การจัดการสินสมรส

https://pantip.com/topic/39145815

การจัดการสินสมรส
มาตรา 1476 กำหนดหลักการว่า สามีหรือภริยาฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในการจัดการสินสมรสได้โดยลำพัง เว้นแต่การจัดการที่สำคัญเท่านั้น ที่สามีและภริยาสจะต้องจัดการร่วมกันทั้งสองคน เช่น สามีโดยลำพังมีอำนาจนำเงินสินสมรสไปใช้จ่ายซื้อหาสิ่งของใดๆ ได้ ไม่ว่าจะนำไปซื้อที่ดิน หุ้น รถยนต์ หรือเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ หรือภริยาโดยลำพัง มีอำนาจเอาที่ดินสินสมรสไปให้บุคคลภายนอกเช่า เป็นเวลา 3 ปีได้

การจัดการสินสมรสที่สำคัญ ซึ่งสามีและภริยาจะต้องจัดกาสรร่วมกัน มี 8 ประการ ต่อไปนี้

          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

          สินสมรสในข้อนี้ จำกัดแต่เฉพาะ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะจำนองได้ เช่น เรือ แพ สัตว์พาหนะ เครื่องจักรในโรงงาน และรถยนต์ ซึ่ง พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉบับที่ 15 ) พ.ศ. 2551 กำหนดให้เป็นทรัพย์สินที่จำนองได้ ฯลฯ

          สังหาริมทรัพย์อื่นโดยทั่วไป เช่น รถจักรยานยนต์ ใบหุ้น ฯลฯ ไม่อยู่ในบังคับ เช่น สามีขายบ้านหรือรถยนต์สินสมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากภริยาด้วย แต่ถ้าภริยาขายรถจักรยานยนต์ สินสมรสสามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสาม่ี มีข้อน่าาสังเกตว่าการนำสินสมรสที่เป็นเงินตราไปซื้อ หรือเช่าซื้อทรัพย์สินใด แม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ตามไม่ต้องห้าม สามีหรือภริยาแต่ลำพังเพียงคนเดียว มีอำนาจจัดการได้ แต่ถ้าสามีนำเงินสินสมรสไปซื้อบ้าน และที่ดินให้บุคคลอื่น ภริยาซึ่งเป็นเจ้าของเงินสินสมรส มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ สามีและบุคลลอื่นมีหน้าที่ต้องร่วมกันคืนเงินสินสมรส พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ภริยา

          คำพิพากษาฎีกาที่ 6889/2540 จำนองที่ดินสินสมรส สามีภริยาต้องทำร่วมกัน แต่ถ้ายังไม่เพิกถอนการจำนอง ก็ยังใช้บังคับได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 10633/2551 ภริยาขายฝากที่ดินสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี สามีฟ้องเพิกถอนได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 899/2556 สามีขายสิทธิครอบครองในที่ดินสินสมรส โดยภริยาไม่ยินยอม ผู้ซื้อก็ทราบว่าสามีมีภริยาแล้ว ภริยาจึงมีสิทธิฟ้องเพิกถอนการขายและการโอนสิทธิครอบครองที่ดินได้

          (2) ก่อตั้ง หรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

          ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ไม่ว่าจะเป็นภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้น หากจะได้มาหรือทำให้ระงับสิ้นไป จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีและภริยาทั้งสองคน

          (3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

          ในข้อนี้ จำกัดแต่เฉพาะการเอาสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ไปให้เช่าเกินสามปีเท่านั้น ที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกัน ถ้าหากเป็นการให้เช่าสินสมรสที่เป็นสังหาริมทรัพย์แล้ว แม้จะเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษก็ตาม สามีหรือภริยาก็มีอำนาจจัดการได้โดยลำพัง เช่น ภริยาเอาม้า หรือรถยนต์สินสมรสไปให้เช่าเป็นเวลา 5 ปี สามารถทำได้โดยลำพัง เช่น ภริยาเอาม้าพาหนะ หรือรถยนต์สินสมรสไปให้เช่า 5 ปี สามารถทำได้โดยลำพัง หรือถ้าเอาสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ไปให้เช่าไม่เกิน 3 ปี สามารถทำได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย

          หากสามีหรือภริยาทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสเกิน 3 ปี เช่น เอาที่ดินสินสมรสไปให้เช่า 5 ปี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย สัญญาเช่าที่ดินสินสมรสดังกล่าวไม่สมบูรณ์ทั้ง 5 ปี มิใช่ไม่สมบูรณ์เฉพาะ 2 ปี ในส่วนที่เกินอำนาจ เพราะมาตรา 1476 นี้ กำหนดหลักการไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ หากฝ่าฝืนสามีหรือภริยา ที่ไม่ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนหรือให้สัตยาบันได้ ซึ่งหากสัตยาบันก็ต้องให้สัตยาบันทั้ง 5 ปี หากจะเพิกถอนก็ต้องเพิกถอนทั้ง 5 ปี อย่างไรก็ดีสินสมรสที่เป็นเพียงสิทธิการเช่าที่ดินหรือบ้านนั้น การโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นไม่ใช่เป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ แม้สิทธิการเช่าดังกล่าวจะกินระยะเวลาเกิน 3 ปี สาสมีหรือภริยาก็มีอำนาจจัดการได้โดยลำพัง เช่น สามีทำสัญญาเช่าที่ดินจากนาย ก. 30 ปี หลังจากเช่าได้ 5 ปี สามีโอนสิทธิการเช่าที่ดินที่ยังเหลืออยู่ 25 ปีนี้ ให้แก่นายแดงโดยภริยามิได้ยินยอม เช่นนี้ สามีมีอำนาจจัดการได้โดยลำพัง ภริยาจะขอให้ศาลเพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าที่ดินไม่ได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 12772/2555 สิทธิการเช่าที่ดิน ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ สามีจัดการได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา

https://pantip.com/topic/39034695

          (4) ให้กู้ยืมเงิน กฎหมายบังคับให้สามีและภริยาจะต้องให้ความยินยอมทั้งสองคน ในการให้กู้ยืมเงินสินสมรสนี้ ไม่ว่าเงินสินสมรสนั้น จะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดสำหรับการไปยืมเงินบุคคลอื่นนั้น มิใช่เป็นการจัดการสินสมรส สามีหรือภริยาจึงมีอำนาจกู้ยืมเงินบุคคลอื่นโดยลำพัง

          คำพิพากษาฎีกาที่ 6193/2551 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1476(4) มุ่งหมายให้การกู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในการจัดการสินสมรส ส่วนการกู้ยืมเงินมิใช่การให้กู้ยืมเงิน กรณีจึงหาต้องด้วยมาตรา 1476 ไม่

          (5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา การนำสินสมรสไปให้บุคคลใดโดยเสน่หา มีผลทำให้ต้องเสียกรรมสิทธิในสินสมรสนั้นไป จึงจำเป็นที่จะต้องให้สามีและภริยาทั้งสองคนได้ยินยอมด้วยกัน เช่น สามีเอาที่ดินไปยกให้แก่นาย ก. ภริยาจะต้องให้ความยินยอมด้วย หรือภริยาเอาเงินสินสมรส 50,000 บาท ไปให้บุคคบลอื่น เช่นนี้ สามีจะต้องให้ความยินยอมด้วย กฎหมายมีข้อยกเว้นว่า หากการนำสินสมรสไปให้บุคคลภายนอกนั้น เป็นการให้พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว และเป็นเพื่อการกุศลหรือเพื่อสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา สามีหรือภริยาโดยลำพังมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

          การให้เพื่อการกุศล หมายถึง การให้เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคล หรือองค์การที่มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการค้ากำไร เช่น การให้ทรัพย์สินแก่มูลนิธิ คนชรา คนเจ็บป่วย คนยากจน เด็กกำพร้า ทหารที่บาดเจ็บหรือพิการ วัด และไม่จำเป็นต้องเป็นการกุศลสาธารณะ

          การให้เพื่อสังคม หมายถึง การให้ตามหน้าที่ในสังคมที่มนุษย์เราจำเป็นต้องติดต่อสัมพันธ์กับบุคลอื่นๆ อันเป็นธรรมประเพณีว่าควรจะต้องมีการให้ทรัพย์สินแก่กัน เช่น การให้ของขวัญวันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ วันขึ้นบ้านใหม่แก่เพื่อนฝูง

          การให้แก่หน้าที่ธรรมจรรยา หมายถึงการให้ซึ่งผู้ให้ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้ แต่มีหน้าที่ทางศีลธรรมจรรยาอันเป็นความรู้วสึกทางจิตใจที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับ เช่น การให้ทรัพย์สินแก่บุตร หรือญาติสนิทผู้มีอุปการะคุณ

          การให้เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยานี้ จะต้องเป็นการให้ตามสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวด้วย สามีหรือภริยาเพียงฝ่ายเดียวจึงจะมีอำนาจจัดการได้โดยลำพัง มิฉะนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

          คำพิพากษาฎีกาที่ 4433/2536 การที่ ง. ยกที่ดินสินสมรสให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรหลานโดยเสน่หา มิใช่การให้เพื่อการสมควรในทางศีลธรรมอันดี ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยา เมื่อไม่ได้รับความยินยอมแก่โจทก์ การให้ดังกล่าวจึงไม่ผูกพันธ์โจทก์ โจทก์ย่อมฟ้องเรียกที่ดินอันเป็นสินสมรสส่วนของตนคืนได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 10451/2558 สามี มี ทรัพย์สินราคาเป็นหมื่นล้าน สามียกที่ดิน 3 แปลงราคาเล็กน้อยให้แก่บุตรที่เกิดจากภริยาคนก่อน เป็นการให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานะนุรูปของครอบครัว แม้ภริยาไม่ยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนไม่ได้

          (6) ประนีประนอมยอมความ การที่สามีหรือภริยาจะไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เช่น รถยนต์ที่เป็นสินสมรสถูกชนเสียหาย ผู้ทำละเมิดเสนอที่จะชดใช้ค่าเสียหาย เช่นนี้ ทั้งสามีและภริยาจะต้องตกลงยินยอมด้วยกันทั้งสองคนจึงจะสมบูรณ์

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1921/2520 ภริยาถูกกระทำละเมิดต่อร่างกาย สามีทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิด โดยภริยาไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วย สัญญานี้ไม่มีผลผูกพันภริยา สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของภริยาหาได้ระงับไป

          คำพิพากษาฎีกาที่ 6870/2556 สามีทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้กับภริยาน้อย ให้ภริยาน้อยไป เป็นการประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรส เมื่อภริยาไม่ยินยอม ภริยาเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตามมาตรา 1480

          (7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย อนุญาโตตุลาการ คือ บุคคลที่คู่กรณีเสนอข้อพิพาททางแพ่งให้เป็นผู้ชี้ขาด หากจะมอบข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสินสมรสให้อนุญาโตดตุลาการวินิจฉัยจึงจำเป็นทั้งที่สามีและภริยาจะต้องให้ความยินยอมด้วยทั้งสอง สามีหรือภริยาฝ่ายเดียวจะดำเนินการโดยลำพังไม่ได้

          (8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล การเอาสินสมรสไปประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา เอาไปเป็นหลักประกันในคดีแพ่งก็ดี จำเป็นที่สามีและภริยาต้องให้ความยินยอมในการนี้ด้วยกันทั้งคู่ การประกันหรือหลักประกันนี้ ไม่จำกัดแต่เฉพาะกระทำกันในศาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประกันชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานอัยการด้วย แต่ไม่รวมถึงการค้ำประกันต่อหน่วยงานเอกชน เช่น การค้ำประกันต่อธนาคารในการสมัครเข้าทำงานด้วย ซึ่งสามีภริยาโดยลำพังมีอำนาจจัดการได้ สำหรับการประกันด้วยบุคคล แม้เป็นการประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล สามีหรือภริยาก็มีอำนาจจัดการได้โดยลำพัง

สรุป การจัดการสินสมรส มีระบุไว้ตามมาตรา 1476 (1) – (8) ที่กฎหมายกำหนดให้สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน หากการจัดการสินสมรส อย่างอื่นๆนอกจาก 8 ประการตามที่กล่าวมานี้ สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการได้โดยลำพัง สามีหรือภริยาจะตกลงกันเอาเองในระหว่างสมรส เพื่อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามหลักทั้ง 8 ประการนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 1476/1 หากสามีภริยาประสงค์ที่จะให้มีการยกเว้นดังกล่าว จะต้องกระทำโดยมีสัญญาก่อนสมรส ตามมาตรา 1465 และมาตรา 1466 เท่านั้น

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE