วันหยุดตามกฎหมายแรงงาน (ต่อ)
สำนักงานกฎหมาย มีบทความเกี่ยวกับเรื่อง วันหยุดตามกฎหมายแรงงาน ต่อจากกระทู้ที่แล้ว ได้ลงบทความ วันหยุดตามกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างหยุดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไปแล้ว 5 กรณี ซึ่งมีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดเป็นสองช่วง ยังเหลือเนื้อหาวันลาตามกฎหมาย อีก 5 กรณี ดังนี้ครับ
วันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น
วันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นนั้น มาตรา 34 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ สำหรับการจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นนั้น มาตรา 57 / 1 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่หนึ่งปีต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน
วันลาเพื่อรับราชการทหาร
การลาเพื่อรับราชการทหารตามมาตรา 35 กำหนดไว้เพื่อให้สิทธิแก่ลูกจ้าง ที่ถูกเรียกเข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมได้ และกฎหมายก็ยังได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในการลาดังกล่าว ตามจำนวนวันที่ลา แต่ปีละไม่เกิน 60 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58
วันลาเพื่อการอบรม
บทบัญญัติในมาตรา 36 กำหนดไว้เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยกำหนดไว้ว่า ถ้าลูกจ้างประสงค์จะไปพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ของตน ก็สามารถลาได้โดยมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความสามารถในกรณีดังนี้
– (1) เพื่อประโยชน์ต่อการแรงงาน และสวัสดิการทางสังคม หรือการเพิ่มทักษะความชำนาญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งจะต้องมีโครงการ หลักสูตรและกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนและชัดเจน
(2) การสอบวัดผลทางการศึกษา ที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้น
ในการลาดังกล่าว ลูกจ้างจะต้องแจ้งเหตุถึงการลาโดยชัดแจ้ง พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง(ถ้ามี) เพื่อให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน นายจ้างไม่อนุญาตให้ลูกจ้างลาก็ได้ ถ้าในปีนั้นลูกจ้างลามาแล้ว 3 ครั้ง หรือเกินกว่า 30 วัน หรือการลานั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการประกอบธุรกิจของนายจ้าง การลาประเภทนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง
วันลาเพื่อคลอดบุตร
การลาเพื่อคลอดบุตรนั้นมาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรคนหนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยกำหนดด้วยว่า การลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร หมายถึงวันลาเพื่อคลอดบุตรด้วย วันลาเพื่อคลอดบุตรไม่ถือเป็นวันลาป่วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 32 วรรคท้าย
สำหรับค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตรนั้น กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้างหญิงที่ลาเพื่อคลอดบุตร เท่ากับค่าจ้าง ในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน ดังปรากฏอยู่ในมาตรา 59
การใช้แรงงานหญิง
บทบัญญัติเรื่องการใช้แรงงานหญิงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเป็นหญิง ด้วยเหตุที่ว่าลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงนั้น มีลักษณะร่างกายหรือโครงสร้างสรีระ ที่แตกต่างจากลูกจ้างชาย ทำให้งานบางประเภทไม่เหมาะสำหรับลูกจ้างหญิง และลักษณะทางเพศซึ่งหญิงเป็นฝ่ายที่จะมีครรภ์และให้กำเนิดบุตรซึ่งจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ของชาติต่อไป ในระหว่างการมีครรภ์เป็นระยะเวลาที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงกำหนดการคุ้มครองแรงงานหญิงไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 38 กำหนดการคุ้มครองมิให้หญิงทำงานอันตรายตามมาตรา 39 , มาตรา 39 / 1 , มาตรา 42 และมาตรา 43 กำหนดการคุ้มครองหญิงมีครรภ์มาตรา 40 กำหนดการคุ้มครองหญิงซึ่งทำงานในเวลาวิกาล
บทบัญญัติเรื่องการคุ้มครองลูกจ้างหญิงมีครรภ์เป็นบทบัญญัติสำคัญ โดยกำหนดว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงาน 5 ประเภทตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 ไม่ได้ และจะทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามมาตรา 39 / 1 ก็ไม่ได้เช่นกัน นายจ้างต้องเปลี่ยนงานให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์เป็นการชั่วคราวก่อน หรือหลังคลอด ถ้าลูกจ้างนั้นได้นำใบรับรองแพทย์มาแสดงว่า ไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ดังที่ปรากฏไว้ในมาตรา 42 และห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ตามมาตรา 43
คำพิพากษาฎีกาที่ 1956 / 2548 แม้ในระหว่างการลาเพื่อคลอดบุตรนายจ้างก็มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างหญิงนั้นได้ หากไม่ปรากฏว่านายจ้างเลิกจ้างหญิงนั้น เพราะเหตุมีครรภ์ การเลิกจ้างนั้นก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 43
คำพิพากษาฎีกาที่ 1394 / 2549 ข้อตกลงว่าหากลูกจ้างตั้งครรภ์ภายใน 2 ปี ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้าง เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้าง เพราะเหตุมีครรภ์ขัดต่อมาตรา 43 จึงเป็นโมฆะ
สรุป วันหยุดตามกฎหมายแรงงาน (ต่อ) ซึ่งเป็นกรณีวันลาอีก 5 กรณี ตามกฎหมายคือกำหนดให้ต้องมีวันหยุด 13 วันต่อปี ซึ่ง 13 วันนี้ นอกจากวันแรงงานแล้ว ไม่มีวันไหนที่กำหนดตายตัวครับ
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE