ค่าจ้างแรงงาน

ค่าจ้างแรงงาน หรือค่าตอบแทนในการทำงาน

     การคุ้มครองค่าตอบแทนในการทำงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินตอบแทนจากการทำงาน ในอัตราที่เหมาะสม ตรงตามกำหนดเวลาจ่าย เต็มจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดหรือเต็มจำนวนตามที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ ค่าตอบแทนในการทำงานมี 4 ประเภท คือ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

     ค่าจ้างตามมาตรา 5 ได้กำหนดนิยามค่าจ้างไว้ว่า ค่าจ้าง หมายความว่าเงินที่นายจ้าง และลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทน ในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด และวันลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

ดังนั้นนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” จึงแยกองค์ประกอบได้ดังนี้

     1. ค่าจ้างจะต้องจ่ายเป็นเงิน บรรดาสิ่งของหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้จะคำนวณเป็นเงินได้ ก็ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

     2. นายจ้างเป็นเจ้าของเงิน และเป็นผู้จ่ายเงิน นายจ้างเป็นเจ้าของการงานที่ลูกจ้างทำ จึงต้องจ่ายเงินของตนให้แก่ลูกจ้างหากมีผู้อื่นเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง เช่น กรณีลูกค้าให้ทิป หรือจ่ายค่าบริการ หรือ เซอร์วิสชาร์จ เงินดังกล่าวย่อมไม่ใช่ค่าจ้างตามกฏหมาย

     3. นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้ในสัญญาจ้าง กำหนดจำนวนเงินที่เป็นค่าจ้างคำว่าสัญญาจ้างนั้น มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า สัญญาจ้างหมายความว่า สัญญาไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจาระบุชัดเจนหรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยาย ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจ่ายให้ค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้ ดังนั้น ค่าจ้างตามกฏหมายฉบับนี้จึงหมายถึงจำนวนเงินยอดได้ยอดหนึ่ง ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้ว่าเป็นค่าจ้างในสัญญาจ้าง ซึ่งไม่ว่าสัญญาจ้างนั้นจะทำเป็นหนังสือตกลงด้วยวาจาก็ตาม

     4. เงินจำนวนนั้นได้จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานเท่านั้น ถ้าเป็นการจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น จ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในเรื่องที่พักอาศัย ค่าเช่าบ้าน จ่ายเพื่อช่วยเหลือการศึกษาบุตร เงินจำนวนนั้นไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างเพราะไม่ได้ตอบแทนจากการทำงานโดยตรง

     5. ค่าจ้างจะต้องตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเท่านั้น เงินที่ตกลงกันเป็นค่าจ้างนั้นต้องเป็นเงินที่จ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติตามที่ไหนจ้างและลูกจ้างตกลงกันเฉพาะในชั่วโมงทำงานปกติซึ่งต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเงินตอบแทนการทำงานในช่วงระยะเวลาอื่นจะไม่เรียกว่าค่าจ้าง เช่น เงินตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติก็เรียกว่าค่าล่วงเวลา เงินตอบแทนการทำงานในวันหยุดก็เรียกว่าค่าทำงานในวันหยุด เป็นต้น

ส่วนวิธีคำนวณจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่

     1. การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานโดยถือเอาระยะเวลาเป็นสำคัญเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Time rate ซึ่งหมายถึงการจ่ายค่าจ้างโดยถือหน่วยระยะเวลาเป็นหลักในการคำนวณ ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกจ้างจะทำงานในระยะเวลาดังกล่าวนั้นได้ผลงานมากน้อยเพียงใดก็ตาม ในบทบัญญัตินั้นได้กำหนดไว้ว่าระยะเวลาที่จะจ่ายกันนั้นจะต้องเป็นการกำหนดการเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายระยะเวลาอื่นก็ได้ซึ่งนิยมจ้างกัน ในประเทศไทยมี 2 ประเภทคือรายวัน กับรายเดือน สำหรับระยะเวลาอย่างอื่นจะเป็นการจ้างดังเช่นในสมัยโบราณที่จ่ายค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายปี

สิ่งที่ไม่ใช่ ค่าจ้างแรงงาน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าที่พัก โบนัส ค่าไฟ เบี้ยขยัน ค่าตรวจคนไข้ ค่าเช่ารถ เงินสะสม เงินสมทบ ภาษีเงินได้ ค่าเล่าเรียนบุตร เงินจูงใจให้ทำยอดเพิ่ม

     2. การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานโดยถือผลงานที่ลูกจ้างทำได้เป็นสำคัญเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Piece rate ซึ่งหมายถึงการจ่ายค่าจ้างโดยถือผลงานที่ลูกจ้างได้ทำแต่ละหน่วยนับเป็นหลักในการคำนวณจ่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกจ้างจะใช้ระยะเวลาในการทำงานแต่ละหน่วยนั้นนานเท่าใดก็ตาม เมื่อลูกจ้างในผลงานออกมาเท่าไหร่ก็จะคำนวณค่าจ้างไปตามจำนวนนับของผลงานนั้น เช่น การกำหนดค่าจ้างในการทำงานเป็นรายตัว ของการเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นรายคู่ในการทำรองเท้า เป็นต้น

      คำพิพากษาฎีกาที่ 8758 / 2547 ค่าคอมมิชชั่นซึ่งเป็นค่าตอบแทนในการที่ลูกจ้างฝ่ายการตลาดทำงานหาลูกค้ามาทำการขึ้นป้ายโฆษณากับนายจ้างได้ โดยคำนวณค่าคอมมิชชั่นจากค่าโฆษณาที่นายจ้างมีสิทธิ์ได้รับจากลูกค้าร้อยละ 2.5 และค่าผลิตวัสดุไวนิวอิงค์เจ็ตซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างฝ่ายการตลาดเมื่อลูกค้าสั่งทำสื่อโฆษณาในอัตราตารางเมตรละ 20 บาท โดยคำนวณค่าผลิตจากพื้นที่สื่อโฆษณาที่ลูกค้าสั่งทำเป็นเงินที่ไหนจ้างและลูกจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ เป็นค่าจ้าง

      คำพิพากษาฎีกาที่ 9313 – 9976 / 2547 เบี้ยขยันเป็นเงินที่นายจ้างนำมาจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยขยันต้องเป็นผู้ไม่ขาดงาน ไม่ลางาน ไม่มาทำงานสาย นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างต่างหากจากค่าจ้างปกติเป็นเงินตอบแทนความขยัน ไม่ใช่ตอบแทนการทำงานโดยตรง ไม่ใช่ค่าจ้าง

      คำพิพากษาฎีกาที่ 2246 / 2548 เงินจุงใจนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างที่ทำยอดขายได้ตามเป้าที่นายจ้างกำหนดเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรงทั้งยังจ่ายเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี ไม่ใช่ค่าจ้าง

      คำพิพากษาฎีกาที่ 8944 / 2560 ค่าคอมมิชชั่นจ่ายให้กับลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขายที่ขายสินค้าแก่ลูกจ้าง ร้อยละ 0.5 ของยอดขายตามสัดส่วนที่จ่ายทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จึงมีลักษณะเป็นเงินที่ จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนในลักษณะการทำงานตามสัญญาจ้าง ค่าคอมมิชชั่น จึงเป็นค่าจ้าง

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3733 / 2560 ค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายให้พนักงานที่ทำยอดตามเป้าที่กำหนดเป็นรายปีเพื่อจูงใจให้พนักงานขายทำยอดเพิ่มขึ้นไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรงจึงไม่ใช่ค่าจ้าง

หมายเหตุ ค่าจ้างคือ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ส่วนค่าคอมมิชชั่นจะเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ให้ดูตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป ดังนั้นการปรับลดค่าคอมมิชชั่น อาจจะต้องดูสัญญาเดิมก่อนไว้ว่าระบุกันอย่างไร หากนายจ้างไม่จ่ายตามสัญญา ลูกจ้างสามารถฟ้องร้องได้ หรือในระยะเวลาที่ยังทำงานให้กันอยู่ นายจ้างสามารถปรับลดค่าคอมมิชชั่นได้

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE