พระภิกษุรับมรดก ได้หรือไม่
บุคคลใดแม้จะเป็นพระภิกษุ ก็เป็นทายาทได้ ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม แต่กรณีพระภิกษุเป็นทายาทโดยธรรมนั้น จะเสียสิทธิในการรับมรดก ต่างจากทายาทที่ไม่ใช่พระภิกษุกล่าวคือ จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ในระหว่างอยู่ในสมณเพศไม่ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ มรดกตกได้ขณะทายาทโดยธรรม เป็นพระภิกษุอันเป็นการเสียสิทธิไม่เด็ดขาด เพราะมีคุณสมบัติต่างจากทายาทโดยธรรมอื่น คือ เป็นพระภิกษุ หากพระภิกษุนั้นประสงค์จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกก็จะต้องสึกจากสมณเพศก่อน และต้องเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่ถ้าเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมยังเป็นฆราวาสอยู่แล้ว หลังจากนั้นไปบวชเป็น ก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 1622 วรรคหนึ่ง หรือกรณีพระภิกษุเป็นผู้รับพินัยกรรมแล้วก็ไม่เสียสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดก ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 วรรคสอง
การเสียสิทธิในการรับมรดกของพระภิกษุ ในฐานะทายาทโดยธรรมนี้ เป็นการเสียสิทธิ เฉพาะการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดก หมายถึง การเป็นโจทก์ฟ้องร้องเพื่อเอาส่วนแบ่งมรดกเท่านั้น แต่ถ้าได้รับเอามรดกมาแล้วย่อมฟ้องบุคคลอื่นไม่ให้มาเกี่ยวข้องได้ หรืออาจตกลงกับทายาทอื่นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1750 ก็ได้ หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลก็พิพากษาให้รับส่วนแบ่งได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 406 / 2510 นาย ธ. บวชเป็นพระภิกษุก่อนแล้ว ช. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตลอดมาเวลา 20 ปีแล้วก็ไม่ได้เข้าร่วมครอบครองทรัพย์ คงมีแต่โจทก์ทั้งสามจำเลย และ ส. ครอบครองร่วมกันมาโจทก์ทั้งสามจำเลยและ ส. ย่อมมีสิทธิในทรัพย์มรดกเท่าๆกัน จึงให้แบ่งทรัพย์มรดกเป็นห้าส่วน
คำพิพากษาฎีกาที่ 1026 / 2519 ที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองจำเลยทั้งสองและพระภิกษุ ส. ผู้เป็นทายาทและนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งที่พิพาทจากจำเลยทั้งสอง ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี ยังอยู่ในอายุความที่พระภิกษุจะสึกจากสมณเพศมาเรียกร้องขอแบ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1622 ดังนี้การแบ่งที่พิพาทออกเป็นห้าส่วนโจทก์ได้คนละหนึ่งในห้าส่วน
คำพิพากษาฎีกาที่ 470 / 2535 โจทก์ได้รับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกับ ล. มารดาจำเลยทั้งห้าแล้วที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นมรดกอีกต่อไปต่อมาโจทก์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และ ล. ถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของ ล. ย่อมตกแก่ทายาททั้งห้าที่เป็นบุตรดังนี้โจทก์ย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ได้แม้ขณะฟ้องโจทก์จะเป็นพระภิกษุ ก็หามีบทกฎหมายห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าไม่
ข้อสังเกตกรณีนี้ ถือว่าที่ดินพิพาทสิ้นความเป็นมรดกแล้ว ทั้งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ให้โจทก์ได้มาก่อนอุปสมบทตามมาตรา 1624 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1622 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 1599 วรรคสองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
บทบัญญัติ มาตรา 1622 เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด ว่าหมายถึงมรดกตกทอดแก่พระภิกษุ ขณะเป็นพระภิกษุ
นอกจากนี้มาตรา 1622 วรรคหนึ่งมีที่มาจากกฎหมายลักษณะมรดก มาตรา 366 บัญญัติไว้ชัดเจน
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE