การริบทรัพย์สินในคดีอาญา เมื่อเป็นจำเลยถูกฟ้องในคดีอาญา และอาจจะถูกศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ดังนั้นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง อาจจะร้องขอต่อศาลเพื่อขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบ ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอย่างไรถึงจะถูกริบทรัพย์สิน และอย่างไรจะขอคืนทรัพย์สินได้ครับ
การริบทรัพย์สิน ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินได้ ทางพิจารณาต้องได้ความว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้กระทำความผิดและใช้ในการกระทำความผิด หรือหากเป็นทรัพย์ของผู้อื่น บุคคลนั้นต้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดด้วย
หากทรัพย์สินเป็นของผู้อื่น ที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ศาลจะไม่สั่งริบและจะสั่งให้คืนของที่ริบแก่เจ้าของไป หรือ หากศาลสั่งริบเนื่องจากมีคำขอของพนักงานอัยการเข้ามาในสำนวนแล้ว เจ้าของที่แท้จริงสามารถยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่า ” ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด”
สิทธิที่จะร้องขอให้คืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 เป็นสิทธิของเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เข้ามาในคดีตั้งแต่แรก จึงไม่มีโอกาสต่อสู้คดี ว่าทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นของตน และตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จึงมีสิทธิร้องขอให้คืนของกลางภายในหนึ่งปีนับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
หรือ หากทรัพย์สินเป็นของจำเลย หากไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยมีสิทธิต่อสู้มาตั้งแต่แรกว่า ทรัพย์สินที่อัยการโจทก์ขอให้ริบนั้น เป็นทรัพย์ที่จำเลยไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการที่ผู้อื่นนำทรัพย์นั้นไปใช้ในการกระทำความผิด เพื่อไม่ให้ต้องถูกพิพากษาให้ริบ หากจำเลยไม่ได้ต่อสู้ในเรื่องนี้จนศาลพิพากษาให้ริบทรัพย์สินแล้ว จำเลยจะมายื่นคำร้องขอให้คืนของกลางตามมาตรา 36 อีกไม่ได้
การริบทรัพย์สินในคดียาเสพติด
คดีริบทรัพย์ หรือยึดอายัดทรัพย์สินในคดีอาญานั้น สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี เท่าที่ได้เคยรับคดีมานั้น ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับ คดียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 ซึ่งทรัพย์สินที่จะถูกริบนั้น เช่น
1. สิ่งที่ผิดกฎหมายในตัวอยู่แล้ว เช่น ยาเสพติด ปืนเถื่อน
2. ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด เช่น เงิน รถ บ้าน
3. ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด เช่น รถคันเกิดเหตุ ปืนที่ใช้ติดตัวไปด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 280 / 2546
จำเลยว่าจ้างให้ ท. ขับรถยนต์บรรทุกของผู้ร้อง บรรทุกช้างสองเชือกผ่านบริเวณด่านกักสัตว์จึงถูกจับกลุ่มดำเนินคดีฐานไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์มาตรา 4 , 34 , 49 ในชั้นร้องขอคืนของกลาง จำเลยเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้าง ท. เอง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นในการว่าจ้างมาทุกช้างของจำเลย ซึ่งจำเลยเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับการยึดรถบรรทุกของกลา งจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถืออีกทั้งความผิดคดีนี้อยู่ที่จำเลยไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายช้าง หาใช่ความผิดอยู่ที่การเคลื่อนย้ายไม่ กรณีจึงเชื่อได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ต้องคืนรถยนต์บรรทุกของกลางให้แก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 173 / 2539
ขณะจำเลยใช้รถยนต์ของกลางกระทำความผิด ผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์ของกลาง แต่เมื่อผู้ร้องได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบก่อนที่ศาลจะสั่งริบ ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลาง และเมื่อผู้ร้องและผู้ให้เช่าซื้อมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ต้องคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 9822 / 2556
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภทแก่บุคคลทั่วไป ส. นำรถยนต์ของกลางมาทำสัญญาเช่าซื้อไว้กับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมไม่อาจรู้ว่าจำเลยที่ 2 พี่สาวของผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีจะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6. ก็ระบุว่าหากรถถูกใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิด หรือใช้รถในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบคำสั่งหรือข้อบังคับใดๆ หรือใช้รถในประการอื่นใดเป็นเหตุให้ถูกริบ ยึดอายัด หรือตกเป็นของรัฐ ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดทันที และผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ตามสัญญาข้อ 5 วรรค2 และเมื่อผู้ร้องมีหนังสือยืนยันการเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว การที่ในช่วงเวลาต่อเนื่องกันมา ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ก็เป็นการที่ผู้ร้องใช้สิทธิดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เป็นช่องทางการเยียวยาและบรรเทาความเสียหายของผู้ร้องทางหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ติดตามรถยนต์ของกลางทั้งๆ ที่รู้แล้วว่ามีการนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด หรือยื่นคำร้องเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
มาตรการในการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด จะริบทรัพย์สินหรือทรัพย์ที่ผิดกฎหมายนั้น ตกเป็นของรัฐโดยทันที แม้ว่าจะมีการย้ายทรัพย์ หรือโอนกรรมสิทธิไปให้ผู้ที่รับไว้โดยสุจริต ก็ไม่มีผลให้ผู้รับได้กรรมสิทธินั้นไป ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 การจะริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้นั้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการศาล และมีหน้าที่นำสืบทั้งฝ่ายพนักงานอัยการโจทก์ และ ทนายจำเลย เพื่อมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลได้เห็นข้อเท็จจริงตามที่คู่ความได้นำเสนอ
หน้าที่นำสืบ
คดีขอคืนของกลาง รูปเรื่องเป็นกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง อยู่ในฐานะผู้ร้อง โดยทำเป็นคำร้องขอคืนของกลาง เมื่อเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงและไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ของจำเลยแล้ว ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำสืบ ส่วนพนักงานอัยการในฐานะผู้คัดค้านก็จะทำหน้าที่สืบแก้
สรุป การริบทรัพย์สินในคดีอาญา ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินต่อเมื่อทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง รวมถึงทรัพย์สินอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วย แต่หากพิจารณาตามมาตรา 29 และมาตรา 30 การริบทรัพย์สินยังมีความหมายกว้างอยู่ หากมีการตีความในเรื่องทรัพย์สินอันใดที่ใช้กระทำความผิด หรือเพื่อริบทรัพย์สิน ก็อาจจะศึกษาได้จากคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐาน ส่วน การขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบ จะต้องแสดงให้ศาลเห็นได้ว่า เจ้าของทรัพย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นในการกระทำความผิด
หากไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage : www.facebook.com/UDOMKADEE