสารต่างๆ แล้ว ควรเข้าพบหรือปรึกษากับทนายความผู้มีความเชี่ยวชาญต่อไปครับ
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE