การตีความพินัยกรรม ตอนที่ 1
สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี เป็น สำนักงานทนายความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ให้บริการปรึกษาคดี วางแผนทางคดี ให้คำแนะนำเบื้องต้นด้านกฎหมาย คดีอาญา คดีแพ่ง คดีครอบครัว คดีที่ดิน คดีก่อสร้าง ฯลฯ วันนี้มีบทความเกี่ยวกับ การตีความพินัยกรรม สำนักงาน กฎหมาย จะขอแบ่งออกเป็น 2 ตอน วันนี้เรามาเริ่มตอนที่ 1 กันเลยครับ ว่าหลักเกณฑ์การตีความพินัยกรรม เป็นอย่างไร
พินัยกรรม เป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สินและการต่างๆ ให้มีผลเมื่อตาย และผู้ทำพินัยกรรมอาจเขียนด้วยตนเอง โดยไม่เปิดเผยข้อมูลให้ผู้อื่นรู้ก็ได้ ดังนั้นอาจเกิดปัญหาว่า พินัยกรรมให้ชัดเจน อ่านแล้วไม่อาจแปลความเพื่อจัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมนั้นได้ มาตรา 1684 จึงบัญญัติไว้ว่า เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้หลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด ในกรณีตามมาตรา 1684 นี้ หมายถึงข้อความในพินัยกรรมที่ตีความได้หลายนัยยะนั้น นัยยะเหล่านั้นต่างก็มีผลทั้งสิ้น จึงถือเอานัยที่น่าจะตรงตามความประสงค์ของผู้พินัยกรรมมากที่สุด อันเป็นการแสดงความเคารพต่อเจตนาอันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นมาก่อนที่จะถึงแก่ความตาย กรณีตามมาตรา 1684 นี้ ต่างจากมาตรา 10 ที่บัญญัติเป็นหลักทั่วไปว่า เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสาร อาจตีความได้สองนัย นัยยะไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ก็ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่า ที่จะถือเอาตามนัยที่ไร้ผล ซึ่งเป็นกรณีที่มีนัยที่บังคับได้กับนัยที่ไร้ผล จึงให้ถือเอานัยยะที่บังคับได้ เช่น พินัยกรรมเขียนว่ายกทรัพย์ให้หลานทุกคน เมื่อเจ้ามรดกไม่มีบุตร คำว่า หลาน ย่อมหมายถึงบุตรทุกคนของพี่น้องทุกคน ของเจ้ามรดกซึ่งเรียกว่า หลาน เหมือนกัน
นอกจากนี้ในพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินให้บุคคลที่ไม่ได้ระบุชื่อ เพียงแต่ระบุคุณสมบัติที่ทราบตัวแน่นอนได้ไว้ ถ้ามีบุคคลหลายคนต่างมีคุณสมบัติเช่นที่ระบุไว้ ในกรณีที่มีข้อสงสัยมาตรา 1685 ให้ถือว่าทุกคนมีสิทธิได้รับส่วนเท่าๆกัน เช่น พินัยกรรมเขียนว่า ยกเงินฝากในธนาคารให้บุตรสะใภ้ของข้าพเจ้า เช่นนี้ หากเจ้ามรดกมีบุตรชาย 3 คน ทุกคนมีภรรยา ภรรยาของทั้งสามคนย่อมเป็นบุตรสะใภ้ของเจ้ามรดก แต่มีข้อสังเกตว่า หากพินัยกรรมกำหนดบุคคลที่ไม่อาจทราบตัวได้แน่นอนเป็นผู้รับพินัยกรรม ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1706 (2) เช่น ทำพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินให้นักศึกษา เช่นนี้ ไม่อาจระบุตัวบุคคลได้ ข้อกำหนดดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ
การเพิกถอนพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม
เมื่อทำพินัยกรรมถูกต้องสมบูรณ์แล้ว หากผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียบางส่วนหรือทั้งหมด ก็ย่อมทำได้ ไม่ว่าเวลาใด เพราะพินัยกรรมนั้น ยังไม่มีผลจนกว่าผู้ทำพินัยกรรมจะถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1693 แต่การเพิกถอนพินัยกรรมนั้น จะทำได้ก็โดยวิธีที่ กฎหมายกำหนด ไว้เท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 1157 / 2511 ตามมาตรา 1693 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้ หมายความว่า ถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่พอใจในพินัยกรรมที่ตนทำไว้ ย่อมแสดงเจตนาเพิกถอนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ในเวลาใดก็ได้ ก่อนผู้ทำพินัยกรรมตาย แต่วิธีการเพิกถอน ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 1694 ถึง 1697 กฎหมายไม่ได้แยกมาตรา 1693 เป็นเอกเทศ
การที่ผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอขอถอนพินัยกรรม โดยมิได้ร้องขอทำลาย หรือขีดฆ่าพินัยกรรม และนายอำเภอก็เพียงแต่สั่งให้รวมคำร้องเก็บไว้ในเรื่อง ไม่ถือว่าได้มีการทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมแต่ประการใด พินัยกรรมจึงยังมีผลใช้บังคับได้อยู่
คำพิพากษาฎีกาที่ 6981 / 2545 การเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือบางส่วน โดยผู้ทำพินัยกรรมนั้น กฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 4 กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1694 ถึง 1697 คือ ทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ การโอนหรือการทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ และการทำพินัยกรรมฉบับหลัง มีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อน การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองเอกสาร แม้จะมีเจตนาเพื่อเพิกถอนหรือไม่รับรองพินัยกรรมที่ทำไว้แล้ว แต่เมื่อหนังสือยืนยันรับรองนั้นไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมแล้ว ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมที่ทำไว้แต่อย่างใด
จากคำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับนี้ ประกอบมาตรา 1694 ถึง 1697 สรุปได้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะสามารถเพิกถอนพินัยกรรมของตนเองได้เสมอ ไม่ว่าจะเพิกถอนทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่วิธีการเพิกถอนพินัยกรรมย่อมต้องทำโดยที่วิธีกฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งมี 4 วิธีคือ
1. ด้วยการทำพินัยกรรมฉบับหลังมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
มาตรา 1694 กำหนดว่า ถ้าจะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยพินัยกรรมฉบับหลัง การเพิกถอนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อพินัยกรรมฉบับหลัง ได้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้
การเพิกถอนพินัยกรรมโดยวิธีนี้ สามารถทำได้โดยทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นมา โดยมีข้อความระบุว่า ขอเพิกถอนพินัยกรรมฉบับเดิม และพินัยกรรมที่ทำฉบับหลังนี้ ต้องทำถูกตามแบบที่กฎหมายกำหนดด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกันกับฉบับเดิม เช่น เดิมทำพินัยกรรมแบบธรรมดา ฉบับหลังอาจทำเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้
การเพิกถอนพินัยกรรมด้วยวาจาไม่มีผล และแม้จะทำเป็นหนังสือหากไม่ถูกต้องตามแบบพินัยกรรมแบบใดแบบหนึ่ง ก็ไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับเดิม กล่าวคือ ต้องทำพินัยกรรมฉบับใหม่ระบุขอเพิกถอนพินัยกรรมฉบับเดิมนั่นเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 349 / 2493 นายอำเภอบันทึกถ้อยคำเจ้ามรดกต่อหน้า ผู้ซึ่งนั่งลงชื่อเป็นพยาน 2 คน เจ้ามรดกให้ถ้อยคำขอถอนพินัยกรรมฉบับเดิม และแบ่งทรัพย์ให้ลูกหลานใหม่ แล้วลงลายมือชื่อต่อหน้า ผู้นั่งที่ลงชื่อเป็นพยานและบันทึกนั้นลงวันเดือนปีไว้ด้วย ดังนี้ถือว่าบันทึกนั้นเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา และมีผลลบล้างพินัยกรรมฉบับเก่าซึ่งเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
คำพิพากษาฎีกาที่ 2797 / 2517 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง เก็บต้นฉบับไว้ที่ว่าการอำเภอ และให้คนอื่นเก็บคู่ฉบับไว้ ต่อมาเจ้ามรดกขอต้นฉบับพินัยกรรมมาเก็บไว้เอง แล้วร่างพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นเป็นตัวพิมพ์ แต่ยังไม่ได้ลงชื่อเจ้ามรดกและพยาน ดังนี้ แม้จะฟังว่าเจ้ามรดกมีเจตนาทำพินัยกรรมใหม่ แต่เมื่อฉบับใหม่ยังมีรายการไม่ครบถ้วน ย่อมเป็นโมฆะ และไม่เป็นพินัยกรรมฉบับหลัง ที่จะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับเอกสารฝ่ายเมืองตามมาตรา 1705 , 1656 , 1694 , และเมื่อเจ้ามรดกได้พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองคืนมาแล้วเจ้ามรดกก็ไม่ได้ทำการใดเป็นการทำลายหรือขีดฆ่าต้นฉบับ จับคู่ฉบับพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองอาจจะมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามมาตรา 1695 พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองจึงยังมีผลบังคับอยู่
คำพิพากษาฎีกาที่ 372 / 2509 สามีไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ภรรยาทั้งหมด ต่อมาสามีภรรยานั้นได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์กัน โดยสามีได้บางส่วน ภรรยาได้บางส่วน หนังสือแบ่งทรัพย์นั้นย่อมไม่เพิกถอนพินัยกรรม เพราะ พินัยกรรมจะเพิกถอนได้ก็ด้วยพินัยกรรมฉบับหลังหรือทำลายหรือขีดฆ่า ด้วยความตั้งใจ เมื่อทรัพย์ที่แบ่งกลับมาเป็นของสามีตามสัญญาแบ่งทรัพย์ ก็ย่อมตกได้แก่ภริยาตามพินัยกรรมที่ยังสมบูรณ์อยู่
2.ด้วยการทำลายหรือขีดฆ่า พินัยกรรมด้วยความตั้งใจ
มาตรา 1695 บัญญัติว่า ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นตอนฉบับแต่ฉบับเดียว ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมนั้นได้ทั้งหมด หรือบางส่วนได้โดยทำลายหรือขีดฆ่าด้วยความตั้งใจ
- ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับหลายฉบับ การเพิกถอนนั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่ จะได้กระทำแก่ต้นฉบับนั้นทุกฉบับ
- การทำลายหมายถึงการทำให้บุบสลายจนใช้ไม่ได้ หรือทำให้สูญหายไป เช่น ฉีกทิ้ง
- การขีดฆ่า หมายถึงการกระทำต่อข้อความในพินัยกรรม ซึ่งรวมถึงการขูดลบ
ทั้งการทำลายและการขีดฆ่าจะมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมต่อเมื่อ ผู้ทำพินัยกรรมทำลายหรือขีดฆ่าด้วยความตั้งใจที่จะเพิกถอนเท่านั้น ถ้าไม่ได้ตั้งใจ เช่น บ้านถูกน้ำท่วมจนเอกสารสูญหายหรือเปื่อยยุ่ย พินัยกรรมนั้นยังไม่ถูกเพิกถอน หากพิสูจน์ได้ด้วยพยานหลักฐานอื่นว่า มีข้อความอย่างไร ก็ยังมีผลอยู่
การขีดฆ่าโดยไม่ตั้งใจจะเพิกถอน เช่น เพื่อจะเปลี่ยนแปลงข้อความเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้มีผลเพียงว่า สิทธิของผู้รับพินัยกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามที่มีการแก้ไข (ซึ่งการแก้ไขต้องสมบูรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย) แต่ไม่ได้เพิกถอนข้อกำหนดนั้น แต่หากแก้ไขไม่ถูกต้อง ทำให้การแก้ไขไม่มีผลก็ต้องบังคับตามข้อความเดิม
หากพินัยกรรมทำไว้หลายฉบับ การเพิกถอนต้องกระทำต่อทุกฉบับ มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์ตามมาตรา 1695 วรรค 2 หากทำลายหรือขีดฆ่าเป็นบางฉบับ ฉบับที่เหลืออยู่ก็ยังสมบูรณ์ เป็นพินัยกรรมมีผลบังคับอยู่
สรุป การตีความพินัยกรรม ตอนที่ 1 คือ จะต้องตีความตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรม หรือตีความให้ใกล้เคียงกับข้อกำหนดพินัยกรรม เพื่อมิให้พินัยกรรมเสียไป หากมีพินัยกรรมหลายฉบับ ก็ให้ถือเอาพินัยกรรมที่สามารถเป็นผลบังคับได้ ก็ให้ถือเอาตามฉบับที่ดีกว่า
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อที่ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE