การถอนฟ้อง

https://pantip.com/topic/37090351

การถอนฟ้อง คดีแพ่ง

ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 บัญญัติว่า

          ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล

          ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยืนคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรือ อนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่

          (1) ห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน

          (2) ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลง หรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น

โจทก์ถอนคำฟ้อง

ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลต้องถามจำเลยก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ ถ้าจำเลยไม่คัดค้าน ศาลก็อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ถ้าจำเลยคัดค้าน ศาลก็พิจารณาดูว่า คำคัดค้านมีเหตุผลหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่ว่าหากจำเลยคัดค้านแล้วศาลจะไม่อนุญาตถอนฟ้องเสมอไป ศาลมีอำนาจอนุญาตได้แม้จำเลยจะคัดค้าน แต่ในกรณีที่มีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกัน ศาลต้องอนุญาตไปตามคำขอถอนฟ้องนั้น ต่างกับการถอนฟ้องคดีอาญา หากจำเลยคัดค้านการที่โจทก์ถอนฟ้อง ศาลต้องยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35

          คำว่า “ถอนฟ้อง” คือ การระงับคดีตามคำฟ้องโดยโจทก์ยอมถอนประเด็นตามข้อกล่าวหาทุกประเด็นไปจากศาล ทั้งนี้ ที่ว่าถอนคำฟ้องไป ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะนำตัวคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลแล้วเอากลับคืนไป โจทก์เพียงแต่ยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือหรือทำเป็นคำร้องต่อศาลว่า ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป หากศาลอนุญาตก็จะสั่งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หรือในคำบอกกล่าว หรือคำร้องที่ยื่นต่อศาลนั้น จากนั้นศาลก็จะสั่งออกเป็นหมายเลขคดีแดง ซึ่งหมายถึง คดีเสร็จไปจากศาลโดยการจำหน่ายคดีจากสารบบความ

          ผู้มีสิทธิถอนฟ้อง โดยปกติ เมื่อโจทก์เป็นผู้ยื่นฟ้อง การถอนคำฟ้องก็เป็นสิทธิของ โจทก์ถอนฟ้อง ในคดีจะเป็นผู้ถอนคำฟ้องนั้น คดีที่มีโจทก์หลายคน โจทก์แต่ละคนก็สามารถถอนคำฟ้องได้เฉพาะคำฟ้องของตน จำเลยจะเป็นผู้ยื่นคำบอกกล่าวหรือคำร้องขอถอนคำฟ้องไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ฟ้อง

          คดีที่นิติบุคคลเป็นโจทก์ ผู้แทนนิติบุคคลย่อมมีอำนาจถอนคำฟ้องได้ หมายความว่า นิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลสมมติตามกฎหมาย ไม่สามารถจะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง จะกระทำการต่างๆก็โดย ผู้แทนคณะนิติบุคคล ฉะนั้น นิติบุคคล จะถอนฟ้องก็ต้องโดยผู้แทนนิติบุคคลที่ชอบ เช่น บริษัทจำกัด ผู้ที่จะถอนคำฟ้องก็ต้องเป็นกรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ก็ต้องเป็นกรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็ต้องเป็นผู้จัดการที่มีอำนาจจึงจะถอนฟ้องได้

          สำหรับผู้รับมอบอำนาจ ผู้ที่ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจ จะต้องปรากฏว่าได้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจถอนคำฟ้องได้ด้วย ถึงจะถอนได้ มิฉะนั้นต้องให้มอบอำนาจเป็นผู้ถอนคำฟ้องเอง ดังนั้น กรณณีที่ผู้รับมอบอำนาจถอนฟ้อง ก็ต้องตรวจดูใบมอบอำนาจว่า ผู้มอบอำนาจได้มอบผู้รับมอบอำนาจถอนฟ้องได้ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับมอบอำนาจมาแม้จะมาถอนฟ้อง ศาลก็ไม่อนุญาต

          กรณีที่ ทนายความ เป็นผู้ถอนคำฟ้อง ก็ต้องตรวจดูว่าในใบแต่งทนายความ ตัวความได้มอบอำนาจให้ทนายความนั้นมีอำนาจฟ้องได้หรือไม่ หากไม่ได้รับมอบอำนาจให้ถอนคำฟ้อง ทนายความ ก็ไม่มีอำนาจถอนฟ้องเช่นกัน ศาลก็จะอนุญาตให้ถอนคำฟ้องไม่ได้

ถอนฟ้องได้เมื่อใด

         การถอนฟ้อง จะทำได้เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ถ้าคดีเสร็จไปจากศาลชั้นต้นแล้ว ก้ไม่สามารถถอนคำฟ้องได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเสร็จไปโดยที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจากสาระบบความ หรือศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี ไม่ว่าจะพิพากษาบังคับตามที่โจทก์ฟ้อง หรือพิพากษายกฟ้อง กล่าวคือ หากคดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลแล้ว จะถอนฟ้องไม่ได้ มีข้อสังเกตว่า คดีที่เสร็จการพิจารณาแล้ว แต่ตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาในคดีนั้น โจทก์ก็อาจถอนคำฟ้องได้

         ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว โจทก์จะขอถอนฟ้องในขณะคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาไม่ได้ แต่ผู้อุทธรณ์ หรือผู้ฎีกามีสิทธิขอถอนอุทธรณ์หรือฎีกาได้ มีบางกรณีที่ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาได้ยื่นคำร้อง ขอถอนฟ้อง ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาอาจถือว่าคำร้องขอถอนฟ้องดังกล่าวเป็นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ หรือฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้ กรณีเช่นนี้ ศาลอุมธรณ์ หรือศาลฎีกาก็อนุญาตให้โดยถือว่าเป็นการถอนอุทธรณ์หรือถอนฎีกาได้โดยอนุโลม และในกรณีการถอนอุทะรณ์ หรือ ถอนฎีกา คำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ก็ยังคงอยู่ ต่างกับผลของการถอนคำฟ้องในศาลชั้นต้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องทั้งหมด

         คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 786/2519 วินิจฉัยว่า แม้ตามคำร้องโจทก์จะระบุว่า ขอถอนฟ้องแต่เมื่อแปลได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอถอนฟ้องฎีกา ศาลฎีกาก็อนุญาตให้ถอนฎีกาได้

         หมายเหตุ ในกรณีเช่นนี้ ศาลฎีกาพยายามแปลให้เป็นคุณ เพราะโจทก์อาจไม่เข้าใจว่าในชั้นฎีกา จะมาขอถอนคำฟ้องเดิมไม่ได้ แต่อาจถอนฎีกาได้ แม้จะยื่นคำร้องว่าขอถอนฟ้องมา ศาลฎีกาก็แปลโดยอนุโลมว่าโจทก์คงประสงค์จะถอนฎีกา เหมือนอย่างปัจจุบันคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา แต่คู่ความบางคนไม่เข้าใจ อุทธรณ์ไปที่ศาลอุทธรณ์ เวลาจะสั่งรับอุทธรณ์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ต้องพิเคราะห์สั่งว่า ตามกฎหมายคดีทรัพย์สินทางปัญญา ต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์พอแปลได้ว่า โจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั่นเอง จึงมีคำสั่งรับอุทธรณ์ เป็นต้น

         ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินโดยขาดนัด หากมีการขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาใหม่ คดีก็กลับไปสู่ศาลชั้นต้นหรือคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว และคู่ความยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามมาตรา 243 กรณีเช่นนี้ หากศาลอุทธรณ์พิพากษายก คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ คดีก็ย่อมกลับไปสู่ศาลชั้นต้น ทั้งสองกรณีนี้ ต้องถือว่าคดีนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง โจทก์ก็อาจขอถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณานี้ได้

https://pantip.com/topic/33599614

วิธีการถอนฟ้อง

         การขอถอนฟ้องแบ่งได้ 2 กรณี คือ การขอถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ กรณีหนึ่ง กับการขอถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การอีกกรณีหนึ่ง

กรณีแรก การถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ กล่าวคือ จำเลยยังไม่ได้ให้การอาจเป็นเพราะยังไม่พ้นกำหนดที่จำเลยยื่นคำให้การ หรือพ้นกำหนดยื่นคำให้การแล้ว จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การ หากโจทก์ประสงค์จะถอนคำฟ้อง โจทก์ก็อาจขอถอนคำฟ้องโดย ทำคำบอกกล่าวเป็นหนังสือ แต่จะทำเป็นคำร้องขอถอนคำฟ้องก็ได้ บางครั้งคู่ความไม่ทราบ ก็อาจทำเป็นคำร้องมา ศาลก็อนุญาตไปได้ โดยไม่ต้องสอบถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่

กรณีที่สอง การถอนฟ้อง ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ถ้าโจทก์ประสงค์จะขอถอนคำฟ้อง ต้องยื่นขอถอนคำฟ้องโดยทำเป็นคำร้อง โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นค่าคำร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 2 ที่แก้ไขใหม่ แต่จะทำเป็นคำบอกกล่าวไม่ได้

ผลของการถอนฟ้องคดีแพ่ง

         เมื่อศาลอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ก็ย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติว่า “การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้อง ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆอันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความหลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใดๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ”

         ดังนั้น จากคำถามที่ว่า คดีแพ่งถอนฟ้องแล้ว ฟ้องใหม่ได้ไหม สรุปจากมาตรานี้ จะได้ความว่า ผลแห่งการถอนฟ้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำฟ้องใหม่ได้ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งอายุความ แต่ทั้งนี้ ไม่ถือว่าการฟ้องคดีดังกล่าวที่ได้ถอนไปนั้น เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 ส่วนคดีที่ฟ้องไว้นั้น เป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปจากศาล ศาลก็ไม่ต้องทำการพิจารณาหรือมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นคดต่อไปตามมาตรา 132 โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148

         คดีที่ โจทก์ถอนฟ้อง เมื่อศาลสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว หากจำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าว คดีจึงอยู่ในระหว่างพิจาณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ย่อมฟ้องใหม่ไม่ได้ เพราะว่าเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) จะเห็นได้ว่า ผลของการถอนฟ้องจต้องเสร็จเด็ดขาด จึงจะมีผลตามมาตรา 176 หากการถอนคำฟ้องไม่เสร็จเด้ดขาด ยังมีการอุทธรณ์คำสั่งอยู่ ก็ถือว่าคดีนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจาณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นใหม่ไม่ได้

         คำพิพากษาฎีกาที่ 2002/2511 โจทก์ถอนฟ้องโดยแถลงต่อศาลว่า จะไม่ฟ้องจำเลย เกี่ยวกับทรัพย์พิพาทอีก คำแถลงย่อมผูกมัดจำเลย แม้จะฟ้องผู้รับโอนทรัพย์พิพาทบางส่วนจากจำเลย มาในคดีหลังด้วยก็ฟ้องไม่ได้ เพราะสิทธิของจำเลยมีอย่างไร ย่อมตกแก่ผู้รับโอนด้วย

การคืนค่าขึ้นศาล

         การถอนฟ้องคดีแพ่ง โจทก์ถอนฟ้อง ทำให้คดีเสร็จไปจากศาลโดยมิได้มีการชี้ขาดข้อพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าขึ้นศาล คืนตามมาตรา 151 วรรคสอง ของประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง ที่บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการถอนคำฟ้อง หรือเมื่อศาลตัดสินให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำมาฟ้องใหม่ หรือเมื่อคดีนั้นได้เสร็จเด็ดขาดลงโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือบางส่วนแก่คู่ความที่เกี่ยวข้องซึ่งได้เสียไว้ในเวลายื่นคำฟ้องได้ตามที่เห็นสมควร” ซึ่งเท่ากับเป็นบทบัญยัติที่ให้อำนาจแก่ศาลใช้ดุลพินิจจะสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้

         สรุป การถอนฟ้อง ต้องสังเกตว่า จำเลยยื่นคำให้การแล้วหรือไม่ ถ้าจำเลยยังไม่ยื่นคำให้การ โจทก์ก็ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้อง ศาลชอบที่จะอนุญาต แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลต้องถามจำเลยก่อนทุกครั้ง การสอบถามนั้นไม่ผูกมัดศาลว่าจะต้องไม่อนุญาต เพราะถึงแม้จำเลยจะคัดค้าน ศาลก็จะสามารถอนุญาตได้เพราะเป็นดุลพินิจศาล การสอบถามนั้น เป็นเพียงแต่ว่าให้ทราบว่าจำเลยจะค้านหรือไม่ค้าน หรือมีความเห็นประการใด ฉะนั้นศาลอาจอนุญาตก็ได้

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE