ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน

https://pantip.com/topic/32690054

ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน บัญญัติว่า
“ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต”

องค์ประกอบความผิดข้อ 1. เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล

          คำพิพากษาฎีกาที่ 13650/2558 เมื่อจำเลยมีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้ง พนักงานเทศบาลหรือการอื่นใด ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาล การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานเทศบาล ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย เมื่อจำเลยเรียกและรับเงินจาก ป. เพื่อช่วยเหลือให้ น. บุตร ป. เข้าทำงานเป็นพนักงานเทศบาล จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกคำสั่งเกี่ยวกับการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลเรียก และรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบแล้ว กระทำการในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือ น. ให้เข้าทำงานเป็นพนักงานเทศบาล เป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ครบองคืประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้ว

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2292/2560 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานเทศกิจกรุงเทพมหานคร ได้ทำการสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ค้าในจุดผ่อนผันให้ทำการค้า ตามคำสั่งให้รับผิดชอบ เป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อเสนอจ่ายเงินให้รับบัตรประจำตัวผู้ค้า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

  • แต่ไม่อาจถือว่าระหว่างเวลาที่ถูกออกจากราชการไว้ก่อนนั้นเป็นเจ้าพนักงาน

          คำพิพากษาฎีกา 5182/2559 การที่จำเลยได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่ จึงไม่อาจถือว่า ระหว่างเวลาที่ถูกออกจากราชการไว้ก่อนนั้น เป็นเจ้าพนักงาน ในระหว่างนั้นกระทำการเรียกรับเงิน จากนาย ป. จึงไม่มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตาม ปวิอ. มาตรา 17 ไม่ครบองค์ประกอบของความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงาน จึงไม่ผิด

          “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ” ได้แก่ ส.ส. และ ส.ว. เป็นต้น หาก ส.ส. ไม่มีอำนาจหน้าที่นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภา เป็นการกระทำนอกหน้าที่ ดังนั้นเมื่อ ส.ส. เรียกรับแลกกับการไม่นำเรื่องเท็จไปอภิปรายนในสภา จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 149 แต่ผิดฐานกรรโชกทรัพย์

          “ตุลาการ พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา” หากเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เช่นเดียวกับที่บัญยัติไว้ในมาตรานี้ เป็นความผิดมาตรา 201

องค์ประกอบความผิดข้อที่ 2. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

          คำว่า “ทรัพย์สิน” หมายถึง ทรัพย์ที่มีรูปร่าง บ้าน รถ เพชร พลอย ทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

          “สำหรับประโยชน์อื่นใด” มีควาหมายกว้างมาก ซึ่งรวมถึง การทำงานให้ ปลดหนี้ให้ หรือเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น การที่ ส.ส. หรือ ส.ว. ลงมติในสภาเพื่อตอบแทนการที่จะได้ประโยชน์อื่นใด ก็ถือเป็น ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน

          การเรียกทรัพย์สินหรือประโยชน์อาจจะกระทำด้วยวาจา หรือทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แม้ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงิน ก็ถือว่าเรียกทรัพย์แล้ว

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3155/2531 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด ได้จับกุมผู้กระทำความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ พร้อมของกลางแล้วไม่ส่งให้สถานีตำรวจทันที กลับพาไปในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น และให้ผู้ถูกจับกุมโทรศัพท์ติดต่อกับบุคลคลที่เกียวข้องเพื่อให้มาตกลงกัน เพื่อพาผู้ถูกจับกุมจับไปสถานีตำรวจ จำเลยเข้าไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เท่านั้น และไม่มอบบันทึกการจับกุมและของกลางให้ ทั้งไม่นำตัวผู้ต้องหาเข้าไปด้วย แสดงว่าเป็นเพียงแผนการของจำเลย ให้ผู้ต้องหากลัวและหาทางตกลงกับจำเลย จำเลยไม่มีเจตนาที่จะมอบผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนจริง พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่า เป็นการเรียกทรัพย์สินจากผู้ต้องหาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงิน และฝ่ายผู้ต้องหายังไม่ได้ตอบตกลงเท่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149

  • แม้ผู้เรียก ยังไม่ได้รับทรัพย์สิน ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1246/2510 ความผิดตามมาตรา 149 เพียงแต่เรียก ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ยังไม่ได้ทรัพย์ที่เรียกไปก็ตาม หรือแม้จะมีการกลับกระทำการโดยชอบด้วยหน้าที่ในภายหลังก็ตาม ก็ถือว่า เป็นความผิดสำเร็จแต่ขณะเรียกแล้ว หาใช่พยายามไม่

  • ถ้าหากฟังไม่ได้ว่า เป็นการเรียกสินบนแล้ว ไม่เข้าองคืประกอบ ไม่เป็นความผิดมาตรา 149 แต่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 157

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3677/2525 จำเลยเป็นตำรวจม้า ยึดพลอยหนีภาษีแล้วปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง หากแต่เป็นการใช้อำนาจยึดพลอยไปจากโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 149 แต่เป็นความผิดตามาตรา 157

องค์ประกอบความผิดข้อ 3. เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1524/2551 จำเลยเป็นตำรวจมีหน้าที่สืบสวน จับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่ อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุม และเรียกร้องเงินจำนวน 1,500 บาท จาก ส. เพื่อจะไม่ทำการจับกุมตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

  • การเรียกรับเงินเพื่อไม่กระทำการ ที่ถือว่าไม่ชอบด้วยหน้าที่ เช่น คนร้ายให้เงินตำรวจ ตำรวจจึงไม่จับ

          การเรียกรับเงินเพื่อกระทำการตามหน้าที่ แม้ว่าการนั้นจะชอบด้วยหน้าที่ ก็เป็นความผิดได้ เช่น ตำรวจเรียกเงินจากผู้เสียหายเพื่อไปจับกุมผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และติดตามเอาทรัพย์มาคืนให้ แม้จะกระทำโดยชอบด้วยหน้าที่ แต่การเรียกเงินนั้น เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นความผิด

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2488/2558 การที่ตำรวจน้ำเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันไปจนถึงน่านน้ำเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ประกอบการน้ำมันดีเซล การที่จำเลยรับเงินแล้ว สั่งการให้ตำรวจกองตำรวจน้ำเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แม้จะนำเงินมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษให้แก่ตำรวจกองตำรวจน้ำที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในเรือบันทุกน้ำมันก็ตาม ก็เป็นการรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด

  • หากเป็นเรื่องทำนอกหน้าที่ นอกตำแหน่ง จะไม่เข้ามาตรา 149

องค์ประกอบความผิดข้อที่ 4. เจตนา (ธรรมดา)

ข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 149 ดังนี้

ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 148 มีเฉพาะเจ้าพนักงาน แต่มาตรา 149 รวมถึง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด และสมาชิกสภาเทศบาล ด้วย

          การทุจริต ทุจริตเชิงนโยบาย หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐมนตรี แม้มาตรา 149 ไม่ได้บัญญัติเอาผิดแก่รัฐมนตรีไว้โดยเฉพาะ แต่รัฐมนตรีเป็นเจ้าพนักงาน เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 และ 20 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงถือว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(16) ตามจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 149 ในฐานะเป็น “เจ้าพนักงาน” ไม่ใช่ “สมาชิกสภานิติบัญญัติ”

มาตรา 149 จะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับ มาตรา 201 กรณีเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเรียกรับสินบนด้วย

หากบรรยายฟ้องไม่ครบตามองค์ประกอบ มาตรา 149 ศาลไม่อาจลงโทษตามมาตราดังกล่าวได้ แต่ถ้าพนักงานอัยการขอให้ลงโทษตามมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปมาด้วย ศาลฎีกาก็ลงโทษตามมาตรา 157 ได้

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE