ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 215 บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องปรากฏว่า ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้จึงจะมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้
แต่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ เป็นความรับผิดของลูกหนี้นอกเหนือจากสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่ตามมูลแห่งหนี้ จึงต้องเกิดจากความผิดของลูกหนี้ด้วย ลำพังการไม่ชำระหนี้ยังไม่เป็นความผิดของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากลูกหนี้ได้
คำว่า “ความผิดของลูกหนี้” มีความหมายแคบกว่าคำว่า “ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 205 หรือมาตรา 218” ที่รวมทั้งความผิดของลูกหนี้และความผิดของบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบด้วย
การที่ลูกหนี้จงใจไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ ย่อมถือว่าเป็นความผิดของลูกหนี้ แต่กรณีที่ลูกหนี้มิได้จงใจไม่ชำระ อาจถือว่าเป็นความผิดของลูกหนี้ได้ต่อเมื่อการไม่ชำระหนี้นั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของลูกหนี้ด้วย
หนี้ที่เกิดจากมูลสัญญาในเอกเทศสัญญาบางลักษณะ ได้บัญญัติถึงระดับของความระมัดระวังไว้ย่อมถือว่า ลูกหนี้มีความผิดถ้าไม่ใช้ความระมัดระวังถึงระดับนั้น เช่น ผู้เช่าต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าเสมอกับวิญญูชนจะเพิ่งสงวนทรัพย์สินของตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 553 หรือผู้ยืม ต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชน จะพึงสงวนทรัพย์สินของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 644 เป็นต้น
สำหรับข้อที่ว่า การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ดังกล่าว ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เลย ย่อมเห็นได้ชัดส่วนกรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ หากการชำระนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด 5 ความระงับหนี้ส่วนที่ 1 การชำระหนี้ ย่อมเป็นการชำระต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ต่างไปจากนั้น จึงจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ ซึ่งเป็นการชำระหนี้ที่บกพร่อง เท่ากับเป็นการผิดหน้าที่ของลูกหนี้ที่มีอยู่ตามกฏหมายลักษณะหนี้ อันก่อให้เกิดความรับผิดตามมาตรา 215 ได้
ความสำคัญอยู่ที่มูลแห่งหนี้ จึงต้องพิจารณาจากมูลแห่งหนี้นั้นว่า ลูกหนี้มีหนี้หรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้อย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีก็จะกล่าวอ้างว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นหาได้ไม่
การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หากมีสาเหตุที่เกิดจากการกระทำของลูกหนี้เอง ย่อมจะนำมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ให้ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่ชำระหนี้ไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3244 / 2533 การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคำสั่งให้จำเลยออกจากราชการก็สืบเนื่องมาจากจำเลยแจ้งความประสงค์จะออกจากราชการไปเป็นพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยดังนั้นจำเลยจะอ้างว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นออกคำสั่งให้จำเลยออกจากราชการเพื่อให้ผลจากความรับผิดที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาการรับทุนหาได้ไม่
สัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้ จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่อยู่ในฐานะพร้อมที่จะชำระหนี้ได้ หรือเป็นฝ่ายผิดสัญญาอยู่ด้วยหรือเป็นฝ่ายผิดสัญญาไปก่อนแล้ว ย่อมจะอ้างว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่
การชำระหนี้ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 215 ได้ ต่างกับไม่ชำระหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 หรือมาตรา 388 ที่จะต้องเป็นเรื่องสาระสำคัญ หากไม่ใช่เรื่องที่เป็นสาระสำคัญเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา
สำหรับความผิดอันเนื่องมาจากมูลสัญญา ในส่วนที่เป็นการบังคับให้กระทำการอาจแบ่งออกได้เป็น 2 อย่างคือ
(1) หนี้ที่ต้องกระทำให้เกิดผลสำเร็จ เช่น จ้างตัดหญ้าในสนามหญ้า ผู้รับจ้างต้องตัดหญ้าให้เสร็จจึงจะถือว่าชำระหนี้แล้ว
(2) หนี้ที่ต้องกระทำโดยใช้ความระมัดระวังหรือความพยายาม เช่น จ้างทนายความว่าความเมื่อทนายความว่าความอย่างระมัดระวังและใช้ความสามารถดีแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการชำระหนี้ถูกต้องแล้วผลคดีแพ้ชนะไม่เป็นข้ออ้างที่จะเอาผิดได้ว่าลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งรวมถึงการจ้างแพทย์ให้ทำการรักษาผู้ป่วยก็มีความหมายเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้การชำระหนี้ไม่ถูกต้อง ผลคือ เจ้าหนี้สามารถเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนนอกจากหนี้เดิมได้อีก
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE