ชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย

ชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย มาตรา 294 หรือได้รับอันตรายสาหัสมาตรา 299

      องค์ประกอบ เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตาย มาตรา 294 หรือรับอันตรายสาหัส มาตรา 299

      การขว้างปาสิ่งของเข้าไปในกลุ่มคนที่มีการชุลมุนต่อสู้กัน แล้วมีคนตายถือว่าเป็นการเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้เป็นความผิดตามมาตรา 294

      คำพิพากษาฎีกาที่ 2241 / 2522 ใช้สิ่งของขวางปาเข้าไปในกลุ่มคนที่กำลังทะเลาะวิวาทกัน เป็นการเข้าร่วมชุลมุนวิวาท เมื่อมีเหตุให้คนถึงแก่ความตายเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294

      การชุลมุนต่อสู้ตาม มาตรา 299 เป็นกรณีที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้ทำร้ายผู้ตาย หรือผู้ที่ได้รับอันตรายสาหัสแล้วแต่กรณี ดังนั้นศาลจะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมชุลมุนทั้งหมด ว่ามีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายหรือร่วมกันทำร้ายผู้ที่ได้รับอันตรายสาหัสไม่ได้

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3713 / 2531 ผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายในขณะเกิดเหตุชุลมุนต่อสู้หรือสมัครใจวิวาทกัน ระหว่างนั้นผู้ตายและฝ่ายจำเลยซึ่งได้เข้าร่วมในการชุลมุนตั้งแต่สามคนขึ้นไป โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กัน ได้ใช้มีดแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเช่นนี้จะถือว่าผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294 เท่านั้น

      ข้อสังเกตในกรณีที่ฟังได้ว่าเป็นการชุลมุนต่อสู้แล้ว และรู้ด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้ทำร้ายผู้ตาย หรือผู้ที่ได้รับอันตรายสาหัส ผู้นั้นก็มีความผิดทั้งมาตรา 294 และ 288 หรือ 299 และ 297 แล้วแต่กรณีเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

กรณีที่ ฝ่ายหนึ่งเข้ารุมทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งมิใช่การชุลมุนต่อสู้ตามมาตรา 294 หรือ 299

      คำพิพากษาฎีกาที่ 791 -792/2510 กรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294 นั้น หมายถึง กรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายผู้ตายถึงตาย ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายหนึ่งรุมทำร้ายผู้ตายถึงตาย ฝ่ายนั้นต้องรับผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนา

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1333 / 2510 จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธจะไปทำร้ายเพื่อนผู้ตาย เมื่อพบผู้ตายกับเพื่อน พวกจำเลยใช้ปืนยิง ผู้ตายกับเพื่อนวิ่งหนีโดยไม่ได้ต่อสู้อย่างใด จำเลยตามไปตีผู้ตายและพวกของจำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้กัน แต่เป็นเรื่องจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้ตาย แม้จำเลยจะไม่ใช้ปืนยิงผู้ตายก็ถือว่าจำเลยได้ร่วมกับจำเลยฆ่าผู้อื่น จึงมีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา

ดังนั้น แม้ผู้ถูกทำร้ายต่อสู้ป้องกันก็ไม่ทำให้เป็นการชุลมุนต่อสู้

      คำพิพากษาฎีกาที่ 2942 / 2519 จำเลยกับพวกอีกสามคนกลุ่ม รุมทำร้ายผู้ตายฝ่ายเดียวโดยผู้ตายมิได้สมัครใจเข้าต่อสู้ด้วยการที่ผู้ตายต่อสู้ปัดป้องจึงมิใช่เป็นการร่วมชุนละมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294

      คำพิพากษาฎีกาที่ 885 / 2509 จำเลยที่ 1 กับ ท. บิดาจำเลยที่หนึ่งได้ร่วมกันชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท. บิดาจำเลยที่หนึ่งถูกทำร้ายถึงแก่ความตายในการชุลมุนต่อสู้กันนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ร่วมชุลมุนต่อสู้นั้นด้วย ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีอาวุธก็ตามแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ห้ามในการชุลมุนต่อสู้หรือป้องกันตัวจำเลยที่ 1 ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294

      ข้อสังเกต ถ้าเพียงแต่ชนละมุนต่อสู้โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 294 หรือ 299

      คำพิพากษาฎีกาที่ 942 / 2507 บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ฝ่ายหนึ่ง จำเลยที่ห้าถึงที่เจ็ดกับพวกอีกฝ่ายหนึ่ง บังอาจสมัครใจเข้าใช้กำลังชกต่อย เตะ ถีบ ทำร้ายซึ่งกันและกันจนจำเลยที่3 กับที่ 5 บาดเจ็บ ดังนั้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยคนใดทำร้ายใคร และถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยแต่ละฝ่ายต่างร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นฟ้องฐานทำร้ายร่างกายในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป เมื่อไม่ปรากฏว่ามีบุคคลถึงตายหรือรับอันตรายสาหัสโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294 หรือ 299 แล้ว แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

      ถ้าการชุลมุนต่อสู้มีทางคนตายและรับอันตรายสาหัสด้วย ก็เป็นความผิดทั้งมาตรา 294 และมาตรา 299 กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามมาตรา 90 และถ้ารู้ว่าผู้ใดเป็นคนทำให้ตายหรือรับอันตรายสาหัส ผู้นั้นก็มีความผิดตามมาตรา 288หรือ 297 อีกบทหนึ่งด้วย

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1268 / 2515 จำเลยสี่คนกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องมีอาวุธเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กัน จนเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตายสองคนและได้รับอันตรายสาหัสอีกคนนึง ผู้ตายคนหนึ่งถึงแก่ความตายเพราะถูกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยิงในการชุลมุนต่อสู้กันนั้น เช่นนี้เป็นการ กระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท คือจำเลยทุกคนผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294, 299 และ 83 เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 288 อีกบทหนึ่ง ซึ่งต้องลงโทษจำเลยทั้งสองคนนี้ตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1015 / 2508 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 299 นั้น บัญญัติเอาผิดกับผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งรับอันตรายถึงสาหัส เว้นแต่การไปห้ามหรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นตัวการทำให้เกิดอันตรายสาหัสกว่านั้น ถ้าปรากฏว่าผู้ใดเป็นตัวกระทำโดยลงมือกระทำเอง ก็ดี เป็นตัวการหรือใช้ให้กระทำก็ดี ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามกรรมของตนอีกโสดหนึ่ง

      การที่บุคคลสองฝ่ายเข้าทำร้ายกัน โดยแต่ละฝ่ายสามารถแบ่งพรรคพวกกันได้ ไม่เป็นความผิดฐานชุลมุนต่อสู้ถ้ามีผู้ถึงแก่ความตายแม้ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ทำร้ายก็ถือว่าผู้ที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นทั้งหมดเป็นตัวการร่วมกันทำร้าย

สรุป ชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ถึงแก่ความตาย หรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเข้าร่วมในชุลมุนต่อสู้ กฎหมายจะลงโทษเมื่อมีความตายหรือบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น ไม่ว่าความตายจะเกิดจากกลุ่มคนที่เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ หรือบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง( โดนลูกหลง) กฎหมายจึงให้ผู้ที่เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ต้องรับผิดเท่ากันทุกคน

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE