การเสียสิทธิในมรดกโดยอายุความ

การเสียสิทธิมรดกโดยอายุความ

      ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้ โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ตามมาตรา 1599 วรรคสอง อายุความมรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคท้าย เป็นการเสียสิทธิในมรดกของทายาทอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1516 / 2503 ประชุมใหญ่) แต่การเสียสิทธินี้เป็นการเสียสิทธิเฉพาะทรัพย์มรดกที่ทายาทนั้นไม่ได้ครอบครองให้แก่ทายาทที่ครอบครองเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 1368/2510 และ 8002/2551)

ความหมายของคดีมรดก

      คดีมรดก หมายถึง คดีที่ทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาท ฟ้องเรียกเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของตน โดยสิทธิตามกฏหมาย หรือโดยพินัยกรรม จากผู้จัดการมรดก หรือทายาทอื่น หรือผู้เสียสิทธิของทายาทอื่น หรือผู้รับพินัยกรรมอื่นในทรัพย์มรดกรายเดียวกัน การที่ผู้รับพินัยกรรมฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1754 วรรคสอง ก็เป็นเรื่องทายาทฟ้องร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั่นเอง จึงถือเป็นคดีมรดกเช่นเดียวกัน เหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้คนละวรรค ก็เนื่องจากกำหนดระยะเวลาที่เริ่มนับอายุความสิทธิเรียกร้องแตกต่างกัน สรุปแล้ว คดีมรดก หมายถึง คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในมรดกด้วยกัน เรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก (คำพิพากษาฎีกา 3316/2542)

      สำหรับกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ อันมีต่อเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคสามนั้น ไม่ใช่การฟ้องเรียกร้องให้เรียกแบ่งทรัพย์มรดก ประกอบกับเจ้าหนี้ ไม่ใช่ทายาทผู้สืบสิทธิของทายาท ดังนั้น คดีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิฟ้องร้องตามมาตรา 1754 วรรคสาม จึงไม่ใช่คดีมรดก

อายุความฟ้องคดีมรดกของทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง และวรรคท้าย มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. หนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หมายความว่า ทายาทโดยธรรม ได้รู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันเดียวกับที่เจ้ามรดกตายนั่นเอง

2. หนึ่งปีนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายเจ้ามรดก หลังวันเจ้ามรดกตาย

อนึ่งกรณีผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตเป็นทายาทโดยธรรมต้องนำมาตรา 193 / 20 มาพิจารณาประกอบด้วย

3. ระยะเวลาการฟ้องคดีตามข้อ 2. ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย ทั้งนี้ตามมาตรา 1754 วรรคท้าย แม้จะรู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ยังไม่เกิน 1 ปีก็ตาม กล่าวคือ หลักเกณฑ์ตามข้อ 2. ต้องอยู่ภายในบังคับหลักเกณฑ์ตามข้อ 3.

      ตัวอย่าง การเสียสิทธิมรดกโดยอายุความ นายเอก เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อ 5 มกราคม 2541 มีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นางโท มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายตรี และมีบิดา คือ นายจัตวา ส่วนมารดาถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นางโทและนายตรีทราบเรื่องนายเอกในวันเดียวกับที่นางเอกตายนั่นเอง นายจัตวารู้หรือควรได้รู้ว่านายเอกถึงแก่ความตาย วันที่ 1 เมษายน 2541 นอกจากนี้ นายเอกยังได้จดทะเบียนรับนายเบน เป็นบุตรบุญธรรม โดยนายเบนรู้หรือควรได้รู้ว่า นายเอกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 นางโทครอบครองทรัพย์มรดกของนายเอกแต่เพียงผู้เดียว โดยนายตรีและนายจัตวารวมทั้งนายเบน ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกด้วย ดังนี้ นายตรีจะต้องฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกภายในวันที่ 5 มกราคม 2542 ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 1. นายจัตวาต้องฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกภายในวันที่ 1 เมษายน 2542 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2. ส่วนนายเบนต้องฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกภายในวันที่ 5 มกราคม 2551 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 3. แม้ว่าจะรู้หรือควรได้รู้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ก็ไม่นำหลักเกณฑ์ข้อ 2. มาใช้บังคับ เพราะหลักเกณฑ์ตามข้อ 2. อยู่ในบังคับหลักเกณฑ์ข้อ 3.

      ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก เข้ามาอยู่ในที่มรดก เมื่อเกิน 1 ปี โดยไม่เคยร่วมครอบครองเลยนับแต่เจ้ามรดกตายผู้รับมรดกคนที่ปกครองที่มรดก ย่อมฟ้องขับไล่ได้ (คำพิพากษาฎีกา 168/2491 , 693/2492)

อายุความฟ้องเรียกร้องตามข้อกำหนดพินัยกรรมโดยผู้รับพินัยกรรม ตามมาตรา 1754 วรรคสอง และวรรคสาม มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. หนึ่งปีนับแต่ผู้รับพินัยกรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงสิทธิของตนที่มีอยู่ตามพินัยกรรมตามมาตรา 1752 วรรคสอง

2. ระยะเวลาตามข้อ 1. ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย ทั้งนี้ตามมาตรา 1754 วรรคท้าย แม้จะรู้หรือควรจะได้รู้ถึงสิทธิตามพินัยกรรมไม่เกิน 1 ปีก็ตาม กล่าวคือหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามข้อ 2

      ตัวอย่าง เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดิน 1 แปลง ให้แก่นายเก่ง นายกล้า นายก้อง และนายชนะ โดยนายเก่งและนายกล้ารู้เรื่องการทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ตน โดยไม่ได้เป็นพยานในพินัยกรรม ก่อนผู้ทำพินัยกรรมตาย ต่อมาเจ้ามรดกถึงแก่ความตายวันที่ 10 ตุลาคม 2541 ในเก่งได้ครอบครองที่ดินตามพินัยกรรมแต่เพียงผู้เดียว นายก้องได้รู้ว่าตนมีสิทธิในพินัยกรรม วันที่ 5 มกราคม 2542 นายชนะรู้ว่าตนมีสิทธิในพินัยกรรมวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ดังนี้ นายกล้าต้องฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2542 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 1 เพราะรู้ก่อนที่เจ้ามรดกตาย แต่พินัยกรรมมีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย จึงถือว่ารู้นับแต่เจ้ามรดกตาย นายก้องต้องฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกภายในวันที่ 5 มกราคม 2543 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 1. นายชนะต้องฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2. แม้จะรู้หรือควรจะได้รู้สิทธิของตนที่มีอยู่ตามพินัยกรรมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 (ยังไม่เกิน 1 ปีนับแต่เมื่อถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2551) ก็ไม่นำหลักเกณฑ์ข้อ 1. มาใช้บังคับ เพราะหลักเกณฑ์ตามข้อ 1. อยู่ในบังคับหลักเกณฑ์ตามข้อ 2.

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE