ฉ้อโกงประชาชน
สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี เป็น สำนักงานทนายความ ทนายความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ครับ ให้บริการปรึกษาคดี วางแผนทางคดี ให้คำแนะนำเบื้องต้นด้านกฎหมาย คดีอาญา คดีแพ่ง คดีครอบครัว คดีที่ดิน คดีก่อสร้าง ฯลฯ สำนักงาน กฎหมาย มีบทความเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับ ฉ้อโกงประชาชน หลักเกณฑ์จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามกันได้เลยครับ
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานฉ้อโกง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เป็นเรื่องหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้ มีเจตนาทุจริตในการกระทำความผิด แยก องค์ประกอบความผิด ได้ดังนี้
1. ผู้ใด
2. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้ง
3. โดยการหลอกลวงเช่นว่านั้น
(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
(ข) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
4. โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
สาระสำคัญของมาตรานี้ก็คือคำว่า “ประชาชน” ตามกฎหมายฉ้อโกงนี้ มีความหมายว่าอย่างไร
คำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไป โดยหาได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงความมากหรือน้อยไม่ แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกแจ้งให้เป็นสำคัญ
แม้มีคนทราบเพียงคนเดียว ก็ผิดฐานนี้ได้ เช่น หลอกลวงผู้เสียหาย และบุคคลอื่นๆในท้องที่หลายจังหวัด ให้มาสมัครงานไปทำงานต่างประเทศ โดยรับรองว่ามีงานให้ทำและจะได้ไปทำงานเร็ว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมาสมัครงาน และชำระเงินให้แก่จำเลย สุดท้ายจำเลยไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานได้ และไม่ยอมคืนเงินให้ผู้เสียหาย จึงเป็นการฉ้อโกงประชาชน (ฎ 3660/2527 , ฎ 2486/2529)
การแสดงข้อความเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันเป็นทอดๆเมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้งอันถือว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวกแม้จะไม่ มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตามการกระทำนั้นก็เป็นการฉ้อโกงประชาชน (ฎ5292/2540)
- อย่างไรก็ตามหากไม่ปรากฏว่ามีการโฆษณาแต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายทราบข่าวเองไม่ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรานี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2516 / 2534 ผู้เสียหายสี่คนได้ทราบว่าที่วัดมีพระเครื่องพระราชทานให้เช่าบูชาโดยจำเลยที่หนึ่งเป็นพระพิสุอยู่ที่วัดดังกล่าวเป็นผู้นำออกให้เช่าผู้เสียหายทั้งสี่จึงไปเช่าพระจากจำเลยที่หนึ่งโดยจำเลยที่หนึ่งรับรองว่าพระดังกล่าวเป็นพระที่ได้รับพระราชทานมาเพื่อให้จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่หนึ่งแต่โฆษณาให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงการให้เช่าพระเครื่องหากเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายทั้งสี่ทราบข่าวมาเองแล้วมาติดต่อขอเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่หนึ่งจึงไม่ผิดฐานฉ้อโกงประชาชนความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 เท่านั้น
การหลอกลวงคนเฉพาะกลุ่มแม้มีหลายคนก็ไม่ใช่ความผิดตามความหมายของประชาชนในมาตรานี้เช่นการหลอกลวงเฉพาะเจ้าหนี้ของตนสามรายมิใช่หลอกลวงประชาชน (ฎ909/2523)
คำพิพากษาฎีกาที่ 563 / 2531 จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองเพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบการกระทำไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
คำพิพากษาฎีกาที่ 709 / 2523 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกแจ้งให้แก่ประชาชนคำว่าประชาชนได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญาแต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถานหมายถึงบรรดาพลเมืองซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553 ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน” คำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาฎีกาที่ 563 / 2531 วินิจฉัยว่าหลอกขายข้อสอบให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงอ้างว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบไม่เป็นการหลอกประชาชนทั่วไปไม่มีความผิดตามมาตรา 343 คงผิดมาตรา 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557 การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่ ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 1867 / 2523 การแสดงเจตนาเท็จต่อประชาชนไม่ถือเอาจำนวนผู้เสียหายมากหรือน้อยแต่ถือเจตนาแสดงเท็จของจำเลยเป็นสำคัญแม้ไม่ได้ความว่าจำเลยหลอกคนอื่นอีกนอกจากผู้เสียหายรายเดียวแต่เจตนาแสดงต่อประชาชนทั่วไปหลอกให้สมัครฝากเงินไว้กับบริษัทจำเลยผิดมาตรา 343
คำพิพากษาฎีกาที่ 3624/2531 ความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบว่าจำเลยหลอกลวงประชาชนโดยทุจริตและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง ส่วนประชาชนผู้ใดบ้างเป็นผู้ที่ถูกจำเลยหลอกลวงและจำเลยได้ทรัพย์สินจากผู้ใดบ้าง เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา การที่โจทก์มิได้ระบุชื่อประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหรือผู้เสียหายมาในฟ้อง จึงไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้ทำการหลอกลวงประชาชนในเขต ตำบลสักหลง ตำบลบ้านกลาง และตำบลวัดป่า จังหวัดเพชรบูรณ์ การหลอกลวง ของจำเลยเป็นเหตุให้ประชาชนในท้องที่ดังกล่าวหลงเชื่อและได้นำใบยาสูบแห้ง จำนวน 2,462 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 29,491 บาท ไปมอบให้จำเลยกับพวก ถือได้ว่าได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่ จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาฎีกาที่ 340 / 2512 ประชุมใหญ่จำเลยวางแผนประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันเปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัทเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครทำงานโดยวัดอัตราค่าจ้างเงินเดือนสูงวางระเบียบให้ซื้อหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้นเป็นเงิน 900 บาทบริษัทตั้งขึ้นแล้วจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินกิจการค้าตามวัตถุประสงค์แต่อย่างใดสินค้าในบริษัทก็ไม่มีธุรกิจที่จะมอบหมายให้ผู้สมัครรับจ้างปฏิบัติก็ไม่มีถือว่าจำเลยก่อตั้งบริษัทดำเนินการด้วยการแสวงหาข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343
เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับฉ้อโกงของจำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงผู้เสียหายคนอื่นในกรณีนี้ได้ เพราะผู้เสียหายเป็นคนละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวัน คนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกลวงแตกต่างกัน ผู้เสียหายไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
ฎีกาฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า การหลอกลวงประชาชนแม้จะมีเจตนาหลอกลวงต่อบุคคลโดยทั่วไปการกระทำนั้นถ้าเป็นการกระทำที่แสดงเจตนาต่างวาระกันก็เป็นความผิดต่างกรรมได้แม้เจตนาจะเป็นเจตนาที่หลอกลวงประชาชนทั่วไปก็ตาม
สรุป กรณีตามกระทู้ของสมาชิก Pantip ท่านนี้ ฉ้อโกงประชาชน หากพนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาว่าการกระทำขายโทรศัพท์ทางออนไลน์แล้วไม่ส่งสินค้าลักษณะ ฉ้อโกงประชาชน ขั้นตอนการดำเนินการจะเป็นดังนี้ครับ
- พนักงานสอบสวนจะรับคำร้องทุกข์ผู้เสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน และแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิด
- เนื่องจากความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แม้จะมีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ก็ยังต้องดำเนินคดีโดยการส่งตัวไปฟ้องศาล เพื่อให้ศาลตัดสินโทษทางอาญาและโทษปรับ
- ส่วนการลงโทษจะมีจำคุก หรือรออาญาหรือไม่นั้น อยู่ดุลพินิจศาลครับ
แนวทางต่อสู้คดีฉ้อโกง สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ได้กล่าวไว้แล้วในกระทู้นี้ Click https://shorturl.asia/awt1N หากไม่แน่ใจว่าคดีที่ท่านพบเจอ ตรงกับบาทความนี้หรือไม่ ปรึกษาทนายความ จะดีที่สุด ขึ้นชื่อว่าคดีอาญาแล้ว การเตรียมคดีตั้งแต่เริ่มต้น มีความสำคัญมากๆ
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE