ย่าร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
สวัสดีครับ วันนี้ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี มีกระทู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนะครับ ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ พ่อของเจ้าของกระทู้ได้เสียชีวิตลงแล้ว ปัญหาจึงเกิดขึ้นมาว่า ทรัพย์สินของผู้ตายจะตกเป็นของใคร และหากมีผู้มีสิทธิรับมรดกหลายคน จะแบ่งปันส่วนกันอย่างไร ก่อนที่จะมีการแบ่งทรัพย์มรเดกกันได้ จะต้องมีคำสั่งศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน ผู้จัดการมรดกเปรียบเสมือนเหมือนเป็นผู้นำในการแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนเท่าๆกันให้กับทายาททุกคน หรือแบ่งให้ตามที่ตกลงกัน จากกระทู้ Pantip นี้ ย่ายื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวของลูกชายตนเอง วันนี้ อุดมคดี จะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้กัน ตามลำดับ ได้ดังนี้ครับ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ได้บัญญัติในเรื่องทายาทโดยธรรมเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกอยู่ 6 ลำดับ ดังนี้
1.บุตร
2.บิดา มารดา
3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4.พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
5.ปู่ ย่า ตา ยาย
6.ลุง ป้า น้า อา
ประกอบกับ มาตรา 1630 วรรคสอง ได้ระบุว่า “…..กรณีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณีและบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า เป็นทายาทชั้นบุตร”
เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และมาตรา 1630 วรรคสอง มาปรับใช้กับเรื่องนี้ จึงถือได้ว่า บุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกในเรื่องนี้มีเพียง 3 คนเท่านั้น คือ 1.เจ้าของกระทู้ 2.พี่สาวเจ้าของกระทู้ 3. ย่า เมื่อมีทรัพย์สินเท่าไร จะต้องนำมากองรวมกันแล้วเฉลี่ยเท่าๆกันคนละหนึ่งส่วน หากแบ่งไม่ได้ จะต้องขายทอดตลาดและนำเงินมาแบ่งกัน ยกตัวอย่าง เช่น เจ้ามรดกมีเงินสดในธนาคารอยู่ 1,000,000 บาท มีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหนึ่งหลัง ตีราคาประเมินจากกรมธนารักษ์ ได้ 5,000,000 บาท ดังนั้น การแล่งทรัพย์สินให้กับเจ้าของกระทู้ , พี่สาว และย่า จะต้องแบ่งคนละ 2,000,000 บาทเท่าๆกัน แต่เนื่องจาก บ้านเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้โดยสภาพ จะต้องนำออกขายทอดตลาดแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน แต่ทางปฏิบัติบางท่านไม่อยากขายบ้าน ก็ยินยอมจ่ายเงินให้กับทายาทคนอื่นๆให้ได้เท่ากับราคาของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจนเป็นที่พอใจ วิธีการนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน
ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ตามกฎหมายของประเทศไทย จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วย ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ มี 4 คน คือ
1. เจ้าของกระทู้
2. พี่สาวเจ้าของกระทู้
3. ย่า
4.ธนาคารซึ่งยังเป็นเจ้าหนี้ดอกเบี้ยในบ้านหลังนั้นอยู่
ทั้ง 4 คนนี้ เป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ดังนั้น จึงถือว่าย่าเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาล แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิบุคคลส่วนที่เหลือ ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับย่า
เจ้าของกระทู้อยากจะให้พี่สาวเข้าไปเป็นผู้จัดการมรดก และคัดค้านการเป็นผู้จัดดการมรดกของย่า ได้หรือไม่
ตอบ พี่สาวเจ้าของกระทู้ สามารถแต่งตั้งทนายความเพื่อยื่นคำร้องคัดค้านมิให้ย่าเป็นผู้จัดการมรดกและขอให้ศาลตั้งพี่สาวเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวได้ครับ แต่ต้องยื่นคำร้องคัดค้านอย่างน้อยในวันนัดของศาล เมื่อยื่นแล้ว ศาลจะให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวและอาจจะมีคำสั่งในวันนั้นเลยก็ได้ หรืออาจจะนัดฟังในภายหลังก็ได้
ส่วนการที่พี่สาวหรือเจ้าของกระทู้จะเป็นผู้ผ่อนบ้าน หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลเจ้ามรดกก่อนตายนั้น ไม่อาจเป็นเหตุให้มีสิทธิได้รับมรดกมากกว่าย่า เนื่องจากกฎหมายแบ่งทรัพย์สินให้ตามสายเลือดความเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 มาตรา 1630 และมาตรา 1635 เท่านั้นให้ได้ส่วนเท่าๆกัน ซึ่งหลักการแบ่งทรัพย์สินก็ตามตัวอย่างข้างบน
สรุป จากความเห็นของ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี หากเจ้าของกระทู้เห็นว่า มีความประสงค์อยากเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับย่า สามารถแต่งตั้งทนายยื่นคำร้องขอคัดค้านหรือขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับย่าได้ โดยอย่างช้าที่สุดต้องยื่นคำร้องในวันนัดไต่สวนคำร้องในคดีของย่าครับ
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE