ลักษณะของพินัยกรรม
พินัยกรรมเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว และเป็นเรื่องเฉพาะตัวจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 1647 และ 1648 อาจสรุปความหมายของพินัยกรรมได้ว่า
พินัยกรรม คือเอกสารที่แสดงเจตนากำหนดการเผื่อตาย ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือการต่างๆ อันจะทำให้เกิดผลบังคับตามกฏหมาย เมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย ซึ่งจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนั้นเอกสารที่เป็นพินัยกรรมจึงต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. ต้องมีการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตาย ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่างๆ
1.1 ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีเจตนาในการกำหนดการเผื่อตาย คือต้องแสดงเจตนาว่าจะทำพินัยกรรมจริงหากไม่สมัครใจทำพินัยกรรมหรือทำเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อโดยวัตถุประสงค์อื่นหรือเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ไม่ได้ต้องการให้เกิดผลเป็นพินัยกรรมจริงๆ ก็ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรม
1.2 ต้องเป็นเจตนาให้เกิดผลเมื่อตนเองตาย เอกสารที่ทำขึ้นไม่จำต้องมีคำว่า “พินัยกรรม” แต่เมื่ออ่านทั้งฉบับต้องมีความหมายให้เข้าใจได้ว่าประสงค์จะให้เกิดผลบังคับเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย
1.3 ต้องเป็นการกำหนดการณ์เผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่างๆ
ผู้ทำพินัยกรรมจะกำหนดการเผื่อตายได้เฉพาะในทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น โดยสามารถทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้กับผู้รับพินัยกรรมไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีอยู่แล้วในขณะนั้น หรือจะมีในอนาคต แต่จะไปกำหนดในเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ได้ หากทำไปเฉพาะส่วนนั้นย่อมไม่มีผลบังคับ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเสียก่อนว่า ทรัพย์สินที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุยกให้ผู้รับพินัยกรรมนั้น เป็นทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมหรือไม่ ซึ่งโดยหลักแล้วทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีก่อนหรือขณะตายย่อมเป็นทรัพย์มรดกที่ทำพินัยกรรมยกให้ผู้อื่นได้แต่หากเป็นทรัพย์ที่ได้มาเนื่องจากการตายหรือได้มาภายหลังการตายย่อมมิใช่ทรัพย์มรดก
คำพิพากษาฎีกาที่ 3158 / 2536 มีผู้จับมือเจ้ามรดกเขียนชื่อในขณะที่เจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เท่ากับว่าเจ้ามรดกไม่ได้แสดงเจตนาทำพินัยกรรมเอกสารที่ทำไว้จึงไม่เป็นพินัยกรรมไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 6297 / 2556 การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646 และ 1647 ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่รู้สึกตัวไม่มีสติสัมปชัญญะพูดจาไม่ได้บังคับร่างกายตนเองไม่ได้จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้ได้ด้วยตนเองข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตายแต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้น จึงเป็นพินัยกรรมปลอมไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 12697 / 2556 พินัยกรรมเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว มีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายเมื่อผู้ตายไม่สมัครใจทำพินัยกรรมพิพาท พินัยกรรมพิพาทจึงไม่เป็นนิติกรรมตามมาตรา 149 ผู้ร้องไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรม
คำพิพากษาฎีกาที่ 134 / 2513 หนังสือซึ่งสามีทำระบุชื่อว่า “คำสั่งแทนพินัยกรรม” มีข้อความว่าขอมอบทรัพย์สินทั้งสิ้นให้ภรรยาคนแรกโดยเด็ดขาดภรรยาคนแรกจะจัดแบ่งให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดก็แล้วแต่จะเห็นสมควรหนังสือนี้ไม่ใช่พินัยกรรมเพราะมีข้อความเป็นหนังสือยกให้ทันที
คำพิพากษาฎีกาที่ 2924 / 2525 หนังสือที่ผู้ตายทำขึ้นระบุว่าเป็นพินัยกรรม แต่ข้อความกลับมีเพียงว่าผู้ตายตกลงยกที่ดินให้เท่านั้นไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646 บัญญัติไว้จึงมิใช่พินัยกรรม
คำพิพากษาฎีกาที่ 132 / 2507 เงินช่วยเพื่อนครู (ช.พ.ค.) เป็นเงินที่สมาชิกช่วยกันบริจาคเพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลืองานศพและครอบครัวสมาชิกคนไหนคนหนึ่งซึ่งถึงแก่กรรมลงไม่ใช่เงินหรือสิทธิที่จะพึงได้แก่ตัวสมาชิกจึงไม่ใช่กองมรดกของผู้ตายผู้ตายทำพินัยกรรมยกเงินจำนวนนี้ให้บุคคลอื่นไม่ได้
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE