การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย

https://pantip.com/topic/38465253

การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย

การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยซึ่งเป็นคำศัพท์เทคนิคทางกฎหมาย ถ้าแปลตรงตัวคือ ฝ่ายลูกหนี้ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้เลย เนื่องจากมีเหตุหนึ่งเหตุใดทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นการถาวร ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ซึ่งหมายถึง เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้น จะให้ผลพิบัติ ที่เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย

การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เกิดได้หลายสาเหตุ ซึ่งเราอาจแบ่งออกได้จากสาเหตุหลักๆเป็น
1. การกระทำของธรรมชาติ เช่น ฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว
2. การกระทำของมนุษย์ เป็นการกระทำของลูกหนี้ , เจ้าหนี้ หรือการกระทำของบุคคลภายนอกก็ได้
3. กฎหมายห้าม บางครั้งการชำระหนี้บางอย่าง อาจมีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้กระทำการหรือห้ามโอนทรัพย์สิน ดังนั้น หากเป็นกรณีที่กฎหมายห้ามกระทำการดังกล่าว การชำระหนี้จึงกลายเป็นพ้นวิสัยไปด้วย

ผลของการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย

     ผลของการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่สำคัญก็คือ ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น และการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยเกิดจากเหตุที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบแม้ลูกหนี้ไม่ต้องชำระหนี้นั้น แต่ลูกหนี้ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าหนี้ เท่ากับเป็นการก่อให้เกิดความผูกพันตามบทบัญญัติ ของมาตรา 218 ที่จะต้องรับผิดขึ้นมาใหม่ต่างหาก จากการชำระหนี้เดิมแม้จะมิใช่เป็นการไม่ชำระหนี้ก็ตาม แต่มาตรา 218 ก็ถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้นั้น

ผลของการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแบ่งออกเป็น 4 กรณี คือ

1. กรณีที่เกิดจากพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 บัญญัติว่า “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะ พฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ เพื่อค่าเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
     ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้น จะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้บางส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นแล้ว และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้”

     คำว่า ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ ตามบทบัญญัติดังกล่าวคือ ลูกหนี้เป็นผู้กระทำผิด ซึ่งอาจเนื่องมาจากลูกหนี้กระทำโดยจงใจ ประมาทเลินเล่อ รวมทั้งประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดระดับของความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์ของเจ้าหนี้ไว้ ถ้าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงระดับนั้น นอกจากนี้ยังรวมถึงบุคคลภายนอกเป็นผู้ผิด แต่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในการกระทำของบุคคลนั้นด้วย คำว่า “ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ” จึงกว้างกว่าคำว่าโทษลูกหนี้ได้ตามมาตรา 370

     ตามปกติเมื่อ การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้นั้นจึงไม่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น และการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยนั้นเกิดจากพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ เพื่อค่าเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้นั้น ตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อสำคัญจะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยพิจารณาตามมูลหนี้นั้น ถ้าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นลูกหนี้ก็ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

     กรณีตามมาตรา 218 อาจเกิดขึ้นก่อนที่ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด หรือภายหลังจากที่ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดแล้วก็ได้ ถ้าเกิดขึ้นภายหลังจากที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของจำนวนค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ตามมาตรา 224 ด้วย และถ้าเป็นหนี้ส่งมอบทรัพย์ก็ต้องคิดดอกเบี้ย ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาตามมาตรา 225

     ในกรณีที่การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยเพียงบางส่วน อันเกิดจากพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ หากปรากฏว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้ เป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้นั้นได้ทั้งหมดตามมาตรา 218 วรรคสาม แต่ถ้าสามารถแยกได้ว่า ส่วนที่อยู่ในวิสัยที่จะชำระหนี้ได้นั้น ยังเป็นประโยชน์อยู่ เจ้าหนี้จะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ส่วนนี้ และเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดไม่ได้ แม้จะเป็นการชำระหนี้บางส่วนก็ตาม เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ ตามมาตรา 320 เพราะเป็นเรื่องที่มาตรา 218 วรรคสอง บัญญัติไว้โดยเฉพาะ มิฉะนั้นมาตรา 218 วรรคสองย่อมไร้ผล

2. กรณีที่เกิดจากพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 บัญญัติว่า “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
     ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่า เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น”

     ตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่ การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย ที่เกิดจากพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ แม้เจ้าหนี้จะได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็ต้องรับความเสียหายไว้แต่เพียงผู้เดียว จะเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ไม่ได้ และแม้เป็นเหตุที่เกิดจากสัญญาและไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญา ก็ไม่อาจบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายโดยอ้างสิทธิตามสัญญานั้นได้ เนื่องจากสัญญาไม่มีผลบังคับตามกฏหมายย่อมระงับไปแล้ว

     พฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนี้ อาจเกิดจากการกระทำของลูกหนี้แต่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ เช่น ลูกหนี้ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ รวมทั้งการกระทำของเจ้าหนี้หรือเกิดจากภัยธรรมชาติก็ได้

     ในกรณีที่ภายหลังก่อหนี้ขึ้นแล้ว ลูกหนี้กลายเป็นคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ มาตรา 219 วรรคสอง ให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน

     การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยตาม มาตรา 219 อาจเป็นการพ้นวิสัยทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้ สำหรับกรณีที่เป็นการพ้นวิสัยบางส่วน หากส่วนที่ไม่พ้นวิสัยยังเป็นประโยชน์อยู่ เจ้าหนี้ก็ต้องรับไว้ และการชำระหนี้ตอบแทนตามส่วน แต่ถ้าส่วนที่ชำระหนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ย่อมปฏิเสธไม่รับชำระหนี้นั้นได้ ตามมาตรา 321 ทั้งลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ไปตามมาตรา 219 วรรคหนึ่งแล้ว และไม่อาจถือได้ว่า ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 215 ไม่ได้

     สำหรับสัญญาต่างตอบแทนที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและกัน เมื่อการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยที่เกิดจากพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ไปแล้ว ลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ ถ้ามีการชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าก็ต้องคืน เพราะไม่มีสิทธิรับไว้ตามมาตรา 372 วรรคหนึ่ง

3. กรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยภายหลังที่ลูกหนี้ผิดนัด

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 217 บัญญัติว่า “ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในความเสียหาย บรรดาที่เกิดแต่ความประมาทเลินเล่อในระหว่างเวลาที่ตนผิดนัด ทั้งจะต้องรับผิดชอบในการที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ผิดนัดนั้นด้วย เว้นแต่ความเสียหายนั้น ถึงแม้ว่าตนจะได้ชำระหนี้ทันเวลากำหนดก็คงจะต้องเกิดมีอยู่นั่นเอง”

  • การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย อาจเกิดก่อนผิดนัดหรือหลังผิดนัดก็ได้ ถ้าเกิดขึ้นภายหลังผิดนัด ต้องบังคับตามมาตรา 217

     การที่ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ย่อมถือว่าลูกหนี้เป็นผู้ผิดโดยสภาพ ดังนั้น เมื่อภายหลังลูกหนี้ผิดนัดนั้น การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ลูกหนี้ก็ต้องรับผิดเสมอ แม้จะเกิดจากเหตุอะไรก็ตาม

     สำหรับกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ ตามมาตรา 219 นั้น ถ้าเกิดขึ้นภายหลังจากลูกหนี้ผิดนัด ลูกหนี้ก็ต้องรับผิดอยู่ตามมาตรา 217 เนื่องจากมาตรา 217 ให้ลูกหนี้รับผิดในทุกกรณี

4. ผลของการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยเกี่ยวกับความผิดของตัวแทน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 220 บัญญัติว่า “ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตน กับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้น โดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเอง ฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 373 หาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่”

     ตามบทบัญญัติดังกล่าว ใช้บังคับเมื่อต้องวินิจฉัยถึงการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย ว่าเกิดจากเหตุที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ตามมาตรา 217 ถึง มาตรา 219 ในกรณีมีตัวแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้ตั้งตัวแทนในการดำเนินกิจการ หรือลูกหนี้ใช้บุคคลอื่นในการชำระหนี้ จะต้องพิจารณาความผิดของบุคคลดังกล่าวเสมอ กับว่าเป็นความผิดของลูกหนี้ เว้นแต่เจ้าหนี้กับลูกหนี้จะตกลงกันยกเว้นไว้ว่า ไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดของบุคคลนั้น และไม่ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะบทบัญญัติความเป็นโมฆะตามมาตรา 373 ไม่นำมาใช้บังคับแก่กรณีนี้

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อที่ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE