คดีลักทรัพย์ ปอ. มาตรา 334

https://pantip.com/topic/36785699

คดีลักทรัพย์ ปอ. มาตรา 334

องค์ประกอบ เอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต

      การเอาไป การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์นั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการแย่งการครอบครองและตัดกรรมสิทธิตลอดไป

      การเอาไปในลักษณะแย่งการครอบครอง คือ เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้น ดังนี้ผู้ครอบครองอนุญาตให้เอาทรัพย์นั้นไป ก็ไม่เป็นการเอาทรัพย์นั้นไปจากการครอบครองของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์

      การเอาทรัพย์ไปโดยเข้าใจโดยสุจริต ว่าเจ้าของอนุญาตแล้ว เข้าใจว่าเป็นของตนเอง ถือว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม จึงขาดเจตนาลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 5907 / 2546 จำเลยตัดฟันต้นยูคาลิปตัสของผู้เสียหาย โดยเข้าใจสุจริตว่าผู้เสียหายอนุญาตแล้ว จำเลยจึงขาดเจตนากระทำผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3774 / 2532 จำเลยเป็นสามีของ ส. บุตรของผู้เสียหายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยและ ส. ทำนาขายข้าวได้เงิน 7,500 บาท ส. นำเงินดังกล่าวใส่ไว้ในกระเป๋าถือฝากเก็บไว้ในหีบของผู้เสียหาย เช่นนี้ การที่จำเลยไขกุญแจเปิดหีบของผู้เสียหาย แล้วเอาเงินดังกล่าวไปโดยเข้าใจว่าเป็นเงินของจำเลย จำเลยมีสิทธิ์เอาไปได้ จึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 2960 / 2552 จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า ป. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ร่วม อนุมัติให้จำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ขออนุมัติจาก ป. ก่อนตามระเบียบการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงาน ก็ไม่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

      การเอาไปต้องมีลักษณะตัดกรรมสิทธิตลอดไป ดังนั้น หากเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเพียงชั่วคราว ไม่ถือว่าเป็นการเอาไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      การวินิจฉัยว่ากรณีใดบ้างเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ หรือเอาไปเพียงชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป ดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจพอสังเขป

จำเลยเอารถผู้อื่นเพื่อใช้หลบหนีไปเท่านั้น เป็นการเอาไปเพียงชั่วคราวไม่ผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1915 / 2543 จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งระหว่างทาง มีการบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปในกระท่อม แต่ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ 2 เอามีดรัดคอผู้เสียหาย และดึงกุญแจรถส่งให้จำเลยที่ 1 ที่นั่งคร่อมอยู่ เมื่อมีคนผ่านมา จำเลยทั้งสองก็เอารถจักรยานไปโดยบอกผู้เสียหายว่าให้ไปเอาคืนที่โรงเรียน แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเพียงต้องการนำรถจักรยานยนต์ไปใช้ชั่วคราว โดยตั้งใจจะขึ้นภายหลังมีได้กระทำเพื่อตัดกรรมสิทธิตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3608 / 2535 จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ท. แล้วใช้อาวุธปืนจี้เอารถจักรยานยนต์ของ ร. ขับหลบหนีไปแล้วจำเลยนำรถจักรยานยนต์นั้นไปทิ้งไว้ข้างทางห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร จำเลยไม่ได้นำรถจักรยานดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น พฤติการณ์ของจำเลยไม่มีเจตนาจะไปส่งเอารถจักรยานยนต์นั้นแต่ประการใด คงมีเพียงเจตนาต้องการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อหลบหนีเท่านั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการใช้อาวุธข่มขืนใจ ร. ให้มอบรถจักรยานยนต์โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ปอ. มาตรา 309 วรรคสอง

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7880 / 2545 หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่สองและที่สามแล้ว จำเลยทั้งสองหลบหนีไป โดยจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปด้วย หลังเกิดเหตุสองวันพบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 จอดอยู่ที่ป้อมตำรวจ หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ไปโดยทุจริตก็สามารถทำได้แต่จำเลยที่ 2 กลับไปจอดไว้ที่ป้อมตำรวจ แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเพียงเจตนาใช้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 เป็นพาหนะหลบหนีเท่านั้น หาได้มีเจตนาเอาไปโดนทุจริตไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4

      ข้อสังเกต การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปชั่วคราว ย่อมไม่ใช่การเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ จึงไม่ใช่เป็นการเอาไปตามความหมายของมาตรา 334 ซึ่งเป็นการขาดองค์ประกอบภายนอก แต่การไม่มีเจตนาทุจริต หรือไม่มีเจตนาธรรมดา เป็นการขาดองค์ประกอบภายใน ซึ่งน่าจะเป็นคนละเรื่องกัน บางฎีกาก็วินิจฉัยว่า การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปชั่วคราว ไม่เป็นการเอาไปตามมาตรา 334 ไม่เป็นความผิดการลักทรัพย์ บางฎีกาก็วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีเจตนาหรือไม่มีเจตนาทุจริต

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1002 / 2535 จำเลยนำรถยนต์ออกจากห้างผู้เสียหาย เพื่อไปทำความสะอาดตามหน้าที่ เสร็จแล้วได้นำรถไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวที่ต่างจังหวัด แต่รถเสียระหว่างทางเป็นเหตุให้นำรถมาคืนผู้เสียหายไม่ได้ ถ้ารถไม่เสียจำเลยก็นำมาคืนให้ผู้เสียหายได้ กรณีเป็นการเอารถไปใช้ชั่วคราวเท่านั้น มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิของผู้เสียหายตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 443 / 2515 จำเลยแอบเอารถของผู้เสียหายออกมา เพื่อจะขับไปกินข้าวต้มแล้วจะเอากลับมาคืน ก่อนหน้านี้ จำเลยเคยแอบเอารถของผู้เสียหายไปขับ ผู้เสียหายทราบเรื่องก็ไม่ได้ห้ามปรามแต่อย่างใด แสดงว่าไม่มีเจตนาจะเอารถนั้นไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1643 / 2535 จำเลยเอาปืนของผู้เสียหายไปเพื่อจะยิงทำร้าย ส. ซึ่งเป็นชู้กับภรรยาของจำเลยด้วยการบันดาลโทสะที่เห็น ส. นั่งอยู่กับภริยาของจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเอาปืนของผู้เสียหายไปเป็นของตนโดยทุจริตจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 279 / 2503 ตำรวจจับน้องชายจำเลยซึ่งนำปลาย่างหลบหนีภาษีศุลกากร และยึดปลาย่างเป็นของกลาง จำเลยเอาปลาย่างของกลางไปจากตำรวจ ดังนี้จำเลยไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือผู้อื่น แต่เป็นเรื่องเจตนาอย่างอื่นไม่ผิดฐานลักทรัพย์ความผิดตามมาตรา 142

      คำพิพากษาฎีกาที่ 139 / 2521 ตำรวจยึดรถยนต์ที่ใช้บรรทุกไม้ที่ผิดกฎหมายไว้เป็นของกลาง จำเลยกับพวก 20 คนช่วยกันเข็นรถบรรทุก และนายฟองขึ้นไปขับรถยนต์จนติดเครื่องยนต์ได้ ก็ขับรถยนต์ออกไปส่วน จำเลยมิได้ร่วมไปกับนายฟอง และพวกของจำเลยคงอยู่บริเวณสถานีตำรวจจนถูกจับ เห็นเจตนาว่าจำเลยมุ่งจะช่วยพวกของจำเลยให้ได้รถที่เจ้าพนักงานยึดกลับคืน จำเลยไม่มีเจตนาลักทรัพย์

      การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปจำนำ ถือว่าเป็นการเอาไปในลักษณะของการตัดกรรมสิทธิแล้ว และเป็นการเอาไปโดยมีเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3781 / 2541 จำเลยนำเอาเรื่อยฉลุไฟฟ้ าและเครื่องหินเจียไฟฟ้าของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นนายจ้างไปจำนำ แล้วนำเงินที่ได้ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวนั้น ถ้าจำเลยไม่ได้ไถ่คืนภายในเวลาที่กำหนด ผู้รับจำนำมีสิทธินำไปขายทอดตลาดได้ และทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลย ถือว่ามีเจตนาทุจริตจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (11 ) วรรคแรก

ทรัพย์ของผู้อื่น

กรณีฝากทรัพย์ ถือว่า เงินที่ฝากตกเป็นกรรมสิทธิของผู้รับฝากแล้ว ผู้รับฝากคงมีหน้าที่คืนเงินตามจำนวนที่รับฝากเท่านั้น ดังนั้น การที่ธนาคารถอนเงินจากบัญชีของผู้ฝาก จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 624 / 2553 การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ปรากฏว่า เงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกความไปนั้น เป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิและอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้รับฝาก ย่อมมีกรรมสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวน ที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์

เจตนาโดยทุจริต หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

เอาทรัพย์ของผู้อื่นไป ด้วยเป็นการหยามน้ำหน้ากัน ด้วยความคึกคะนอง เพื่ออวดเพื่อน หรือด้วยอารมณ์โกรธแค้นที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่มีเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 4792 / 2533 จำเลยที่ 1 กับพวกชกต่อยกับพวกผู้เสียหาย จำเลยกับพวกได้ดึงเอากระเป๋าของผู้เสียหายไป แล้วพูดว่า อยากได้ของให้ตามมาเอา จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้หลบหนี จนกระทั่งถูกตำรวจเข้าจับกุมพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีเจตนาดึงทรัพย์สินก็เป็นการหยามน้ำหน้ากันเท่านั้น เป็นการกระทำไปด้วยความคึกคนอง เพื่ออวดแสดงเพื่อนให้เห็นเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปโดยทุจริต จำเลยที่หนึ่งไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 2753 / 2539 จำเลยกับพวกขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทาง บังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายถอดเสื้อฝึกงาน และแหวนรุ่นที่ทำด้วยเงิน ซึ่งมีราคาเล็กน้อย จำเลยกับพวกกระทำไปเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคึกคะนอง เพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาต่างสถาบันที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับสถาบันของจำเลย เห็นว่าเป็นคนเก่งพอที่จะรังแกคนได้ ตามวิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้น มิใช่มุ่งหมายเพื่อให้จะได้ประโยชน์จากทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรก

จำเลยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหาย แล้วขับรถของผู้เสียหายไปทิ้งและหลบหนีไปอยู่ที่อื่น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1337 / 2532 ผู้เสียหายขับรถยนต์โดยสารไปส่งคนโดยสารที่ปลายทาง เมื่อจอดรถให้คนโดยสารลงแล้ว จำเลยเดินมาตบหน้าผู้เสียหายหนึ่งที ผู้เสียหายเปิดประตูลงจากรถเพื่อจะชกจำเลย จำเลยขึ้นไปบนรถขับแล่น วนไปวนมาในบริเวณที่เกิดเหตุประมาณ 5 นาที แล้วขับรถไปจอดทิ้งไว้ในทุ่งนา ซึ่งมีป่าละเมาะห่างจากถนนประมาณครึ่งกิโลเมตร และห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตร ประกอบกับจำเลยได้หลบหนีไปอยู่ที่อื่น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเอารถของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยตบหน้าผู้เสียหายเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (1) – (5) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่น ไม่ถึงกับเป็นอันตรายตามมาตรา 391 กระทงหนึ่ง และความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 อีกกระทงหนึ่ง

เปรียบเทียบกับฎีกา 216 / 2509 ตามฎีกานี้ จำเลยเอาปืนของผู้เสียหายไปทิ้งน้ำ เพราะกลัวว่าผู้เสียหายจะยิง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีเจตนาเอาปืนของผู้เสียหายไป ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

      พิพากษาฎีกาที่ 216 / 2509 จำเลยยอมให้ผู้เสียหายร่วมประเวณีมีสิ่งตอบแทน แต่ผู้เสียหายผิดข้อตกลง จำเลยจึงไม่พอใจจึงได้ทำร้ายผู้เสียหาย แล้วเอาปืนผู้เสียหายไปทิ้งน้ำ ที่ปลักน้ำกลางทุ่งนา เพราะกลัวผู้เสียหายจะยิงเอา การเอาปืนไปทิ้งน้ำโดยไม่ได้นำเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน หรือผู้อื่น แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์ การเอาปืนของผู้เสียหายไปทิ้ง จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนไฟฉายนั้น ผู้เสียหายก็ให้จำเลยไปส่องทาง จำเลยเอาไปไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต ที่ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ เพราะไม่ถือว่าเป็นลักทรัพย์ โดยเหตุที่ความผิดฐานชิงทรัพย์ประกอบด้วยความผิดฐานลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 339 แต่อย่างไรก็ดี ตามข้อเท็จจริงตามฎีกานี้ ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แล้ว

      มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ จำเลยเอาปืนไปทิ้งน้ำ เพราะกลัวผู้เสียหายจะยิง ไม่เป็นการประสงค์เอาทรัพย์ไม่เป็นลักทรัพย์ แต่ถ้าเอาทรัพย์ทิ้งน้ำ หรือเอาไปไว้ที่อื่น เพื่อซ่อนเร้น ไม่ให้เจ้าทรัพย์ติดตามเอาคืน ดังนี้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว

      คำพิพากษาฎีกาที่ 965 / 2521 เอารถของผู้เสียหายไปทิ้งแม่น้ำ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เข้าลักษณะความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 กับพวกเอารถของกลางไปทิ้งแม่น้ำ หรือเอาไปไว้ที่อื่นนั้น ก็เพื่อซ่อนเร้นรถของกลางไว้ มิให้เจ้าทรัพย์ติดตามเอาคืน หาทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกพ้นความผิดไม่

การเอาทรัพย์ไปฝังดินไว้ เพื่อนำมาแบ่งกันในภายหลัง เป็นการเอาทรัพย์ไปโดยทุจริต แล้วมีความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 8329 / 2540 การที่จำเลยที่ 1 เอาทรัพย์ของผู้ตายไปฝังดินไว้ภายหลังจากการฆ่าผู้ตาย โดยจะขุดมาแบ่งกับพวกเมื่อเรื่องเงียบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 1 จะขุดขึ้นมาภายหลังหรือไม่ เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เสร็จสมบูรณ์แล้วเปลี่ยนแปลงไป

เก็บรองเท้าของผู้อื่นที่ตกไว้เนื่องจากการทะเลาะวิวาท แล้วนำไปมอบให้แก่พนักงานสอบสวน ไม่มีเจตนาทุจริต

      คำพิพากษาฎีกาที่ 4200 / 2545 รองเท้าแตะของโจทก์ร่วม ตกอยู่ที่บริเวณประตูบ้านของจำเลย ก็เพราะโจทก์ร่วมทำหลุดไว้ เนื่องจากเหตุวิวาทชกต่อยกันระหว่างจำเลยกับ ส. จำเลยจึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน แล้วเก็บรองเท้าแตะของโจทก์ร่วมแล้ว นำไปมอบให้กับพนักงานสอบสวน แสดงว่าจำเลยไม่ได้เอารองเท้าแตะของโจทก์ร่วมไปเป็นของตนหรือผู้อื่น ในลักษณะที่เป็นการประทุษร้ายต่อกรรมสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ร่วม แม้จำเลยจะไม่มีสิทธิเก็บรองเท้าแตะของโจทก์ร่วมไว้ก็ตาม ก็มิใช่เหตุที่จะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นเจตนาทุจริตไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยถือวิสาสะในความเป็นญาติ ไม่มีเจตนาทุจริตไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3772 / 2529 จำเลยกับผู้เสียหายเป็นคู่เขยกัน การที่จำเลยเข้าไปบ้านเอาปืนของผู้เสียหายเพื่อไปเฝ้าข้าวในนา ก็เลยถือวิสาสะในความเป็นญาติ ดังนี้การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3894 / 2531 จำเลยและ ป. ผู้เสียหายเป็นพี่น้องกัน จำเลยมาขอยืมรถจักรยานยนต์จาก ป. แต่ ป.ไม่ให้จำเลยจึงแสดงกริยาเอะอะโวยวาย แล้วต่อมาก็ได้มาเอารถจักรยานยนต์ไปขับขี่ พาเพื่อนไปรับประทานอาหาร การกระทำของจำเลยในการเอารถจักรยานยนต์ไป เป็นเพียงการถือวิสาสะฉันพี่น้อง และเมื่อเอาไปแล้ว ก็ไม่ได้พาหลบหนีแต่อย่างใด จำเลยจึงขาดเจตนาทุจริตไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

      สรุป คดีลักทรัพย์ ปอ. มาตรา 334 ถือเป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ หรือเพื่อยึดถือทรัพย์นั้นมาเป็นของตน หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามกระทู้ข้างบนแล้ว แนะนำให้รับสารภาพ และคืนทรัพย์ที่ลักไป หากใช้คืนไม่ได้ ก็ให้ชดใช้ราคาแทน แต่หากยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิด อาจเนื่องด้วยถูกใส่ร้ายหรือเหตุอื่นใดก็ตาม แนะนำให้แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดีครับ

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE