คู่ความมรณะ

https://pantip.com/topic/30965340

คู่ความมรณะ

          มาตรา 42 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล  ได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี  ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ

          1. คู่ความตามมาตรา 42 นี้หมายความเฉพาะตัวความเท่านั้น  คือตัวโจทก์  หรือตัวจำเลยหรือผู้ร้องสอดไม่รวมถึงบุคคลอื่น  ถึงแม้ว่ามาตรา 1(11)  จะได้อธิบายคำว่าคู่ความไว้เพราะกรณีผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่ความฝ่ายที่ไร้ความสามารถได้มรณะ  ผู้แทนหรือทนายความได้แยกบัญญัติไว้ในมาตรา 45 แล้ว

          2. กรณีจำเลยถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้อง ไม่มีสภาพเป็นบุคคลไม่อาจเป็น คู่ความมรณะ

          3. คู่ความมรณะ ในชั้นบังคับคดี เมื่อตัวความคนใดคนหนึ่งมรณะในระหว่างการพิจารณาคดีแล้วก็จะต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 กรณีตามมาตรา 42 ใช้เฉพาะในระหว่างการพิจารณาคดีนั้น ถ้าความมรณะของตัวความเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลพิพากษาคดีเสร็จแล้ว และอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ก็ถือว่าเป็นเรื่องรับมรดกตามปกติ ต้องบังคับตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1599 ถึง 1600 ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 42 เพราะไม่ใช่การเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตามมาตรา 42

          4. คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล สำหรับถ้อยคำในมาตรา 42 ที่บัญญัติว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดี ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล  คำว่า คดีที่ค้างพิจารณา หมายความรวมถึง คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในทุกชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา  ก็ต้องใช้วิธีตามมาตรา 42 ทั้งนั้น และมีความหมายรวมถึง คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล ระหว่างกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาด้วย

          5. ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไป  กรณีนี้ ข้อเท็จจริงเข้ามาสู่ศาลว่า คู่ความมรณะ ระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล  ศาลจะต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาออกไป และมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการขอเข้าเป็นคู่ความแทนเสียก่อน จึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้

          6. ในกรณีที่ตัวความตาย แต่ไม่มีผู้ใดแถลงให้ศาลทราบ และศาลดำเนินการพิจารณาไปตามปกติ ในกรณีเช่นนี้ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่า การที่ศาลไม่ได้สั่งให้เลื่อนคดี แต่คงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเรื่อย ๆ  แม้ว่าตัวความจะตายลงแล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในระหว่างนั้น ก็ใช้ได้ ไม่เสียไป กล่าวคือ ต้องมีข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนศาลว่า คู่ความได้มรณะลงระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล

          7. ผู้ที่จะเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะมาตรา 42 ได้กำหนดตัวบุคคลไว้ 3 จำพวกด้วยกัน

          จำพวกแรก   ได้แก่ “ทายาท” ซึ่งหมายความรวมถึง ทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ ทายาทในฐานะที่เป็นผู้รับพินัยกรรม ด้วย ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมก็มีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ตายได้

          จำพวกที่สอง  ได้แก่ ผู้จัดการทรัพย์มรดก ก็มี 2 ประเภท คือ ผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายหรือเจ้ามรดกได้แต่งตั้งไว้โดยพินัยกรรม และ ผู้จัดการมรดกที่ศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ผู้จัดการมรดกทั้งสองประเภทนี้ ต้องถือว่าเป็นผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ตายได้

          จำพวกที่สาม  ได้แก่ ผู้ปกครองทรัพย์มรดก  กล่าวคือ ทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ในความครอบครองดูแลของผู้ใด ก็ถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดก ซึ่งมีสิทธิที่จะเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ตายได้เช่นเดียวกัน

          8. วิธีการที่จะเข้าเป็นคู่ความแทนที่มรณะ จะต้องปฏิบัติอย่างไรนั้น มาตรา 42 วรรคแรก ตอนท้ายบัญญัติไว้ว่า “โดยมีคำขอเข้ามาเองหรือโดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามาเนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว” ดังนั้นการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ตามมาตรา 42 จึงมีได้สองวิธีด้วยกัน วิธีแรก คือ บุคคลทั้งสามจำพวกที่กล่าวมาแล้วนั้น ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ตาย วิธีที่สอง คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้ศาลเรียกเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ตาย

          9. การอนุญาตให้บุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะตามมาตรา 42 นั้น เป็นดุลพินิจของศาล

          10. กำหนดระยะเวลาในการเข้ามาเป็นแทนที่คู่ความมรณะ ในข้อความตอนท้ายของมาตรา 42 วรรคแรก   บัญญัติว่า  “คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ” หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่เองก็ดี ขอให้ศาลหมายเรียกเข้ามาในคดีก็ดี จะต้องขอภายในหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่ตัวความนั้นมรณะ

          ถ้าไม่ขอเข้ามาภายในกำหนดดังกล่าวแล้ว มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้วหรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนด  ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นออกจากสารบบความ”   ดังนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ภายในหนึ่งปี หรือไม่มีคู่ความคนใดขอให้ศาลเรียกให้เข้ามาแทนที่ภายในหนึ่งปี ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดี เช่นนี้ นอกจากมาตรา 42 วรรคสอง ก็ยังมีบัญญัติไว้ในมาตรา 132 ซึ่งมีข้อความว่า “ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียออกจากสารบบความโดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องนั้น และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร

          11. กรณีที่คู่ความแต่งตั้ง ทนายความ  แม้คู่ความมรณะ ทนายความซึ่งเป็น ตัวแทน ยังคงมีอำนาจและมีหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของคู่ความ ซึ่งเป็นตัวการต่อไปได้ตามมาตรา 828 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อครบหนึ่งปี นับแต่วันที่คู่ความมรณะแล้ว ไม่มีบุคคลใดยื่นคำขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ก็ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารระบบความ

          12. ศาลมีอำนาจสั่งคำร้องต้องนำบทบัญญัติมาตรา 42 ไปใช้เสมอ สำหรับการสั่งเกี่ยวกับการที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ให้เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ตลอดจนการสั่งจำหน่ายคดีให้เป็นอำนาจของศาลซึ่งคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา

          13. คดีเกี่ยวด้วยสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความกรณีที่ตัวความตายลงในระหว่างพิจารณานั้น ในบางครั้งก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องวิธีการตามมาตรา 42 เพราะเหตุที่ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องมีการพิจารณาคดีนั้นต่อไปอีก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องมีการเข้าเป็นคู่ความแทนที่ แต่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีไปทีเดียวดังที่มาตรา 132 (3)  บัญญัติไว้ว่า ถ้าความมรณะของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังให้คดีนั้นไม่มีประโยชน์ต่อไป

          14. กรณีผู้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะถึงแก่ความตายในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน จะมีการร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้ร้องขอซึ่งมรณะอีกไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้ร้องขอ

          15. ผลของคำสั่งศาลคำสั่งศาลที่อนุญาตให้มีการแทนที่คู่ความมรณะ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 เพราะคำสั่งศาลที่อนุญาตตามคำร้องขอที่เข้ามาแทนที่คู่ความมรณะ และหรือคำร้องที่ขอให้ศาลหมายเรียกผู้อื่นเข้ามาแทนที่คู่ความมรณะนั้น ไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล เมื่อศาลอนุญาตแล้วยังมีกรณีจะต้องดำเนินการกระบวนพิจารณาต่อไป

          16. หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตคำสั่งไม่อนุญาตตามคำร้องหรือยกคำร้องนั้น เป็นการจำหน่ายคดีไปเลย จึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา แม้ในกรณีที่ศาลไม่สั่งจำหน่ายคดีเพราะทำให้ประเด็นเรื่องที่บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะนั้นเสร็จไปจากศาล

          17. สิทธิดำเนินคดีการเข้าเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะ เพื่อให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นไป ไม่ได้เข้ามาในฐานะส่วนตัว แต่เป็นเพียงเข้ามาแทนที่คู่ความเดิมฐานะเดียวกัน ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะไม่ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวจึงมีสิทธิดำเนินคดีเพียงเท่าที่คู่ความเดิมมีอยู่เท่านั้น

          18. ศาลจะพิพากษาให้ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนรับผิดชำระหนี้มิได้

หากไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานทนายความ อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE