ลักษณะสำคัญของสัญญาซื้อขาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 บัญญัติว่า “อันว่าการซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิแห่งทรัพย์สิน ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 453 เป็นบทบัญญัติที่ให้ความหมายโดยทั่วๆไปของสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีลักษณะดังนี้
(ก) สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาสองฝ่าย
(ข) สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาที่ผู้ขาย มุ่งจะโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สิน ที่ซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อ
(ค) สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาที่ผู้ซื้อ ตกลงจะชำระราคาให้แก่ผู้ขาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 872 / 2525 ผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในขณะทำสัญญาก็ได้ เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือ ให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิไปโดยชำระราคาตามที่ตกลง หากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิโดยชำระราคาตามที่ตกลงไว้ สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ 2302 / 2533 จำเลยกับโจทก์ ทำสัญญาจะซื้อขายให้โอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินกันภายหน้า แม้ขณะทำสัญญา ผู้จะขายยังไม่มีกรรมสิทธิ หรือกรรมสิทธิในทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ สัญญาก็มีผลใช้บังคับได้ เพราะเมื่อสัญญาถึงกำหนด หากผู้จะขายผิดสัญญาโอนทรัพย์สินให้ผู้จะซื้อไม่ได้ ผู้จะซื้อก็สามารถให้ผู้จะขายชดใช้ค่าเสียหายแทนการโอนทรัพย์สินที่จะขายได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4841 / 2538 สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลย เป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยจำเลยตกลงว่า จะชำระเงินตามที่ตกลงกัน ส่วนโจทก์ตกลงจะขายที่ดินตามสัญญา แต่โจทก์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของในวันทำสัญญา หากคาดหมายว่า จะสามารถโอนให้แก่จำเลยได้ เมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญา แต่เมื่อโจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยตามกำหนดได้ ไม่ว่ากรณีใดจำเลยก็ไม่เป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 209 ถึง 211
สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาที่ผู้ขายมุ่งโอนกรรมสิทธิให้ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่า จะชำระให้แก่ผู้ขายสัญญาซื้อขายจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน
ราคาตามสัญญาซื้อขาย จะต้องเป็นเงินตรา หรือมีเงินตรารวมอยู่ด้วยเสมอ โดยอาจเป็นเงินสกุลไทย หรือสกุลอื่นก็ได้ แต่ต้องเป็นทรัพย์สินอื่นอย่างเดียวและไม่มีเงินตรามาเกี่ยวข้องเลยไม่ได้ มิฉะนั้น อาจจะเข้าลักษณะสัญญาแลกเปลี่ยน
คำพิพากษาฎีกาที่ 5465 / 2560 ทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างกัน แต่ลูกหนี้มิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิแห่งทรัพย์สินโดยมุ่งหวังที่จะได้รับชำระราคาเป็นการตอบแทน และเจ้าหนี้มิได้มีเจตนาที่จะชำระราคาทรัพย์สินให้แก่ลูกหนี้ กรณีจึงมิได้มีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการโอนกรรมสิทธิและการชำระราคา จึงไม่ใช่สัญญาจะซื้อจะขาย แต่เป็นการที่ลูกหนี้ได้แสดงเจตนาออกโฆษณาให้คำมั่นว่า จะให้รางวัลแก่เจ้าหนี้ผู้ได้รางวัลที่ 1 จากการจับคูปองเข้าร่วมชิงโชค ลูกหนี้จึงต้องผูกพันตามคำมั่นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 362 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับรางวัล คือคอนโดมิเนียมโครงการก่อสร้างห้องชุดจากลูกหนี้ตามคำมั่นของลูกหนี้ ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้
สรุป ลักษณะสำคัญของสัญญาซื้อขาย คือการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับเงินตรา เมื่อคำเสนอซื้อ และคำสนองขายถูกต้องตรงกันจึงเกิดเป็นสัญญาขึ้นมา ต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ที่มีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินให้อยู่ในการครอบครองของอีกฝ่าย และอีกฝ่ายก็ต้องชำระค่าสินค้าเป็นเงินตราเท่านั้น (หากชำระโดยสินค้าตอบแทนกลับอีกฝ่าย จะกลายเป็นสัญญาแลกเปลี่ยน ไม่ใช่การซื้อขาย)
สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ในการรับว่าความคดีที่เกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขาย ผิดสัญญาจ้างทำของ และคดีแพ่งอื่นๆทั่วไปด้วย ยินดีให้บริการทุกคดีครับ
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE