บุตรนอกสมรสที่บิดาให้การรับรอง

https://pantip.com/topic/34022020

บุตรนอกสมรสที่บิดาให้การรับรอง

     บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรม ลำดับที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 (1) และ ตามประมวลกฎหมายพาณิชย์มาตรา 1627 บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้” ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ดังเช่นกรณีบุตรของภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสที่บิดาส่งเสียเลี้ยงดู ให้ใช้นามสกุล และแสดงออกโดยเปิดเผยว่าเป็นบุตร เช่นนี้ ถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรม ลำดับที่ 1 ของเจ้ามรดก แต่ไม่ได้ทำให้เด็กคนนี้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เพราะการรับรองที่ทำให้บุตร เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น หมายถึง ได้กระทำการจดทะเบียนรับรองบุตร และมีผลตั้งแต่วันที่เด็กเกิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557 ส่วนการรับรองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ศาสตราจารย์โชค จารุจินดา ได้อธิบายไว้ว่า “กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบพิธีไว้ ฉะนั้น แค่ไหนเพียงใด จะถือว่าเป็นการรับรอง จึงต้องดูตามพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป ว่าการประพฤติปฏิบัติที่บิดามีต่อบุตรนั้น เป็นที่เปิดเผยถึงขนาดวิญญูชนจะเพิ่งเข้าใจได้หรือไม่ว่า บิดาได้รับรองแล้ว ฉะนั้น การรับรองหรือไม่ จึงเป็นเรื่องข้อเท็จจริงไม่ต้องจดทะเบียนเป็นบุตรตามมาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557 และไม่ต้องอาศัยทะเบียนคนเกิดหรือทะเบียนอะไรทั้งสิ้น การที่บิดาไปแจ้งทะเบียนคนเกิดว่าเป็นบุตรก็ดี หรือให้ใช้นามสกุลก็ดี เหล่านี้เป็นเพียงข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ประกอบให้เห็นว่า บิดาได้รับรองแล้วหรือไม่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ได้กล่าวแล้วว่า การประพฤติปฏิบัติที่บิดามีต่อบุตรต้องเป็นที่เปิดเผย ฉะนั้น ถ้าไม่เป็นที่เปิดเผย แม้บิดาจะมีความรักใครในบุตรนั้นเพียงใด ก็ถือว่ารับรองไม่ได้ เช่น ชายได้เสียกับหญิง จนเกิดบุตร ได้ปฏิบัติต่อบุตรเยี่ยงบิดากับบุตรชอบด้วยกฎหมาย เพราะความรักใคร่มาก แต่เป็นเพียงปฏิบัติกันอย่างลับๆ เพราะยังมีความละอายอยู่ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าบิดาได้รับรองแล้ว”

     แค่ไหนเพียงไร จึงจะถือว่ามีการรับรองนั้น ศาลฎีกาได้วางแนวตามคำพิพากษาฎีกาที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว โดยถือหลักเกณฑ์ว่า บิดาได้อยู่กินกันกับมารดาของบุตรนอกกฎหมายอย่างสามีภรรยา บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดว่า เป็นเด็กที่เกิดจากตน หรือบิดาให้ความอุปการะเลี้ยงดู บิดาออกทุนให้การศึกษาเล่าเรียน บิดาให้ใช้นามสกุลเป็นต้น

     คำพิพากษาฎีกาที่ 1882 / 2493 ชายหญิงแต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งถือว่าไม่เป็นผัวเมียกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อเกิดบุตรออกมาใช้ได้แจ้งทะเบียนการเกิดของเด็กว่าเป็นบุตรของตน และชายได้อุปการะเลี้ยงดูเด็ก กับแสดงกับคนอื่นตัวทั่วไปว่า เป็นบุตรของตน ดังนี้ ถือว่าเด็กเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองมีสิทธิรับมรดกของชายนั้นได้

     คำพิพากษาฎีกาที่ 205 / 2494 บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ไม่จำต้องเป็นการรับรองในทางทะเบียนรับรองบุตร การรับรองโดยกิริยาความประพฤติเป็นที่เปิดเผย ย่อมถือได้ว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627

     คำพิพากษาฎีกาที่ 649 / 2500 ชายหญิง อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาหญิงคลอดบุตรชายรับเลี้ยงดูให้การศึกษาแล้วให้ใช้นามสกุล กรอก ภ.ง.ด9 ว่าเป็นบุตร และเบิกเงินช่วยค่าเล่าเรียนด้วยแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้

     คำพิพากษาฎีกาที่ 535 / 2509 ชายหญิงอยู่กินกันอย่างออกหน้าออกตา หญิงท้องเมื่อจะคลอดชายได้พาหญิงไปคลอด ไปเยี่ยมเยียนและรับกลับบ้าน ขอให้แพทย์ตั้งชื่อเด็กที่คลอดมานี้ ถือได้ว่าเด็กเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรอง และเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1)

     คำพิพากษาฎีกาที่ 603 / 2509 บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว มีสิทธิรับมรดกของบิดา และมีสิทธิฟ้องคดีขอไถ่ถอนการขายฝากของบิดา โดยไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาก่อน

     คำพิพากษาฎีกาที่ 143 / 2524 เจ้ามรดกอยู่กินกับมารดาโจทก์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มารดาคลอดโจทก์เมื่อมาอยู่ที่บ้านอื่น แต่เจ้ามรดกก็ยังมาดูแลแจ้งการเกิดว่าโจทก์เป็นบุตร ให้โจทก์ใช้นามสกุลและให้ค่าเลี้ยงดูศึกษาเล่าเรียน เป็นพฤติการณ์ที่เจ้ามรดกรับว่าโจทก์เป็นบุตร โจทก์เป็นผู้สืบสันดานจึงมีสิทธิรับมรดกได้เหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629 (1)

สรุป บุตรนอกสมรสที่บิดาให้การรับรอง เพียงแต่รับรองโดยพฤติการณ์ ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดู ก็เพียงพอที่เข้าเงื่อนไขการรับรองโดยพฤติการณ์ที่มีสิทธิได้รับมรดกจากบิดาได้

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE