การตั้งผู้จัดการมรดก ผู้มีสิทธิรับมรดก และส่วนแบ่งมรดก
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมรดกเสียก่อนว่าคืออะไร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ได้ให้คำจำกัดความของมรดก ว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ เราสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า “มรดกจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนตาย หากเป็นทรัพย์สินที่เกิดหลังตาย ไม่ใช่มรดก” มรดกจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเจ้าของทรัพย์สินนั้นตาย หากไม่มีการทำพินัยกรรมไว้เป็นอย่างอื่น จะต้องแบ่งมรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น ถ้าผู้ตายมีคู่สมรสก็ต้องนำทรัพย์สินมาแบ่งให้คู่สมรสด้วย การสมรสในที่นี้คือการจดทะเบียนสมรสเท่านั้น
ดังนั้นการพิจารณาว่ามรดกคืออะไร มีข้อพิจารณาดังนี้ คือ
ทรัพย์สิน , สิทธิ , หน้าที่และความรับผิด เป็นของผู้ตายในขณะถึงแก่ความตาย หรือผู้ตายมีสิทธิที่จะได้รับอยู่แล้วก่อนถึงแก่ความตาย
– ทรัพย์สิน คือ ทรัพย์สินตามความหมายที่ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 ยังรวมถึง วัตถุมีรูปร่าง และมาตรา 138 รวมถึงทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้
– สิทธิ หมายถึง สิทธิเรียกร้องให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ปฏิบัติตามสัญญา หรือตามที่กฎหมายให้อำนาจ
– หน้าที่และความรับผิด หมายถึง ภาระและความผูกพันที่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องกระทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๓ บัญญัติว่า “กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท โดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม
ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”
ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”
1. ทายาทโดยธรรม ได้แก่ บุคคลที่ได้รับมรดกโดยผลตามกฎหมาย ที่กฎหมายกำหนดไว้โดยตรงว่าเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกหากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซึ่งตามมาตรา 1629 ได้กำหนดทายาทโดยธรรมมีทั้งหมด 6 ลำดับ รวมถึงคู่สมรสด้วย
2. ผู้รับพินัยกรรม เป็นกรณีที่เจ้ามรดกกำหนดไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดก ซึ่งอาจจะเป็นทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับ หรือเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้
การตั้งผู้จัดการมรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกนั้น รวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล”
ฉะนั้น ผู้จัดการมรดกมีได้ 2 ทาง คือ
1. การตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1712 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจะตั้งขึ้นได้”
(1)โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง
(2) โดยบุคคลที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
2. การตั้งผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 บัญญัติว่า ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรม ซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ
สิทธิและหน้าที่ผู้จัดการมรดก
1. ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ในการกระทำการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามพินัยกรรม และเพื่อในการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกระทำการอันจำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งทรัพย์มรดก
ตามที่ มาตรา 1719 ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ซึ่งให้อำนาจแก่ผู้จัดการมรดก กระทำการใดๆได้ทุกอย่างเพื่อให้จัดการมรดกสำเร็จลุล่วงไป เช่น มีสิทธิฟ้องรียกร้องตามสิทธิที่เจ้ามรดกมีอยู่ หรือเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ทายาทครอบครองอยู่ เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทอื่น หรือจัดให้เป็นไปตามพินัยกรรมของผู้ตายได้ และการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกดังกล่าวนี้ ผู้จัดการมรดกสามารถดำเนินได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบหรือความยินยอมจากทายาทอื่น เพราะถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทอยู่แล้ว
2. ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทเสมือนตัวการ ซึ่งรับผิดต่อตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาท ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812 ,819 , 823 แห่งประมวลกฎหมายนี้โดยอนุโลม และเมื่อเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ใช้มาตรา 831 บังคับโดยอนุโลม
เมื่อวิเคราะห์ มาตรา 1720 จะเห็นได้ว่า ผู้จัดการมรดกเปรียบเสมือนผู้แทนตามกฎหมายของทายาททุกคน มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะจัดการเกี่ยวกับกองมรดกแทนทายาททุกคน เมื่อมีการจัดการมรดก จึงเปรียบเสมือนตัวแทน ทำการแทนทายาทที่เป็นตัวการมาตรา 1720 จึงให้นำบทบัญญัติเรื่องของตัวการ ตัวแทน บางมาตรามาใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ทายาทจะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกของผู้จัดการมรดกอยู่ในขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำตามหน้าที่ ตามมาตรา 1727 ด้วย
3. ผู้จัดการมรดก มีหน้าที่จะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณย์ มาตรา 1728 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกต้องลงลายมือจัดทำบัญชี ทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน
(1) นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการแต่งตั้งตามพินัยกรรมที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
(2) นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1716 ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก หรือ
(3) นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น
และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมรดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน ศาลจะอนุญาตให้ขยายต่อไปอีกก็ได้”
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE