ปลอมหนังสือมอบอำนาจ
การปลอมหนังสือมอบอำนาจ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา และมีความเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีผลถึงการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น การมอบอำนาจเป็นเรื่องที่สำคัญในการเป็นตัวแทนที่จะไปทำนิติกรรมใดๆแทนผู้มอบอำนาจ เช่น การซื้อขายที่ดิน การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการมอบอำนาจให้ไปกระทำการแทนในกิจการอื่นๆที่สามารถมอบอำนาจให้กันได้ หากมีการใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายในแง่ของเศรษฐกิจ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ไม่สามารถจะยอมความใดๆได้ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
ดังนั้น เพื่อป้องกันการสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจ และอำนาจต่างๆ หากมีการมอบอำนาจกันจริงเพื่อไปทำนิติกรรมต่างๆ ควรระบุข้อความให้ชัดเจนว่าผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิอย่างไรได้บ้าง สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ขอแนะนำให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายและใช้หนังสือมอบอำนาจตามจริงเพื่อปกป้องสิทธิ และประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นในอนาคต แต่มีบ้างในบางครั้ง ที่ผู้กระทำความผิดปลอมขึ้นมาทั้งฉบับ โดยที่ผู้มอบอำนาจไม่รู้ ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อนเลย
การใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม ถือเป็นการกระทำความผิดในหลายกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายและวิธีใช้
- ฐานความผิดในกฎหมายอาญา มาตรา 264 การปลอมเอกสารทุกอย่างไม่เพียงแต่จะเป็นเฉพาะหนังสือมอบอำนาจ ผู้ปลอมและผู้ใช้เอกสารที่ปลอม ถือเป็นหลอกลวงการทำผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถถูกดำเนินคดีต่อศาล ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐานความผิดในกฎหมายแพ่ง การใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจะทำให้เกิดปัญหาทางธุรกิจ เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการทางธุรกิจต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในกฎหมายแพ่ง ซึ่งสามารถดำเนินคดีศาล และต้องรับผลกระทบจากการละเมิดสัญญา และการเสียเงินหรือทรัพย์สินต่างๆ
การปลอมเอกสารและการใช้เอกสารปลอมถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้นการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการกระทำอย่างไม่เหมาะสม
การปลอมเอกสาร ในบางครั้ง คือการสร้างเอกสารโดยที่ไม่มีข้อมูล หรือข้อมูลที่ใส่เข้าไปเป็นเท็จ หรือเอกสารดังกล่าวไม่เคยมีอยู่จริง แต่ถูกปลอมขึ้นทั้งฉบับ โดยปกติแล้วการปลอมเอกสารจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เอกสารดังกล่าวดูเหมือนจริงโดยปลอมลายมือชื่อลงไปด้วย และใช้เอกสารดังกล่าวเพื่อเอาไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ใช้ในการขอสินเชื่อ ใช้ในการยื่นคำขอหรือใบสมัครงาน หรือใช้เพื่อจดจำนอง ซื้อขายที่ดิน
การใช้เอกสารปลอม มักจะเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร เรามักจะเห็นว่าฟ้อง “ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม” เพราะการใช้เอกสารปลอมจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ใช้ในการโกงเงิน ใช้ในการปลอมลายมือชื่อ หรือเช็ค หรือใช้เพื่อทำการอื่นๆโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ก็เป็นความผิดแล้ว
ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคสอง
ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคสอง เป็นการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษ หรือวัตถุอื่นใดที่มีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น และทำเพื่อไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
ดูตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคสอง คือ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1117 / 2533 โจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าให้ภริยาจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยทั้งสามร่วมกันกรอกข้อความว่า โจทก์รับฝากเงินจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สี และเครื่องวิดีโอให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการ ปลอมแปลงเอกสารสิทธิ และจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ยักยอกทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 176 / 2537 ที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ แต่จำเลยที่ 1 กลับกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
การกรอกข้อความในเอกสารที่มีลายมือชื่อของผู้อื่น จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อไม่ได้รับความยินยอมหรือฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าของลายมือชื่อ เช่นมีการกู้เงินกัน 20,000 บาท ผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบฟอร์มสัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ มอบให้ผู้ให้กู้ไปกรอกข้อความเอง ถ้าผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินตรงกันกับที่กู้จริงคือ 20,000 บาทก็ไม่เป็นการปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่ถ้าผู้ให้กู้กรอกว่ากู้เงินกันมากกว่า 20,000 บาท โดยฝ่าฝืนความยินยอมของผู้กู้ เป็นเอกสารปลอมตามมาตรา 264 วรรคสอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 5685 / 2548 หนังสือสัญญากู้เงิน มีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และหนังสือสัญญาค้ำประกันมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันเป็นการกรอกข้อความที่มีมูลหนี้กันจริง แม้จะเป็นการกรอกข้อความภายหลังที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้ และสัญญาค้ำประกันแล้ว ก็ไม่ทำให้สัญญาเงินกู้และหนังสือค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม
ฎีกาที่ 1300 / 2539 จำเลยกล่าวข้อความในสัญญากู้ที่มีลายมือชื่อของผู้อื่น โดยเชื่อโดยสุจริตและกรอกข้อความลงไปตรงตามความจริง ทั้งได้รับความยินยอมจากเจ้าของลายมือชื่อแล้ว สัญญากู้ดังกล่าวย่อมไม่เป็นเอกสารปลอม
ถ้าข้อความในเอกสารที่มีลายมือชื่อของผู้อื่นนั้นตรงตามที่ตกลงกัน ไม่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้ใดไม่เป็นความผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ 2317 / 2543 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจที่จอดเพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ไปกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนอง และขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานว่า โจทก์ลงลายมือชื่อต่อหน้า ข้อความดังกล่าวเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงในทางแพ่ง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงได้ตกลงกันก่อนนั้น จึงถือว่ากิจการที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจเป็นกิจการที่โจทก์จะต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงทางแพ่งที่โจทก์แสดงเจตนาไว้ ดังนั้น ที่จำเลยกรอกข้อความดังกล่าวในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ จึงมิใช่เป็นการกระทำขึ้นเพื่อนำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ในกิจการอื่น นอกเหนือไปจากข้อตกลงอันอาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือแก่ประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่มีมูลความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคสอง
แม้ข้อความที่กรอกจะฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของลายมือชื่อ แต่ถ้าไม่เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลายมือชื่อหรือผู้อื่นก็ไม่เป็นความผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ 2481 / 2528 การกรอกข้อความลงในเอกสารที่มีลายมือชื่อของผู้อื่น โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น จะถือว่าเป็นการปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อ ได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือประชาชน การที่จำเลยกรอกข้อความในตราสารการโอนหุ้น ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้แล้ว โดยไม่ได้รับคำสั่งหรือความยินยอมของโจทก์ และโอนหุ้นของโจทก์ที่มิได้สั่งขายไปเป็นของบุคคลอื่น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์ และโจทก์ไม่ได้เสียหา ยทั้งไม่ปรากฏว่าหากเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิหรือใช้เอกสารสิทธิปลอม
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้มอบอำนาจเพียงแต่ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยมอบหมายให้ผู้รับมอบอำนาจกรอกข้อความเอง แต่ผู้มอบอำนาจตายเสียก่อนมีการกรอกข้อความ การมอบอำนาจระงับ ผู้รับมอบอำนาจไม่มีสิทธิดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว ดังนั้น ถ้าผู้รับมอบอำนาจกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจ แม้จะตรงตามความประสงค์ของผู้มอบอำนาจ ก็ถือเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคสอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 6898 / 2539 จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีแต่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ย. ในช่องผู้มอบอำนาจ แต่ยังมิได้กรอกข้อความ มาบอกให้ ส. กรอกข้อความว่า ย. มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้กับผู้เสียหายโดยตรงตามความประสงค์ของ ย. โดยจำเลยที่ 2 และผู้เสียหายทราบแล้วว่า ย. ถึงแก่ความตาย ดังนี้การมอบอำนาจยังไม่สมบูรณ์ เมื่อผู้มอบอำนาจถึงแก่ความตาย การมอบอำนาจกับสิ้นผล แต่จำเลยที่ 2 กลับทำให้การมอบอำนาจดูเสมือนเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ด้วยการกรอกข้อความ แม้ผู้เสียหายจะไม่เสียหาย แต่ก็อาจเกิดจากความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคสอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 1094 / 2552 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันเอาไปเสียซึ่งหนังสือเดินทางประเทศออสเตรเลียและปลอมหนังสือเดินทางเล่มดังกล่าว โดยนำรูปถ่ายของจำเลยมาติดแทนภาพของผู้มีชื่อในหนังสือเดินทาง จากนั้น จำเลยกับพวกได้ปลอมรอยประทับตราบันทึกการตรวจอนุญาตให้คนเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรของเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน โดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อให้จำเลยออกนอกจากราชอาณาจักร ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น และความผิดปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการ จึงเป็นกรรมเดียวกันผิดกฎหมายหลายบท
สรุป ปลอมหนังสือมอบอำนาจ ต้องเป็นการกระทำต่อเอกสาร อันเป็นผลให้เอกสารนั้นแตกต่างออกไปจากเดิม หรือเอกสารนั้นไม่เคยมีขึ้นอยู่เลย เป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้บุคคลภายนอกผู้รับนิติกรรมสุจริตก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE