การหย่า และเหตุแห่งการหย่า
เมื่อสามีภรรยาได้สมรสกันแล้ว ต่อมาไม่สามารถอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวได้ จึงต้องการหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน วันนี้เราจะมาให้ความรู้ถึงวิธีการหย่าโดยความสมัครใจหรือโดยคำสั่งศาลโดยอ้างเหตุแห่งการหย่ากันครับ
1. การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
1.1 การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานสองคน
การหย่าโดยความยินยอมนั้น สามีและภรรยาทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมหย่าขาดจากกัน โดยทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง
หนังสือหย่านั้นอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 9 ที่จะต้องให้คู่หย่านั้น ลงลายมือชื่อในหนังสือหย่าด้วย มิฉะนั้นก็เป็นหนังสือหย่าไม่ได้ สามีหรือ ภริยาจะหย่ากันโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2549 มาตรา 3 ยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก
1.2 การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนการหย่า
เมื่อสามีและภรรยาตกลงกันทำหนังสือหย่า โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคนแล้ว ทั้งสามีและภรรยาจะต้องนำหนังสือหย่านั้น ไปจดทะเบียนการหย่า ณ ที่ว่าการอำเภอ ถ้ายังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า ก็ไม่สมบูรณ์ตามกฏหมาย ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515
ถ้าสามีภรรยาทำหนังสือหย่า แต่สามีหรือภรรยาไม่ยอมจดทะเบียนการหย่า สามีหรือภรรยาย่อมฟ้องให้ศาลบังคับให้สามีไปจดทะเบียนการหย่าได้
ถ้าจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการหย่าก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยไปอายุความในการฟ้องร้องมีอายุความ 10 ปี
2. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
เหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 กำหนดไว้มี 10 เหตุ ซึ่งทั้ง 10 เหตุนี้ใช้บังคับในทุกกรณี ที่มีการฟ้องหย่าเกิดขึ้น
ในการฟ้องหย่า ให้ฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ การกระทำที่ทำให้เกิดเหตุฟ้องหย่า ให้ถือว่ามูลเหตุคดีเกิดขึ้นที่นั้น ไม่ใช่สถานที่จดทะเบียนสมรส
ในเหตุฟ้องหย่า โจทก์อ้างเหตุหลายหลายเหตุรวมกันมาก็ได้ หรือจะบรรยายข้อเท็จจริงต่างๆที่ประสงค์จะใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องให้ชัดแจ้งก็ได้ แต่ต้องระบุว่าข้อเท็จจริงนั้นปรับได้กับเหตุฟ้องหย่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา เกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
สรุป การหย่า และเหตุแห่งการหย่า มีเหตุ 10 ประการ ซึ่งข้อเท็จจริงจะสามารถนำมาปรับเข้ากับข้อกฎหมายได้หรือไม่นั้น จะต้องดูเป็นกรณีไป รวมถึงพยานเอกสาร พยานวัตถุ ส่งเพื่อให้ ทนายความ จะได้ตั้งเรื่องในการฟ้องต่อไป หากแยกกันอยู่นานเกินกว่า 3 ปีแล้ว อีกฝ่ายสามารถฟ้องหย่าได้ครับ
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อที่ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE