ขโมยกับปล้น ต่างกันตรงไหน
กระทู้นี้น่าสนใจมากๆครับ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี จะขอนำคำถามนี้ในกระทู้ Pantip มาให้ความรู้กันนะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างข้อหาความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราได้ยินในข่าวแต่ละวัน
ขโมย หมายความว่าอย่างไร
จากความหมายนี้ “ขโมย” มีความหมายเทียบเคียงกับคำว่า “ลักทรัพย์” แต่คำว่าขโมย เป็นคำเรียกทั่วไปอย่างไม่เป็นทางการ หรือเรียกว่าภาษาชาวบ้านนั่นเอง ซึ่งภาษากฎหมายจะใช้คำว่า “ลักทรัพย์” ซึ่งคำนี้ มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์
(1) ในเวลากลางคืน
(2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ
(3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ
(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ
(9) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ
(10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้
ความผิดฐานลักทรัพย์ ถือว่าเป็นความผิดภาคพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยความผิดอื่น ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดดังนี้
องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด
2. เอาไป
3. ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
องค์ประกอบภายใน
1. เจตนา
2. เจตนาทุจริต (เจตนาพิเศษ)
ความผิดฐานปล้นทรัพย์
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าในการปล้นทรัพย์ ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์
1. ผู้ใด
2. ชิงทรัพย์
3. โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป
4. เจตนา (ทุจริต)
ความผิดฐานปล้นทรัพย์มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นการชิงโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เพราะฉะนั้นสาระสำคัญของความผิดฐานปล้นทรัพย์ ก็คือ ต้องมี 3 คน ร่วมกันเป็นตัวการร่วมกันทำทั้งกายและใจ
การปล้นทรัพย์ต้องมีการชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในทันใดนั้น จะใช้กำลังประทุษร้าย และมีตัวผู้ถูกกระทำเข้ามารับรู้ว่า
1. มีการเอาไปในทรัพย์สินของผู้อื่น
2. มีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย
3. มีการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
4. มีเจตนาที่จะเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริต
ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ผู้ร่วมกระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปใช้ในขณะปล้น หรือในการปล้นเป็นเหตุให้เจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่นได้รับอันตราบ ถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต ผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคนแม้จะไม่ได้พกอาวุธหรือร่วมทำร้ายเจ้าทรัพย์หรือบุคคลอื่น กฎหมายก็ถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ซึ่งมีผลให้จะต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าการปล้นทรัพย์โดยไม่มีอาวุธหรือไม่ได้มีการทำร้ายผู้ใด
สรุป สำหรับคำถามที่ว่า ขโมยกับปล้น ต่างกันตรงไหน ก็สามารถเปรียบเทียบได้ตามองค์ประกอบความผิด พฤติการณ์ และจำนวนผู้กระทำความผิด ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ครับ
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE