วันนี้ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี จะขอรวบรวม คำพิพากษาฎีกา มรดก ไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษาของนักกฎหมายท่านอื่น หรือเพื่อให้เป็นวิทยาทานแก่ประชาชนทั่วไปที่อยากรู้เรื่องกฎหมายอันเกี่ยวกับมรดก
คำพิพากษาฎีกา 700 / 2517 จำเลยเป็นภรรยาของผู้ตาย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จำเลยจึงไม่ใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย อันจะถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมที่จะมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737
คำพิพากษาฎีกา 2562 / 2520 เจ้าของรวมคนหนึ่งหนึ่งมีสิทธิฟ้องทายาทคนหนึ่งคนใดของเจ้าของรวมคนอื่นให้แบ่งทรัพย์สินได้ไม่จำเป็นต้องฟ้องทายาททุกคน
คำพิพากษาฎีกาที่ 2379 / 2523 เจ้าหนี้กองมรดกชอบที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 และถึงแม้จะอ้างว่า ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งมรดก ก็ไม่เป็นเหตุที่จะขัดขวางโจทก์ในการที่จะฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นทายาทของผู้ค้ำประกัน เพราะถ้าเป็นความจริงดังกล่าว ก็เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ซึ่งต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี
คำพิพากษาฎีกาที่ 2786 / 2523 โจทก์เป็นเจ้าหนี้กองมรดก ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายให้ร่วมกันนำเงินและทรัพย์สินในกองมรดกมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เป็นกรณีที่เจ้าหนี้กองมรดกฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดก แม้ต่อมา จำเลยทั้งสองได้สละมรดกเสียในระหว่างพิจารณาโจทก์ก็ยังมีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว หากแต่ฟ้องในฐานะเป็นทายาท และก็เพื่อให้โจทก์ได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกดังกล่าวแล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ 3613 / 2525 ทรัพย์มรดกของผู้ตายยังไม่ได้แบ่งปันระหว่างทายาท เจ้าหนี้กองมรดกอาจบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกได้เมื่อจำเลยได้ชำระหนี้ที่กองมรดกจะต้องชำระไปก็ต้องหักออกจากกล่องมาดกให้ใช้จำเลยก่อนจับมรดกส่วนที่เหลือจึงจะแบ่งปันให้ทายาทได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1393 / 2526 จำเลยเป็นเพียงทายาทโดยธรรม แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ดังนั้นแม้จำเลยจะทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ชำระหนี้สินต่างๆของผู้ตายให้แก่โจทก์จนครบก็ตาม แต่ความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตาย ไม่จำต้องรับเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
คำพิพากษาฎีกาที่ 3996 / 2540 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมขอให้บังคับคดีเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยได้ โดยไม่ต้องรอให้มีผู้จัดการมรดก หรือแบ่งมรดกระหว่างทายาทของจำเลยก่อน
คำพิพากษาฎีกาที่ 7495 / 2540 แม้ว่ามรดกนั้นมีเพียงหนี้สินที่เจ้ามรดกจะต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่นๆอีกก็ตาม แต่ทายาทก็ไม่อาจอ้างว่า ตนไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้ หากมีความผิดสัญญาและกรณีที่ไม่เปิดช่องให้บังคับในการโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาทายาทผู้รับมรดก ก็ต้องรับผิดในส่วนที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา หรือต้องชำระเบี้ยปรับตามที่กำหนดในสัญญาด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 809 / 2545 เมื่อเจ้ามรดกเป็นหนี้เจ้าหนี้ และถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมทั้งสามของเจ้ามรดก ย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ และความรับผิดต่อเจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากทายาททั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมได้ เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1601 ส่วนการที่ทายาททั้งสามจะได้รับมรดกจากเจ้ามาดก และเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี
คำพิพากษาฎีกาที่ 3351 / 2531 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้ตาย ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้รับผิดชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ จำเลยจะยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้รับมรดกผู้ตาย ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท และจำเลยไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก เพื่อเป็นเหตุตัดอำนาจฟ้องของโจทก์หาได้ไม่ เพราะข้ออ้างดังกล่าว หากเป็นจริงก็เป็นเรื่องต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี ทั้งทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1601 อยู่แล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ 1939 / 2535 ป. กู้เงินไปจากโจทก์เมื่อ ป. ตาย โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ป. ให้ชำระหนี้เงินกู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1737 โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยได้รับมรดกของ ป. หรือไม่เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตามมาตรา 1601 , 1738 วรรคสอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 792 / 2506 (ประชุมใหญ่) ในกรณีที่ได้แบ่งมรดกกันแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องให้ทายาทคนใดชำระหนี้ของเจ้ามรดกเจ้าหนี้นั้น ก็มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นรับไป หามีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับเอาจากทายาทคนอื่นที่ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 4 / 2505 บำนาญตกทอดเป็นการให้สิทธิที่จะได้เงินช่วยเหลือแก่ทายาท หรือผู้อุปการะ หรือผู้อยู่ในอุปการะโดยตรง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ตายจึงไม่เป็นมรดก
คำพิพากษาฎีกาที่ 2401 / 2515 (ประชุมใหญ่) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินสังขารนุเคราะห์ เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์ จะได้รับภายหลังจากที่สมาชิกขององค์กรสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขถึงแก่ความตาย มิใช่ทรัพย์สินที่สมาชิกผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 370 / 2499 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยทำสัญญาไว้กับมารดาโจทก์ว่า ห้องแถว 4 ห้อง ที่จำเลยปลูกลงในที่ดินของมารดาโจทก์นั้น ยกให้มารดาโจทก์ 2 ห้อง ส่วนอีก 2 ห้อง จำเลยเข้าครอบครอง และภายใน 10 ปีนับแต่วันสร้างห้องแถว เมื่อมารดาโจทก์ต้องการซื้อห้องแถว 2 ห้องนั้น จำเลยจะขายให้เท่าราคาที่ก่อสร้าง ต่อมามารดาโจทก์ตายโดยยังไม่ได้ซื้อ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทแสดงความจำนงขอซื้อ จำเลยไม่ยอมขายดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิของมารดาโจทก์อันเกิดจากสัญญา ที่ทำไว้กับจำเลยตามกฏหมาย หรือว่าโดยสภาพแล้ว ไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ และจึงตกทอดเป็นมรดกไปยังทายาท โจทก์จึงใช้สิทธิซื้อห้องพิพาทจากจำเลยได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 272 / 2501 ผู้ตายตกลงซื้อที่สวนจากจำเลย โดยวางเงินมัดจำไว้แล้ว สัญญาว่าจะโอนให้แล้วเสร็จใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญา ต่อมาผู้ซื้อถึงแก่ความตาย เมื่อโจทก์เป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมาขอซื้อตามที่ผู้ตายได้ตกลงไว้ จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย และจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาไม่มีอำนาจ ฟ้องศาลฎีกาวินิฉัยว่า สัญญาซื้อขายไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ย่อมตกแก่โจทก์ ผู้เป็นทายาทตามมาตรา 1600 โจทก์มีสิทธิฟ้องได้ และพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา
คำพิพากษาฎีกาที่ 455 / 2512 (ประชุมใหญ่) หน้าที่โอนขายที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และคำพิพากษาตามยอมนั้น กฎหมายและโดยสภาพไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จึงเป็นมรดกของผู้ตาย ผู้ซื้อในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาที่ดินของผู้ตาย โอนชำระหนี้ให้แก่ตนได้ตามคำพิพากษา
คำพิพากษาฎีกาที่ 1471 / 2494 การเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติฝ่ายผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่า จะสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้ทรัพย์ที่เช่า และในการดูแลรักษาทรัพย์ที่เช่าหรือไม่ ฉะนั้น สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าตาย สัญญาเช่าก็เป็นอันระงับ ไม่ตกทอดไปยังทายาท
คำพิพากษาฎีกาที่ 2760 / 2534 ส. เป็นผู้เช่าตึกแถวพิพาท โดยมิได้มีข้อตกลงที่เป็นการต่างตอบแทนชนิดพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จึงเป็นสัญญาเฉพาะตัวของ ส. เมื่อ ส. ตายสัญญาเช่าย่อมระงับไป ไม่ตกทอดไปยังทายาท สิทธิในการเช่าตึกแถวพิพาทจึงไม่ใช่มรดกของ ส.
คำพิพากษาฎีกาที่ 1008 / 2537 สัญญาเช่า เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อผู้เช่าตาย ไม่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาท โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ผู้เช่า จึงไม่อาจสงวนสิทธิการเช่าของ บ. ได้ และไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยเกี่ยวกับสิทธิการเช่าดังกล่าวได้อีก เพราะสิทธิการเช่าของ บ. เป็นอันสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ บ. ตาย ไม่มีสิทธิการเช่าที่จะบังคับแก่จำเลยได้อีกต่อไป
คำพิพากษาฎีกาที่ 1094 / 2556 ตามสภาพแห่งข้อหาของคำฟ้องแสดงสิทธิของโจทก์ ฟ้องคดีโดยฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาผู้เช่าที่ดินจากผู้ตายผู้ให้เช่า สิทธิตามสัญญาเช่าของผู้ตายที่มีต่อจำเลยที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิตามสัญญาเช่า เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 368 / 2532 สิทธิในการบังคับคดีขับไล่จำเลยออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ เป็นสิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดไปยังทายาทเมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตาย ผู้ร้องเป็นบุตรคนหนึ่งของโจทก์ ซึ่งถือว่าเป็นทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 (1) จึงมีสิทธิขอรับมรดก เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้ว่าจำเลยจะเป็นบุตรของโจทก์อันเป็นทายาทโดยทำมีสิทธิรับมรดกของโจทก์ด้วย ก็มิได้เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องในการขอเข้ารับมรดกความแทนโจทก์แต่ประการใด
คำพิพากษาฎีกา มรดก ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงเรื่อง สิทธิการเช่าที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่าโดยแท้จริง หรือการถูกฟ้องจากเจ้าหนี้จากกองทรัพย์มรดก ที่ทายาทคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE