พยานผู้เชี่ยวชาญ

พยานผู้เชี่ยวชาญ คือ บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ในสาขาหรือเรื่องเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งจะถูกนำมาเป็นพยานในศาลเพื่อให้ข้อมูลหรือความเห็นที่ช่วยให้ศาลเข้าใจปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น

 มาตรา ๒๔๓  ผู้ใดโดยอาชีพหรือมิใช่ก็ตาม มีความเชี่ยวชาญในการใด ๆ เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฝีมือ พาณิชยการ การแพทย์ หรือกฎหมายต่างประเทศ และซึ่งความเห็นของผู้นั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดี ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา อาจเป็นพยานในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า ตรวจร่างกายหรือจิตของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลย ตรวจลายมือ ทำการทดลองหรือกิจการอย่างอื่น ๆ
               ผู้เชี่ยวชาญอาจทำความเห็นเป็นหนังสือก็ได้แต่ต้องส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือคู่ความไม่ติดใจซักถามผู้เชี่ยวชาญนั้น ศาลจะให้รับฟังความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญไม่ต้องมาเบิกความประกอบก็ได้
               ในกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญต้องมาเบิกความประกอบ ให้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อศาลในจำนวนที่เพียงพอล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันเบิกความเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมารับไป
               ในการเบิกความประกอบ ผู้เชี่ยวชาญจะอ่านข้อความที่เขียนมาก็ได้

มาตรา ๒๔๔  ถ้าศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เห็นจำเป็นเนื่องในการไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณา หรือสอบสวน ที่จะต้องตรวจศพ แม้ว่าจะได้บรรจุหรือฝังแล้วก็ตาม ให้มีอำนาจสั่งให้เอาศพนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจได้ แต่การกระทำตามคำสั่งดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงหลักทางศาสนาและไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงอย่างอื่น

มาตรา ๒๔๔/๑  ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุก หากมีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
               ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง
               ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากมีการเนิ่นช้ากว่าจะนำพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันสำคัญมาสืบในภายหน้าพยานหลักฐานนั้นจะสูญเสียไปหรือยากแก่การตรวจพิสูจน์ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามความในวรรคหนึ่งและวรรคสองได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอให้ถึงกำหนดวันสืบพยานตามปกติ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๓๗ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

 หมวด ๕ ผู้เชี่ยวชาญ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๑
                มาตรา ๒๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๑
                มาตรา ๒๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๑
                มาตรา ๒๔๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๑

ลักษณะของ พยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่:

  1. ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน: มีการศึกษาหรือการฝึกฝนในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน
  2. การให้ความเห็นทางวิชาการ: พยานผู้เชี่ยวชาญจะให้ความเห็นที่อิงตามความรู้หรือประสบการณ์ของตน ซึ่งอาจรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดี
  3. การช่วยชี้แจงข้อมูลที่ซับซ้อน: โดยทั่วไป ศาลอาจไม่สามารถเข้าใจประเด็นทางเทคนิคหรือวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้นการมีพยานผู้เชี่ยวชาญช่วยทำให้ข้อมูลนั้นชัดเจนขึ้น

การเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญมักจะต้องมีการนำเสนอหลักฐานหรือเอกสารที่ยืนยันความเชี่ยวชาญของบุคคลนั้น ๆ ด้วย

ความน่าเชื่อถือของพยานผู้เชี่ยวชาญมีความสำคัญมากในการพิจารณาคดี ซึ่งสามารถพิจารณาจากหลายปัจจัย ดังนี้:

  1. ระดับความเชี่ยวชาญ: ความรู้และประสบการณ์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาที่เกี่ยวข้อง ใบอนุญาต หรือการรับรองจากองค์กรวิชาชีพ
  2. ความเป็นกลาง: พยานผู้เชี่ยวชาญควรมีความเป็นกลาง ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้การให้ความเห็นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
  3. วิธีการที่ใช้: วิธีการที่พยานใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือหลักฐาน ควรเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับในสาขาวิชาของตน
  4. ความชัดเจนในการนำเสนอ: ความสามารถในการอธิบายแนวคิดหรือผลการวิเคราะห์อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย
  5. ประวัติและผลงานที่ผ่านมา: ผลงานหรือผลงานที่ผ่านมาของพยาน เช่น การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือการเข้าร่วมในการประชุมวิชาการ
  6. การตรวจสอบความถูกต้อง: ความสามารถในการตรวจสอบหรือพิสูจน์ความเห็นของตนในฐานะพยาน โดยอาจมีการอ้างอิงถึงงานวิจัยหรือหลักฐานที่สนับสนุน

พยานผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตรงตามปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในคำให้การของตน และส่งผลต่อการตัดสินใจของศาลได้มากขึ้น

ความน่าเชื่อถือของพยานผู้เชี่ยวชาญขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึง:

  1. คุณสมบัติและประสบการณ์: ถ้าพยานมีการศึกษาและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในสาขานั้นๆ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ
  2. ความเป็นกลาง: พยานที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่มีความลำเอียงในความคิดเห็นมักจะน่าเชื่อถือกว่า
  3. วิธีการที่ใช้: หากพยานใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับในวงการและมีหลักฐานสนับสนุน คำให้การจะมีน้ำหนักมากขึ้น
  4. การสื่อสาร: ความสามารถในการอธิบายข้อมูลและหลักฐานอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย
  5. การตรวจสอบ: หากมีการตรวจสอบหรือพิสูจน์คำให้การของพยานโดยผู้อื่นในสาขาเดียวกัน จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ

แม้ว่าพยานผู้เชี่ยวชาญจะมีคุณสมบัติที่ดี แต่ก็ยังต้องพิจารณาในบริบทของคดีและหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ภาพรวมที่ชัดเจนในการตัดสินใจของศาล

การตรวจและการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญโดยศาล

มาตรา ๑๒๘  ถ้าพยานหลักฐานที่ศาลจะทำการตรวจนั้นเป็นบุคคลหรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งอาจนำมาศาลได้ ให้คู่ความฝ่ายที่ได้รับอนุญาตให้นำสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นนำบุคคลหรือทรัพย์นั้นมาในวันสืบพยาน หรือวันอื่นใดที่ศาลจะได้กำหนดให้นำมา
               ถ้าการตรวจไม่สามารถกระทำได้ในศาล ให้ศาลทำการตรวจ ณ สถานที่ เวลา และภายในเงื่อนไข ตามที่ศาลจะเห็นสมควร แล้วแต่สภาพแห่งการตรวจนั้น ๆ

 มาตรา ๑๒๘/๑  ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
               ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสืบพยานตามปกติก็ได้
               ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่น สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบอื่นของร่างกาย หรือสิ่งที่อยู่ในร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ศาลอาจให้คู่ความหรือบุคคลใดรับการตรวจพิสูจน์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้
               ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจเก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง
               ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้ หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา ๑๕๘ หรือมาตรา ๑๖๑

มาตรา ๑๒๙  ในการที่ศาลจะมีคำสั่งให้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมาในมาตรา ๙๙ โดยที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอนั้น
               (๑) การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเช่นว่านั้นให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ศาลจะเรียกคู่ความมาให้ตกลงกันกำหนดตัวผู้เชี่ยวชาญที่จะแต่งตั้งนั้นก็ได้ แต่ศาลจะบังคับบุคคลใดให้เป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ นอกจากบุคคลนั้นได้ยินยอมลงชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญไว้ในทะเบียนผู้เชี่ยวชาญของศาลแล้ว
               (๒) ผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งอาจถูกคัดค้านได้และต้องสาบานหรือปฏิญาณตน ทั้งมีสิทธิที่จะได้รับค่าธรรมเนียมและรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้ออกไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้น

มาตรา ๑๓๐  ผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งอาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการ ถ้าศาลยังไม่เป็นที่พอใจในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำเป็นหนังสือนั้น หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลเรียกให้ผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นเพิ่มเติมเป็นหนังสือ หรือเรียกให้มาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจา หรือให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญคนอื่นอีก
               ถ้าผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งจะต้องแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือต้องมาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจา ให้นำบทบัญญัติในลักษณะนี้ว่าด้วยพยานบุคคลมาใช้บังคับโดยอนุโลม

  มาตรา ๑๒๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๘
                มาตรา ๑๒๘/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

      ฎีกาที่ 4299/2534 สัญญากู้เป็นแบบพิมพ์มีสองหน้า ด้านหน้าเป็นแบบพิมพ์สัญญากู้ด้านหลังเป็นแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันเงินกู้ซึ่งไม่มีการกรอกข้อความดังนี้การปิดอากรแสตมป์ที่แบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันเป็นการปิดอากรแสตมป์สำหรับสัญญากู้ด้วย เมื่อรวมอากรแสตมป์ที่ปิดด้านหน้าและด้านหลังครบถ้วนตามที่ระบุในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรแล้ว ย่อมอ้างสัญญากู้ดังกล่าวเป็นพยานได้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และนาง ค. ในฐานะเป็นผู้ร่วมกันกู้เงินโจทก์ ชดใช้เงินกู้ และขอให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนาง ค.รับผิดหนี้เงินกู้ที่นางค. ต้องใช้คืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 1ในสัญญากู้ปลอม ดังนี้ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 เพราะไม่ว่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้จะปลอมหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งต้องรับผิดในฐานะทายาทของนาง ค. ผู้กู้ร่วม พยานผู้เชี่ยวชาญ เป็นพยานแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชาการซึ่งปกติศาลก็รับฟังแต่มิใช่ว่าจะต้องเชื่อพยานผู้เชี่ยวชาญเสมอไป คำพยานผู้เชี่ยวชาญจะมีน้ำหนักกว่าประจักษ์พยานหรือไม่ก็ต้องพิจารณาตามรูปเรื่องและต้องอาศัยเหตุผลและพยานหลักฐานอื่นประกอบ ซึ่งผิดกับประจักษ์พยานซึ่งเป็นผู้ได้ยินกับหูเห็นด้วยตาของ ตนเองจึงน่าเชื่อว่าพยานผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการที่อ้างแต่เพียงรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญโดยมิได้นำตัวผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความอธิบายประกอบรายงานนั้นว่ามีความเป็นมาอย่างไรกับทั้งทำให้อีกฝ่ายไม่มีโอกาสถามค้านผู้เชี่ยวชาญด้วยดังนี้ ลำพังรายการการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างประจักษ์พยานอีกฝ่ายได้ สำเนาหนังสือราชการที่เจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้อง ซึ่งส่งเข้ามาในคดีตามที่คู่ความอ้างเป็นพยานไว้โดยชอบแล้ว ดังนี้คู่ความที่อ้างไม่จำต้องสืบพยานบุคคลประกอบ สำเนาหนังสือราชการดังกล่าวรับฟังได้เหมือนต้นฉบับ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93(3) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนาง ค. เจ้ามรดกซึ่งเป็นหนี้เงินกู้โจทก์อยู่และได้ถึงแก่กรรมลง ดังนี้ โจทก์มีเพียงสิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้รับศาลจึงไม่จำต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่าให้จำเลยที่ 3 ที่ 4รับผิดต่อโจทก์ไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดกเพราะเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในชั้นบังคับคดี.

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE