การถูกกำจัดมิให้รับมรดก ฐานเป็นผู้ไม่สมควร
การเสียไปซึ่งสิทธิในมรดก เพราะทายาทถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรนั้นเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ที่บัญญัติว่า ทายาทประพฤติตนไม่ดีอย่างไรจึงถูกจำกัด การที่ทายาทประพฤติตนไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป อาจไม่ถูกกำจัดก็ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดก หาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จ หรือทำพยานเท็จ
(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามี ภริยา หรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้ โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักอักษร
1. เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตน ถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
หมายความว่า ทายาทหรือผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกต้องคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษฐานฆ่า หรือพยายามฆ่าเจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนโดยไม่เจตนา หรือทำให้เจ้ามรดกตายโดยประมาท ทายาทไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามข้อนี้
ตัวอย่าง ภริยาโกรธที่สามีเจ้าชู้ ขณะภริยากำลังขับรถยนต์อยู่ ได้ดุด่าว่ากล่าวสามีจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำ ปรากฎว่าสามีถึงแก่ความตาย ภริยาถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้สามีถึงแก่ความตาย ภริยาไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ยังมีสิทธิรับมรดกสามีอยู่นั่นเอง เพราะมิได้กระทำโดยเจตนาให้สามีถึงแก่ความตาย
การที่ทายาทคนใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ฆ่าเจ้ามรดกหรือพยายามฆ่าเจ้ามรดก หรือฆ่าผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตน หรือพยายามฆ่าผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตน ซึ่งมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 มาตรา 289 หรือประกอบมาตรา 80 จึงจะถูกกำจัด หมายถึงการที่ฆ่าคนตายโดยเจตนานั้น ต้องมีเจตนาที่แท้จริง
2. ผู้ที่ฟ้องเจ้ามรดกหาว่ากระทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
การฟ้องในที่นี้ หมายถึง กรณีที่ทายาทผู้นั้นเป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยตนเอง และมีความผิดโทษประหารชีวิต ซึ่งความผิดโทษประหารชีวิตนั้น เป็นความผิดฐานใดก็ได้หากมีโทษประหารชีวิตก็เข้ามาตรา 1606(2) แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ อีกประการคือ ตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จ หรือทำพยานเท็จ เพราะ ถ้านำเรื่องมาฟ้องโดยเท็จทั้งสิ้น และโทษถึงประหารชีวิต แต่ศาลยกฟ้องทายาทผู้นั้นยังไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก เพราะอีกฝ่ายไม่ได้ฟ้องกลับจนศาลมีคำพิพากษา ถึงที่สุดว่าทายาทผู้นั้นมีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
การฟ้องตามมาตรา 1606(2) ต้องฟ้องเจ้ามรดกเท่านั้น ถึงจะถูกกำจัดมิให้รับมรดก ถ้าทายาทฟ้องทายาทด้วยกันไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
การถูกกำจัดตามมาตรา 1606(2) เป็นการถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น ถ้าบุคคลซึ่งถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นบุคคลใด ซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629(1)(3)(4) หรือ (6) ถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดาน และเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง ก็ให้รับมรดกแทนที่ของบุคคลนั้นตามมาตรา 1639 ดังนั้น การถูกกำจัดตามมาตรา 606 (2) นี้มีการรับมรดกแทนที่กันได้
กรณีตามาตรา 1606(2) จะไม่มีการถูกกำจัดหลังเจ้ามรดกตายโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อข้อเท็จจริงเป็นไปตามตัวอย่างข้างต้น เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่านายหนึ่งมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ต่อมานายหนึ่งเกิดตายก่อน เช่นนี้ ทางพิจารณาศาลจะไม่มีคำพิพากษา แต่จะจำหน่ายคดีเนื่องจากคดีอาญาระงับไป เพราะความตายของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควงามอาญา มาตรา 39(1)
3. ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าตายโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้น ขึ้นร้องเรียน เพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบ 16 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยา หรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานโดยตรงว
คำว่า “ร้องเรียน” ในที่นี้หมายถึง การแจ้งความร้องทุกข์ การกล่าวโทษ หรือให้การเป็นพยานถึงข้อเท็จจริงเท่าที่รู้เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้กระทำผิด
การกระทำของอนุมาตรานี้ เป็นกรณีหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และรู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่ไม่ได้ร้องเรียนก็จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก หากเป็นกรณีที่รู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าตายโดยไม่เจตนา หรือถูกกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แต่ไม่ได้ร้องเรียน กรณีนี้ก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
เว้นแต่ 3.1 ถ้าบุคคลนั้น อายุไม่ครบ 16 ปี บริบูรณ์ ผู้นั้นค ือ ทายาทผู้รู้เห็นการฆ่า แต่มิได้นำข้อความที่เห็นบุคคลใดเป็นผู้ฆ่าให้เอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ กฎหมายให้ข้อยกเว้นไม่ถูกกำจัด
3.2 ถ้าผู้นั้น เป็นบุคคลวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ
3.3 ผู้ที่ฆ่านั้น เป็นสามีภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานโดยตรง
4. ผู้ที่ฉ้อฉล หรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมบางส่วน หรือทั้งหมดเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
หมายถึง ผู้ที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก เพราะผู้นั้นหลอกลวงหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือเพิกถอนเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดของอนุมาตรานี้ การฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำหรือเพิกถอนพินัยกรรม ไม่จำเป็นว่าทำเพื่อยกให้แก่ทายาทของผู้ทำการฉ้อฉลหรือผู้ข่มขู่หรือของตนเอง แต่ถ้าได้ความว่าเขาฉ้อรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรม หรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนพินัยกรรมทั้งหมดหรือแต่บางส่วน บุคคลนั้นก็ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่แล่ว ถ้าการกระทำนั้นไม่มีผลต่อพินัยกรรมโดยตรง แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สินกองมรดกตามพินัยกรรมก็ถูกกำจัดมิให้รับมรดก เช่น ทายาทตามพินัยกรรมหลอกลวงให้ผู้ทำพินัยกรรมทำหนังสือมอบอำนาจให้แล้ว เอาหนังสือมอบอำนาจไปจัดการโอนที่ดินที่ตนจะได้รับจตามพินัยกรรม เช่นนี้ ไม่ถือเป็นการฉ้อฉลให้เจ้ามรดกเพิกถอนหรือเปแลี่ยนแปลงพินัยกรรม จึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
การถูกกำจัดตามมาตรา 1606(4) นี้ ถ้าทายาทข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกมรดกให้บุตรชายของตน ทายาทที่ข่มขู่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร แต่ปัญหาคือ บุตรชายของทายาทที่ข่มขู่มีสิทธิจะได้รับมรดกในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมหรือไม่ ในเรื่องนี้ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มตรา 1708 “เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งให้เพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะเหตุข่มขู่ก็ได้ แต่หากผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ ต่อมาเกินหนึ่งปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมพ้นจากการข่มขู่แล้ว จะมีการร้องขอเช่นว่านั้นไม่ได้” ดังนั้น ถ้าทายาที่ข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกให้บุตรชายของตน ถ้าผู้ทำพินัยกรรมคือเจ้ามรดกพ้นจากการข่มขู่แล้ว และมีชีวิตเกิน 1 ปี นับแต่ถูกข่มขู่ ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นนั้นไม่ได้
นอกจากพินัยกรรมที่ทำเพราะถูกข่มขู่ เจ้ามรดกอาจทำพินัยกรรมเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลก็ได้ ในเรื่องเจ้ามรดกทำพินัยกรรมเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉล ซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1709 “เมือผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลได้ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้นพินัยกรรมนั้นก็มิได้ทำขึ้น
ความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับ แม้ถึงว่ากลฉ้อฉลนั้นบุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมได้ก่อขึ้น
แต่พินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นโดยสำคัญผิด หรือกลฉ้อฉลย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้น”
ในการฟ้องร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมเพราะถูกข่มขู่ เพราะสำคัญผิด หรือกลฉ้อฉล กฎหมายได้กกำหนดอายุความไว้ในประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มตรา 1710 “คดีฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดดังนี้
(1) สามเดือนภายหลังที่ผู้กระทำพินัยกรรมตาย ในกรณีที่โจทก์รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมมีชีวิตอยู่ หรือ
(2) สามเดือนภายหลังที่โจทก์ได้รู้เหตุเช่นนั้นในกรณีอื่นใด
แต่ถ้าโจทก์ไม่รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมอันกระทบกระทั่งถึงส่วนได้เสียของตนแม้ว่าดจทก์จะได้รู้ถึงเหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ก็ดี อายุความสามเดือนให้เริ่มับแต่ขณะที่โจทก์รู้หรือควรจะได้รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น
แต่อย่างไรก็ดี ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นว่านั้น เมื่อพ้นสิบปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมตาย”
ดังนั้น ถ้าจะฟ้องร้องขอเพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมต้องฟ้องร้องภายในกำหนดอายุความตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
5. ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
การถูกกำจัดตามอนุมาตรานี้ อาจจะเกิดขึ้นก่อนเจ้ามรดกตาย หรือเกิดขึ้นหลังเจ้ามรดกตายก้ได้แล้วแต่ข้อเท็จจริงแต่ละกรณี ถ้าปลอม ทำลาย ปิดบังพินัยกรรมทำก่อนเจ้ามรดกตายก็เป็นการถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าเจ้ามรดกตายแล้วทายาทได้มาปลอมทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรม ทายาทผู้นี้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย ซึ่งถ้าถูกกำหจัดก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ก็อาจจะมีการรับมรดกแทนที่กันได้ตามมาตรา 1639 แต่ถ้าถูกกำจัดหลังเจ้ามรดกตาย ก็จะไม่มีการรับมรดกแทนที่กัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 299/2516 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมของ ป. เจ้ามรดก ขอให้ลงโทษ แต่โจทก์เองก็ถูกฟ้องว่าปลอมพินัยกรรมของ ป. เหมือนกัน และศาลได้พิพากษาลงโทษโจทก์ฐานปลอมพินัยกรรม คดีถึงที่สุด ดังนี้ โจทกด์จึงตกเป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รนับมรดกของ ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาริชย์ มาตรา 1606 (5) โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมาตรา 28
สรุป การถูกกำจัดมิให้รับมรดก เป็นการตัดสิทธิมิให้รับมรดก เป็นการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE