คนไร้ความสามารถ

https://pantip.com/topic/30996655

คนไร้ความสามารถ

          บุคคลวิกลจริตกฎหมายถือว่า เป็นผู้ไม่มีความสามารถ หรือการใดที่ คนไร้ความสามารถทำนิติกรรม จึงต้องได้รับการคุ้มครอง ผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือทางอื่น จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตนั้น เป็นคนไร้ความสามารถได้ตามมาตรา 28

1. หลักเกณฑ์การเป็นคนไร้ความสามารถ

          คนไร้ความสามารถ คือบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา 28 อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น มิได้หมายถึงเฉพาะบุคคลวิกลจริตที่มีจิตใจผิดปกติหรือเป็นบ้าเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลที่มีกริยาอาการผิดปกติ เพราะสติวิปลาส  คือขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบ จนไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ ได้เลย

          คำพิพากษาฎีกาที่ 5466 / 2537  จ. ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเองและพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อ หรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ตลอดจนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่า  จ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้พอ จะถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามมาตรา 28 แล้ว

          คำพิพากษาฎีกาที่ 74 / 2511 คนอายุ 92 ปี ไม่รู้จักตนเองไม่รู้สึกตัว พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ถือเป็นคนวิกลจริตแล้ว

ผู้มีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้เป็นบุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ
มีบัญญัติไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ได้แก่
(1) คู่สมรส
(2) ผู้บุพการี คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
(3) ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
(4) ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์
(5) ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้นั้นอยู่
(6) พนักงานอัยการ

          นอกจากบุคคลตาม (1 ) ถึง (6) แล้วยังรวมถึง บุตรบุญธรรม ที่ได้มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมแล้วด้วย  และ มีข้อยกเว้นอยู่ในมาตรา 1610 กรณีที่มรดกตกทอดแก่บุคคลวิกลจริต และบุคคลนั้ นยังไม่มีผู้อนุบาลเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลตั้งผู้อนุบาล

2. การให้คนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาล

มาตรา 28 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็น คนไร้ความสามารถ ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล

ผู้อนุบาลได้แก่

          (1) ผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา 1569 บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถบิดามารดาย่อมเป็นผู้อนุบาลกรณีบุตรบุญธรรมที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา 1598 / 28  ย่อมเป็นผู้อนุบาล

          (2)  บิดามารดาตามมาตรา 1569 / 1 วรรคสอง กรณีบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถบิดามารดาหรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลเว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น

          (3) สามีหรือภริยาตามมาตรา 1463 กรณีศาลสั่งให้สามีหรือพยาเป็นคนไร้ความสามารถภรรยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลแต่หากมีเหตุสำคัญที่แสดงว่าบุคคลนั้นไม่เหมาะสมเช่นมีความประพฤติไม่เหมาะสมเป็นผู้อนุบาลได้

          ข้อสังเกตมาตรา 1569 เป็นกรณีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาตรา 1569 / 1  วรรคสอง  เป็นกรณีบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสและมาตรา 1463 เป็นกรณีบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและมีคู่สมรส

          (4) บุคคลอื่นนอกจาก (1) ถึง (3) ตามมาตรา 1569 / 1 วรรคสอง กรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือคู่สมรสศาลก็จะตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาล

3. ผลของการทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ

          คนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมใดๆ ได้เลยต้องให้ผู้อนุบาลทำแทน แม้ขนาดนั้นคนไร้ความสามารถจะไม่เกิดอาการวิกลจริตก็ตาม หากคนไร้ความสามารถได้กระทำลง นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะตามมาตรา 29 แม้จะเป็นนิติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของตนก็ตาม เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ให้กระทำซึ่งแตกต่างจากกรณีผู้เยาว์

          สำหรับกรณีที่มีความสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1574 ผู้อนุบาลจะกระทำโดยพละการไม่ได้ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตามมาตรา 28 วรรคสองมาตรา 1574 ประกอบ 1598 /18

          คำพิพากษาฎีกาที่ 6350 / 2541 (ป) แม้ ส. ได้กระทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในขณะที่ ส. เป็นปกติอยู่ก็ตามแต่ในช่วงเวลาที่ ส. จะต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายนั้นเป็นเวลาที่  ส. ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้องแล้ว  ดังนั้น  เมื่อผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลประสงค์จะปฎิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยการดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อขายผู้ร้องต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตามมาตรา 28 วรรคสองและมาตรา 1574 (1) ประกอบ มาตรา 1598 / 18 วรรคสอง

          การสมรสและการทำพินัยกรรมของคนไร้ความสามารถมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังนั้นผลของการสมรส (มาตรา 1449 และมาตรา 1496 )  และการทำพินัยกรรม (มาตรา 1704 วรรคหนึ่ง ) ของคนไร้ความสามารถเป็นโมฆะ

4 . ความสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ เมื่อเหตุที่จะทำให้การเป็นคนไร้ความสามารถสิ้นสุดลงคนไร้ความสามารถเองหรือบุคคลตามมาตรา 28 มีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา 31

สรุป ผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล ผู้อนุบาลจะเป็นผู้กระทำการแทน คนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรม คนไร้ความสามารถไม่สามารถกระทำนิติกรรมใดๆ ได้ด้วยตนเอง หาก คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมนั้น ถือเป็นโมฆียะ สำหรับนิติกรรมที่มีความสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1534 ผู้อนุบาลจะกระทำโดยพละการไม่ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE