ฆ่าคนตายโดยเจตนา ปอ. มาตรา 288

https://pantip.com/topic/40578358

ฆ่าคนตายโดยเจตนา ปอ. มาตรา 288 “ต้องมีเจตนาฆ่า”

  • จำเลยใส่สารพิษลงในน้ำในปริมาณที่ไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตให้ผู้เสียหายดื่มแสดงว่าจำเลยมีเพียงการเจตนาทำร้ายไม่ได้มีเจตนาฆ่า

     คำพิพากษาฎีกาที่ 1113 / 2542 จำเลยที่ 2 นำยาฆ่าแมลงซึ่งมีสารพิษชนิดมีโทมีล ที่มนุษย์หรือสัตว์กินแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผสมในขวดยาลดไข้ให้ผู้เสียหายดื่ม ปรากฏว่าเมื่อผู้เสียหายดื่มเข้าไปแล้ว เกิดอาเจียน จำเลยที่ 1 ล้วงคอให้อาเจียนจนกระทั่ง ส. นำน้ำมาให้ดื่มก็อาเจียนอีก แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผสมสารมีโทมีล ในขวดยาลดใข้ให้ผู้เสียหายดื่มเข้าไปในปริมาณไม่มาก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีเหตุโกรธเคืองผู้เสียหายมาก่อน ประกอบกับสารพิษมีโทมีล ต้องกินเข้าไปในปริมาณมากพอจึงจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การที่จำเลยที่ 2 เทสารพิษมีปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายให้เจ็บป่วย เพื่อให้ ร. ภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งหนีไปกลับมาหาจำเลยที่ 2 เท่านั้น

     ข้อสังเกต เมื่อถือว่าจำเลยมีเจตนาทำร้าย แต่การที่จำเลยนำยาฆ่าแมลงไปให้ผู้เสียหายกิน เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 296

     คำพิพากษาฎีกาที่ 950 / 2552 กระสุนปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหาย ไม่ได้บรรจุเม็ดตะกั่ว บรรจุเฉพาะดินปืนอัดด้วยกระดาษเท่านั้น จำเลยทราบดีว่าไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลย จึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

     จำเลยใช้ก้อนหินตีใบหน้าผู้ตาย โดยมีเจตนาทำร้าย แต่ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะเกิดอาการตกใจ ทำให้หัวใจวายเนื่องจากมีโรคเดิมอยู่ก่อนแล้ว ก็ถือว่าความตายเกิดจากทำร้ายของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290

     คำพิพากษาฎีกาที่ 1593 / 2542 ผู้ตายมีโรคเดิมอยู่แล้ว เมื่อเกิดอาการตกใจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้หัวใจวาย อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่จำเลยใช้ก้อนหินตีที่หน้าของผู้ตาย ทำให้ผู้ตายเกิดอาการตกใจ หัวใจเต้นผิดปกติ จนถึงแก่ความตาย ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย เป็นความผิดฐานนมิได้เจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้ตายเคยเข้ารับการรักษาโรคหัวใจมาก่อน ก็ไม่เป็นเหตุให้รับฟังว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิใช่เกิดจากการทำร้ายของจำเลย

  • จำเลยทรมาน เป็นการทารุณทรมานด้วยวิธีทารุณโหดร้าย ผู้ตายจึงฆ่าตัวตายเพราะมีจิตใจเปราะบาง ถือว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย

     คำพิพากษาฎีกาที่ 4904 / 2548 ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขัง และถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุ เป็นระยะเวลาประมาณสามเดือนโดยไม่มีทางหลบหนีเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้ เห็นได้ว่าพูดเสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้งทางกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดลงจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้น อาจเป็นเพราะผู้ตายมีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้ เท่ากับผู้เสียหายอื่น จึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้น เพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณโหดร้าย

  • ผู้ตายได้รับบาดเจ็บเพราะถูกจำเลยทำร้าย การที่ญาติของผู้ตายดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อหายใจออกทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดเพียงพยายามฆ่าผู้ตาย

     คำพิพากษาฎีกาที่ 659 / 2532 หลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายแล้ว ได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดยให้น้ำเกลือ ใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าตัดใส่ท่อระบายลงในโพรงปอดข้างซ้าย เพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ตายด้วย และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่า หากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไปแล้ว โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลง โดยการดึงเครื่องช่วยหายใจและท่อช่วยหายใจออกแล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูง การกระทำของจำเลยจึงมีเพียงความผิดฐานพยายามฆ่าผู้ตาย

  • จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย แม้ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะรักษาบาดแผลไม่ดี หรือมีอาการปอดบวมแทรกซ้อนก็เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา

     คำพิพากษาฎีกาที่ 1478 / 2528 ผู้ตายถูกยิงได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุประมาณ 9 เดือนเศษ เมื่อความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิง แม้จะได้จากการรักษาบาดแผลไม่ดีจนเป็นเหตุให้แผลติดเชื้อ ก็เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย เมื่อจำเลยยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าจำเลยจึงต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

     คำพิพากษาฎีกาที่ 7663 / 2540 ผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายโดยใช้มีดฟันบริเวณลำคอสองครั้ง จนระบบหายใจเป็นอัมพาตและถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุประมาณ 5 – 6 วัน ปรากฎตามรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ ว่าการตายของผู้ตายเกิดจากภาวะหายใจล้มเหลว จากปอดอักเสบติดเชื้อซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากระบบหายใจเป็นอัมพาต อันเนื่องจากไขสันหลังช่วงคอถูกทำลาย ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการถูกจำเลยฟันทำร้ายทั้งสิ้น และผู้ตายถึงแก่ความตายขณะที่ยังรักษาอาการที่เกิดจากการถูกจำเลยทำร้าย และไม่ปรากฏว่ามีเหตุพิเศษอื่นใดเกิดขึ้นกับผู้ตายอีก การตายของผู้ตายจึงเป็นผลธรรมดาที่เกิดจากการถูกจำเลยฟันทำร้าย

     คำพิพากษาฎีกาที่ 3039 / 2547 จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จากการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ผู้ตายมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนจนถึงแก่ความตาย เหตุที่ทำให้ภาวะปอดบวมแทรกซ้อนก็เนื่องมาจากสาเหตุที่ผู้ตายได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง เห็นได้ว่า แม้ผู้ตายจะตายเนื่องจากมีอาการปอดบวมแทรกซ้อน แต่การแทรกซ้อนดังกล่าวสืบเนื่องโดยตรงจากบาดแผลที่ถูกยิง การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดสำเร็จ ไม่ใช่เพียงพยายามกระทำความผิด

  • การที่ผู้กระทำความผิดหลายคน มีเจตนาร่วมกันไปทำร้ายร่างกาย แต่ขณะที่ทำร้ายอยู่นั้น ผู้กระทำผิดคนหนึ่งมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ถือเป็นการกระทำเฉพาะตัว ดังนั้นเฉพาะผู้กระทำผิดคนนี้เท่านั้น มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้ตาย ตามมาตรา 288 ส่วนผู้กระทำผิดคนอื่น มีความผิดฐานฆ่าคนตาย โดยไม่เจตนาตามมาตรา 290

     คำพิพากษาฎีกาที่ 1522 / 2547 ศ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าจึงเป็นการกระทำของ ศ. แต่โดยลำพังจำเลยเพียงแต่ร่วมกับ ศ. ทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่การร่วมกันทำร้าย มีผลทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตาม ปอ. มาตรา 290 วรรคแรก

  • ข้อสังเกต เรื่องนี้ ศ. และจำเลยไม่ได้คบคิดกันมาเพื่อทำร้ายผู้ตายมาก่อน เหตุเกิดเพราะผู้ตายกับ ศ. ทะเลาะกันโดย ศ. มีมีดเป็นอาวุธ จำเลยมาพบเหตุได้เข้าช่วยชกต่อยผู้ตาย และวิ่งไล่ตามผู้ตายไปด้วยกัน โดยจำเลยไม่มีอาวุธ ฟังได้เพียงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่ที่จำเลยต้องรับผิดในความตายของผู้ตายด้วยนั้น เป็นเพราะความตายเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้จากการทำร้าย

     คำพิพากษาฎีกาที่ 1335 / 2545 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้ตาย และจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไปด้วย ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ต้องรับผิดฐานฆ่าผู้ตายเป็นการเฉพาะตัว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายมาแต่ต้น จึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก มิใช่ความผิดตามมาตรา 295

  • คำว่า “ช่วยสั่งสอนให้หน่อย” หมายถึง การทำร้ายให้เจ็บตัว มิใช่มุ่งหมายจะให้ฆ่า

     คำพิพากษาฎีกาที่ 2941 / 2528 การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 3 ไปช่วยสั่งสอนให้หน่อย และพาจำเลยที่ 3 ไปยังที่เกิดเหตุ และชี้ตัวผู้ตายกับเพื่อน เป็นการพาไปทำร้ายผู้ตายนั่นเองเพราะถ้าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ไปชี้ตัวให้จำเลยที่ 3 ก็ยังไม่ทราบว่าใครคือบุคคลที่ต้องการจะให้สั่งสอน คำว่า “ช่วยสั่งสอนให้หน่อย” ย่อมหมายถึงการทำลายให้เจ็บตัวเพียงเพื่อสั่งสอนเท่านั้น หาได้มีเจตนามุ่งหมายถึงกับจะให้ฆ่าไม่ การที่จำเลยที่ 3 กระทำรุนแรงถึงกับเจตนาฆ่านั้น เป็นการเกินเลยไปจากขอบเขตที่ใช้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดทางอาญา เพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ตาม ปอ.มาตรา 87 อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีเพียงเจตนาทำร้ายเพื่อสั่งสอน แต่เมื่อการทำร้ายเกิดเหตุรุนแรงถึงตาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมต้องรับผิดฐานทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 เพราะการตายเป็นผลธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำร้ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เป็นผู้ใช้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 , 84 ประกอบด้วยมาตรา 87 วรรคสอง

     คำพิพากษาฎีกาที่ 3380 / 2531 การที่จำเลยที่ 1 เล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหาย ขณะเดียวกันได้พูดว่า “มึงตายเสียเถอะ” ประกอบกับภายในอาวุธปืนของจำเลยที่ 1 ก็มีปลอกกระสุนปืนที่ยิงแล้ว 4 ปลอก และคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนระบุว่า ได้เล็งอาวุธปืนไปทางผู้เสียหายแล้วยิง 1 นัดกระสุนปืนไม่ลั่น เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีได้ยิงอีก 4 นัด กระสุนปืนลั่น ทั้งจำเลยที่ 1 แสดงท่าไล่ยิง เล็งอาวุธปืนตรงไปยังผู้เสียหาย ให้ถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพไว้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย เพราะกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า

  • แต่บางครั้ง จะดูจากคำพูดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาพฤติการณ์อื่นประกอบด้วย การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่ามึงตายเสียเถอะ แต่จำเลยก็ไม่แทงทำร้ายให้ถึงแก่ความตาย ทั้งที่มีโอกาสทำได้ดังนี้จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า

     คำพิพากษาฎีกาที่ 2155 / 2530 การที่จำเลยชักมีดปลายแหลมยาวทั้งตัวทั้งด้ามประมาณหนึ่งศอกออกมาแล้วพูดขึ้นว่า “มึงตายเสียเถอะ” จะถือเอาเป็นจริงจังตามคำพูดนั้นไม่ได้ ต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบ ฉะนั้นแม้จำเลยจะใช้มีดแทง ส. และ ท. ก็ตาม แต่จำเลยก็หาได้พยายามที่จะทำให้บุคคลทั้งสองได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ทั้งๆ ที่จำเลยมีโอกาสที่จะกระทำได้ เพราะเมื่อทั้งสองล้มไปแล้ว จำเลยก็มิได้แทงซ้ำเติมแต่อย่างใด และลักษณะบาดแผลที่คนทั้งสองได้รับ ก็ไม่มีลักษณะฉกรรจ์ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ประกอบกับที่ต่อมาจำเลยได้ไล่แทง ฉ. แต่ ฉ. หลบหนีไปได้ เพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า คงเป็นเพียงทำร้ายร่างกาย ส. แและ ท. และพยายามทำร้ายร่างกาย ฉ. เท่านั้น

  • คำพูดของจำเลยที่ว่า “มึงตายเสียเถอะ” ถ้าเป็นเพียงคำพูดขู่ผู้เสียหายไม่ให้ร้องเท่านั้น ไม่ถือว่ามีเจตนาฆ่า

     คำพิพากษาฎีกาที่ 992 / 2541 จำเลยพาผู้เสียหายไปที่เกิดเหตุเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อผู้เสียหายร้องให้คนอื่นช่วย จำเลยเพียงแต่ใช้มือปิดปากผู้เสียหายไว้ ครั้นมีเสียงรถแล่นผ่านไปจอดที่บ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายพยายามดิ้นรนและเรียกร้องให้คนมาช่วย จำเลยจึงใช้มือบีบคอผู้เสียหายจนผู้เสียหายร้องไม่ออก ก็เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายส่งเสียงร้องเรียกให้คนอื่นมาช่วย เนื่องจากการใช้มือปิดปากไม่อาจหยุดการส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือของผู้เสียหายได้ แม้จำเลยจะใช้คำพูด “มึงตายเสียเถอะ” ประกอบด้วย ก็เป็นการพูดขู่ให้ผู้เสียหายหยุดส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือนั้นเอง เมื่อผู้เสียหายแกล้งทำตัวอ่อนและหลับตา จำเลยจึงปล่อยมือจากคอแล้วเอามาแตะที่จมูกผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลั้นหายใจไว้ จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตาย แล้วจึงวิ่งหนีทั้งที่จำเลยเองก็ไม่ได้สำเร็จความใคร่ จำเลยจึงไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

*คำพิพากษาฎีกาที่ 5506 / 2541 ที่จำเลยพูดว่ามึงตายเสียเถอะอย่าอยู่เลยนั้น เกิดจากความโมโหและเป็นการข่มขู่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น

  • จ้องเล็งปืนไปที่ผู้เสียหายเพียงเพื่อข่มขู่ผู้เสียหาย ถือว่าไม่มีเจตนาฆ่า

     คำพิพากษาฎีกาที่ 6010 / 2530 จำเลยใช้ปืนลูกซองสั่นจ้องเล็งไปยังผู้เสียหาย ที่อยู่ห่างเพียง 7 – 8 เมตร หากจำเลยมีเจตนาจะยิงผู้เสียหายจริงแล้ว ก็คงใช้ปืนยิงได้โดยง่าย เพราะผู้เสียหายวิ่งหลบหนีอยู่บริเวณนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ง้างนกปืนขึ้น หรือนิ้วมือของจำเลยอยู่ในโกร่งไกปืนพร้อมที่จะยิงได้ และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน พฤติการณ์จึงแสดงให้เห็นว่า จำเลยชักปืนมาเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายที่ไปทวงค่าอาหารมากกว่าอย่างอื่น จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

     คำพิพากษาฎีกาที่ 3916 / 2534 จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ที่ขมับผู้เสียหายพร้อมกับพูดว่า กูจะฆ่ามึงทิ้งถ้ามึงไปถึงกิ่งอำเภอเมื่อไหร่กูจะฆ่าเมื่อนั้น ดังนี้ คำพูดของจำเลยขณะที่ใช้อาวุธปืนจี้ผู้เสียหาย มีความชัดเจนว่าจำเลยจะยิงผู้เสียหายเมื่อไปถึงกิ่งอำเภอ ไม่ใช่ยิงในขณะนั้น เป็นการกระทำในลักษณะข่มขู่ผู้เสียหายมากกว่า หากจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ก็คงใช้อาวุธปืนนั้นยิงผู้เสียหายทันที โดยไม่ต้องใช้อาวุธปืนจี้ และมีการพูดถึงเหตุการณ์ในอนาคตเช่นนั้น ประกอบกับผู้เสียหายกับจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และจำเลยกระทำในขณะเมาสุรา การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่า เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

  • ถือปืนหันกระบอกปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ไม่ให้ผู้ใดเข้ามาทำร้าย แสดงว่าไม่มีเจตนาฆ่า ต่อมามีผู้มาตะปปปืน ปืนลั่นกระสุนปืนไปถูกผู้อื่น กรณีไม่ใช่เรื่องพลาด และไม่ใช่เป็นการกระทำโดยประมาท เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่จะใช้ความระมัดระวังได้

     คำพิพากษาฎีกาที่ 1961 / 2528 การวิวาท หมายถึง การสมัครใจเข้าต่อสู้ทำร้ายกัน คำพูดของจำเลยที่ว่า การย้ายตำรวจต้องมีขั้นตอน ต้องมีคณะกรรมการ อย่าไปเชื่อให้มาก นักเป็นเพียงการแสดงความเห็นในการสนทนาเท่านั้น มิได้มีข้อความใดที่เป็นการท้าทายให้ผู้ตายหรือผู้เสียหายออกมาต่อสู้ทำร้ายกับจำเลย จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุวิวาทไม่ได้

สรุป ข้อต่อสู้ข้อหา ฆ่าคนตายโดยเจตนา ปอ. มาตรา 288 อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาจะมีคร่าวๆ ดังตามที่ยกตัวอย่าง ซึ่งความจริงแล้ว อาจจะมีข้ออ้าง ข้อเถียงอื่นๆอีก ซึ่งจะขอรวบรวมไว้ในบทความครั้งถัดไปนะครับ

หากท่านไม่ได้รับความยุติธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-168-8941
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE