วิธีจัดการบริษัท

วิธีจัดการบริษัท

     วันนี้ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี มีเรื่องจะมาแชร์เกี่ยวกับบริษัทจำกัดให้ฟัง บริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย คำว่า “นิติบุคคล” หมายถึง การเป็นบุคคลตามที่กฎหมายรองรับ ดังนั้น บริษัทจำกัด จึงถือว่าเป็นบุคคลนั่นเอง แต่ด้วยความที่บริษัทจำกัด ไม่มีชีวิตจิตใจ จึงจำเป็นต้องมีบุคคลมากระทำการแทนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ บุคคลดังกล่าวนี้เราเรียกว่า กรรมการบริษัท

     ในทุกๆบริษัท จะมีกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อย่างน้อยหนึ่งคน บางบริษัทอาจจะกำหนดจำนวนกรรมการและอำนาจกรรมการมากกว่านั้นก็ได้ เพื่อให้จัดกิจการของบริษัท ทั้งการทำนิติกรรมให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท , การลงลายมือชื่อรับรองงบการเงิน , การมีอำนาจสั่งการและการบริหารงานต่างๆ แต่ถึงอย่างไรนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของบริษัทที่แท้จริง คือผู้ถือหุ้น อำนาจของกรรมการย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ถือหุ้นให้ปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัทอย่างระมัดระวัง

     วิธีจัดการบริษัท มีบัญญติไว้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1145 บัญญัติว่า “จำเดิมแต่ได้จดบริษัทแล้ว ท่านห้ามมิให้ตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณฑ์สนธิแต่อย่างใด เว้นแต่จะได้มีการลงมติพิเศษ”

     ในหลักปฏิบัติ กิจการอันใดที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ว่าจะต้องทำโดยใช้มติพิเศษ กิจการนั้นก็ใช้มติธรรมดาโดยอาศัยเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีกิจการบางอย่างจะกระทำได้ต้องมีมติที่ประชุมแบบมติพิเศษ คืออาศัยเสียงข้างมากมีจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดและต้องเป็นมติจากที่ประชุมด้วย

กิจการที่ต้องอาศัยมติพิเศษ ได้แก่ กิจการดังต่อไปนี้
1. การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัท หรือเพิ่มเติมข้อบังคับ หรือหนังสือบริคณฑ์สนธิ (มาตรา 1145)
2. การเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท โดยการเพิ่มหุ้นใหม่ (มาตรา 1220)
3. การออกหุ้นใหม่ ให้ชำระค่าหุ้นด้วยสิ่งอื่นนอกจากชำระเงิน (มาตรา 1221)
4. การลดทุน (มาตรา 1224)
5. การจดทะเบียนเลิกบริษัท (มาตรา 1236 อนุมาตรา 4)
6. การควบรวมบริษัท (มาตรา 1238)
7.การแปรสภาพบริษัทจากบริษัทจำกัด ไปเป็นบริษัทมหาชน ตามพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 180

     เหตุผลที่กฎหมายบัญญัติว่าต้องทำตามมติพิเศษนั้น เพราะว่า ข้อบังคับของบริษัท เมื่อได้ตั้งขึ้นโดยอาศัยการประชุมผู้ถือหุ้นเเล้ว ก็ต้องนำไปจดทะเบียนตาม มาตรา 1111 และถือเป็นการผูกพันธ์ผู้ถือหุ้นทุกคน เมื่อนำเอกสารไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนแล้ว จึงมีการประกาศในราชกิจานุเบกษาประกาศให้ประชาชนหรือบุคคลภายนอกรับรู้โดยทั่วกัน ดังนั้น หากบริษัทจำกัด มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงจัดตั้งข้อบังคับขึ้นมาใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมข้อบังคับ เปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณฑ์สนธิ จะต้องอาศัยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ส่วนวิธีการประชุมและวิธีลงมตินั้นให้ดูตามมาตรา 1194

     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1146 บัญญัติว่า “บรรดาข้อบังคับอันได้ตั้งขึ้นใหม่ หรือได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะจัดให้ไปจดทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วัน นับแต่วันที่ได้ลงมติพิเศษ”

     ตามมาตรา 1146 นี้ เหตุที่กฎหมายกำหนดว่าต้องไปจดทะเบียน เพื่อต้องการให้บุคคลภายนอก คู่ค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาทำการติดต่อค้าขายกับบริษัทจำกัด ได้ทราบถึงข้อบังคับของบริษัทด้วย ว่ามีข้อบังคับอย่างไร เพราะเวลาในการทำนิติกรรมสัญญา จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องและเพื่อดูคุณสมบัติของบริษัทจำกัด ก่อนทำสัญญาได้ เช่น ในเรื่องการประมูลงานก่อสร้างหน่วยงานราชการ จะมีกำหนดคุณสมบัติของบริษัทจำกัดที่จะเข้าประมูลงาน กำหนดทุนจดทะเบียนบริษัท วัตถุประสงค์บริษัทตรงตามที่จดทะเบียน เป็นต้น

     หากบริษัทจำกัดละเลยไม่กระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด บริษัทและกรรมการบริษัท จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ มาตรา 13

     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1147 บัญญัติว่า “บรรดาข้อบังคับอันตั้งขึ้นใหม่ หรือหนังสือบริคณฑ์สนธิ หรือข้อบังคับที่ได้เปลี่ยนแปลงนั้น ให้บริษัทส่งมอบฉบับตีพิมพ์ไว้ ณ หอทะเบียนอย่างละสิบฉบับในเวลาเดี่ยวกับที่ขอจดทะเบียน”

     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1148 บัญญัติว่า ” บรรดาบริษัทจำกัด ต้องมีสำนักงานบอกทะเบียนไว้แห่งหนึ่งซึ่งธุรการติดต่อ และคำบอกกล่าวทั้งปวงจะส่งถึงบริษัท ณ ที่นั้น
คำบอกกล่าวสถานที่ตั้งแห่งสำนักงานที่ได้บอกทะเบียนไว้ก็ดี หรือเปลี่ยนย้ายสถานที่ก็ดี ให้ส่งแก่นายทะเบียนบริษัท และให้นายทะเบียนจดข้อความนั้นลงในทะเบียน”

     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1149 บัญญัติว่า “ตราบใดหุ้นทั้งหลายยังมิได้ชำระเงินเต็มจำนวน ท่านว่าตราบนั้น บริษัทจะลงพิมพืหรือแสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทในหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด เช่น คำบอกกล่าวป่าวร้องก็ดี ในตั๋วเงินและบัญชีสิ่งของก็ดี ในจดหมายก็ดี ต้องแสดงไว้ให้ชัดเจนด้วยในที่เดียวกันว่า จำนวนเงินต้นทุนได้ชำระแล้วเพียงกี่ส่วน”

     เจตนารมย์ของมาตรานี้ เพื่อต้องการให้ประชาชนได้ทราบถึงบริษัทจำกัดแห่งนี้ มีเงินทุนที่ใช้ประจำอยู่เท่าใด และยังสามารถเรียกจากผู้ถือหุ้นได้อีกเท่าใด บางบริษัทจำกัดตั้งทุนจดทะเบียนไว้สูงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงฐานะการเงินของบริษัทที่ดี แต่เวลาเรียกเก็บเงินค่าหุ้น เรียกเพียง 25เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งเป็นขั้นต่ำตามหนังสือบริคณฑ์สนธิ) ซึ่งหมายความว่า บริษัทมีทุนหมุนเวียนอยู่เพียงหนึ่งในสี่ของจำนวนทุนที่จดทะเบียไว้เท่านั้น หากไม่มีการบัญญัติมาตรานี้ไว้เเล้ว บริษัทจำกัดอาจโฆษณาเกินจริงว่ามีเงินทุนเท่าจำนวนที่จดทะเบียนไว้แล้ว อันเป็นการหลอกลวงประชาชน ดังนั้น หากบริษัทได้แสดงจำนวนต้นทุนไว้ในหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดไว้อย่างชัดเจนว่าจำนวนต้นทุนของหุ้นมีการชำระแล้วกี่บาท

     สรุป วิธีจัดการบริษัท มีทั้งการลงมติธรรมดา และ มติพิเศษ หากบริษัทจำกัดประสงค์จะจัดกิจการใดๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน 7 ข้อที่กล่าวข้างต้น ให้พิจารณาในข้อบังคับของบริษัทว่ามีระบุไว้เป็นพิเศษหรือไม่ หากไม่มีกำหนดไว้เป็นพิเศษ จะถือว่าเป็นมติธรรมดาที่อาศัยเสียงข้างมากในการจัดการบริษัทจำกัด หากเป็นมติพิเศษ ต้องอาศัยจำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นสามในสี่ของมติที่ประชุมใหญ่

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE