การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายใหม่ ที่เพิ่งได้รับการแก้ไข และมีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งอ้างอิงจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564
หากอ่านตามพระราชกฤษฎีกาแล้วสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ จะมีเกี่ยวข้องอยู่ 2 มาตรา นั่นก็คือ มาตรา 7 และมาตรา 224 ต่อมามีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ พ.ศ.2564 ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่ และเพิ่มเติมมาตรา 224/1 เข้าไปอีกหนึ่งมาตรา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 10 เมษายน 2564 ใช้บังคับตั้งแต่ 11 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
เมื่ออ่านทั้งสองมาตราแล้วสรุปได้ว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายใหม่ นั้น
1. ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี” จะเห็นได้ว่า มาตรา 7 วรรคหนึ่งตีความได้ว่า ในการกู้ยืม ถ้าผู้กู้และผู้ให้กู้ตกลงกันว่าต้องเสียดอกเบี้ย แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ว่าเท่าใด ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี
2. ตามมาตรา 7 วรรคสอง ตีความได้ว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยจะตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้กระทรวงการคลังพิจารณาทุกๆ 3 ปี เพื่อให้คิดดอกเบี้ยใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ก็คือพิจารณาเพื่อปรับลดดอกเบี้ยตามกฎหมายทุกๆ 3 ปีนั่นเอง
ข้อสังเกต
2.1 หากคู่สัญญาตกลงเรื่องดอกเบี้ยให้จำกัดไม่เกินที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น คือ ห้ามเรียกเกินร้อยละ 15 ต่อปี เว้นแต่ จะสามารถเรียกได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ให้ไว้ว่าสามารถเรียกได้มากกว่านั้น
2.2 หากคู่สัญญาตกลงกันว่าจะไม่เสียดอกเบี้ยกู้ยืมเลย ข้อตกลงนี้ใช้ได้ จึงไม่อาจนำดอกเบี้ยตามมาตรา 7 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับ
3. มาตรา 224 ” หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดใน อัตราที่กำหนดตามมาตรา 7
บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็คงให้ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง สามารถอธิบายได้ว่า ” อัตราที่กำหนดตามมารตรา 7 คือ อัตราร้อยละ 3 ต่อปี เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ มาตรา 224 ให้บวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (มาจาก 3+2=5 )
เพื่อให้เห็นภาพที่ง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างดังนี้
A ให้ B กู้ยืมเงินไป 1 ล้านบาท ในวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยคู่สัญญาตกลงว่าให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย และยังกำหนดไว้อีกว่า หาก B ผิดนัดชำระหนี้ ยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ครบกำหนดชำระคือวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ปรากฎว่า B ไม่ชำระเงินคืน
A จึงฟ้องศาลให้ B ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายคือร้อยละ 7.5 ต่อปี และเรียกดอกเบี้ยผิดนัดอีกร้อยละ 15 ต่อปี
B ยอมรับว่ากู้เงินจริง แต่ต่อสู้เรื่องดอกเบี้ยว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมายคืออัตราร้อยละ 3 ต่อปี อีกทั้งดอกเบี้ยผิดนัดต้องคิดร้อยละ 5 ต่อปี ไม่ใช่ร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ศาลกำหนดดอกเบี้ยใหม่ตามกฎหมาย ข้อต่อสู้ของ ฟังขึ้นหรือไม่
ประเด็นที่ 1. ข้อต่อสู้ในดอกเบี้ยตามกฎหมายร้อยละ 3 ฟังขึ้น เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่แก้ใหม่ กำหนดว่าหากทำสัญญากู้ยืม แล้วกำหนดดอกเบี้ยเอาไว้ แต่ไม่ได้กำหนดไว้ในอัตราเท่าใด ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และเนื่องจากกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ประกาศให้เริ่มใช้เมื่อ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จึงเริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยนี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ฉะนั้น หากมีการกู้ยืมกันก่อน 11 เมษายน 2564 หรือฟ้องเป็นคดีอยู่ในระหว่างพิจาณาก่อน 11 เมษายน 2564 แล้ว ศาลก็ต้องปรับลดให้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี เพราะเป็นผลของกฎหมาย (ฎีกา 2983/2549)
ประเด็นที่ 2 . ข้อต่อสู้เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดว่าให้ใช้อัตราร้อยละ 5 ต่อปีฟังไม่ขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยผิดนัดตาม 224 เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกันไว้ แต่คู่สัญญาไม่ได้กำหนดอัตราไว้ที่เท่าใด จึงให้ใช้ร้อยละ 5 ต่อปี แต่ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า A และ B กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกันไว้ร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จะใช้อัตราร้อยละ 5 ต่อปีตามมาตรา 224 ไม่ได้
ประเด็นที่ 3. มาตรา 224 ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงของดอกเบี้ยผิดนัด แต่ดอกเบี้ยผิดนัดนี้ ถือเป็นเบี้ยปรับ เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินควร ก็ยอ่มมีดุลพินิจปรับลดได้ตามสมควร (ฎีกา 8820/2561)
กฎหมายที่แก้ไขใหม่เรื่องการคิดดอกเบี้ยนี้ มีผลใช้ได้ถึงเพียงใด
1. เมื่อมีการฟ้องร้องกันมาก่อนแล้ว หากศาลพิพากษาในวันที่ 11 เมษายน 2564 ใช้บังคับแล้ว ศาลจะทำคำพิพากษาปรับลดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี โดยอัตโนมัติ
2. หากคดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์หรือฎีกา หากได้ผ่านพ้นวันที่ 11 เมษายน 2564 แล้ว ศาลจะต้องพิพากษาเรื่องดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่ จะใช้ดอกเบี้ยตามกฎหมายเดิมไม่ได้แล้ว
3. หากคดีอยู่ในชั้นบังคับ ก็ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลืออัตราร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าจะบังคับคดีจนแล้วเสร็จ
4. มีข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในบังคับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี คือ มีข้อตกลงในสัญญาระบุชัดเจนว่าหากผิดนัดสามารถเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่สูงขึ้น ก็คงให้เป็นไปตามสัญญานั้น
สรุป จากแนวทางของ การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายใหม่ เป็นไปตามพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 คือกำหนดเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้เงิน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE