สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด “สังหาริมทรัพย์”
มาตรา 458 บัญญัติว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 349 / 2527 จำเลยทำสัญญาโอนขายสิทธิการเช่าโทรศัพท์ให้แก่ผู้ร้อง ได้ชำระเงินและรับมอบเครื่องรับโทรศัพท์กันแล้ว ตั้งแต่วันทำสัญญาการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าว ย่อมมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ขณะทำสัญญาเสร็จ การที่จะไปทำการเปลี่ยนชื่อผู้เช่าโทรศัพท์มาเป็นชื่อผู้ร้อง เป็นเพียงแต่พิธีการเท่านั้นสิทธิการเช่าโทรศัพท์จึงไม่ใช่เป็นของจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธินำยึดต้องปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์
การซื้อขายรถยนต์นั้นเมื่อมีการตกลงซื้อขายกัน ก็เกิดเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิในรถยนต์ย่อมโอนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อทันที ที่ตกลงซื้อขายหรือตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 458 เช่นเดียวกับสังหาริมทรัพย์ทั่วๆไป
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด “อสังหาริมทรัพย์” หรือ “สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ”
เนื่องจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษ จะต้องทำตามแบบคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่อาจโอนไปยังผู้ซื้อได้ ดังนั้นในกรณีที่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อ ต่อเมื่อได้ทำถูกต้องตามแบบคือ เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่
ข้อสังเกต การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดสังหาริมทรัพย์และซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์และสังหาชนิดพิเศษ
สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สังหาริมทรัพย์ทั่วๆไป อสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์พิเศษ ตามข้อ ก และ ข ที่กล่าวมา การส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย การชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อขาย มิใช่เกณฑ์ที่จะนำมาพิจารณาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 บัญญัติว่า “ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น” สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ต้องเป็นการเอาเงื่อนไขไปผูกกับการโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าผูกกับอย่างอื่นถึงจะเป็นเงื่อนไขก็ไม่เรียกว่าเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เช่น ซื้อขายปากกา ตกลงว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปเมื่อผู้ซื้อชำระราคาครบ เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เพราะเงื่อนไขผูกกับการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าตกลงกันว่าผู้ซื้อจะชำระราคาเมื่อหางานทำได้ ไม่ใช่สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามมาตรา 459 นี้ เพราะเงื่อนไขไม่ได้ผูกกับการโอนกรรมสิทธิ์เป็นเพียงสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขทั่วๆไป
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายมีเงื่อนเวลา
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 บัญญัติว่า ถ้าซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงเงื่อนกำหนดเวลาก่อน
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอน
มาตรา 460 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในการซื้อขายทรัพย์สิน ซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไป จนกว่าจะได้หมายหรือนับชั่งตวงวัดหรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ยังไม่รู้ราคา
มาตรา 460 วรรคสอง บัญญัติว่า การซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่นหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สิน เพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินที่แน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำไปแล้ว
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายเหมา
สัญญาซื้อขายเหมา คือสัญญาซื้อขาย ที่ผู้ซื้อและผู้ขาย ตกลงซื้อขายทรัพย์สินจำนวนมากจำนวนหนึ่งซึ่งกำหนดต่อทรัพย์สินไว้แน่นอน โดยไม่ต้องตรวจหรือนับจำนวนหรือปริมาณที่แน่นอนของทรัพย์นั้นในราคาที่ตกลงกันเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน
การซื้อขายเหมา เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทรัพย์สิน ที่กำหนดต่อทรัพย์สินลงไว้แน่นอนและทราบราคาแน่นอนแล้ว ดังนั้นการโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นไปตามหลักมาตรา 458 คือกรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อขณะทำสัญญาซื้อขายกัน
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายเงินเชื่อ
สัญญาซื้อขายเงินเชื่อ คือสัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อ และผู้ขายตกลงกันว่า ผู้ซื้อจะชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายให้แก่ผู้ขายให้ครบถ้วนในเวลาข้างหน้าหลังจากทำสัญญาซื้อขาย
สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด สังหาริมทรัพย์ที่เป็นสัญญาซื้อขายเงินเชื่อกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายเงินเชื่อกันตามหลักในมาตรา 458
การโอนกรรมสิทธิตามสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
สัญญาซื้อขายเงินผ่อน คือสัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อ และผู้ขายตกลงกันว่า ผู้ซื้อจะชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายให้แก่ผู้ขายให้ครบถ้วนในเวลาข้างหน้า หลังจากวันทำสัญญาซื้อขาย โดยผู้ซื้อจะชำระราคาให้ผู้ขายเป็นงวดๆ
สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสัญญาซื้อขายเงินผ่อน กรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายเงินผ่อนกันตามหลักในมาตรา 458 เช่นเดียวกับการซื้อขายเงินเชื่อ เช่น การซื้อขายรถยนต์ผ่อนส่งที่มิได้ถือเอาการโอนชื่อทางทะเบียนหรือการชำระราคาครบถ้วนเป็นเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินในรถยนต์โอนเป็นชื่อของผู้ซื้อตั้งแต่ขณะซื้อขายกัน
หน้าที่ของผู้ซื้อและผู้ขาย
สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาต่างตอบแทน คือ สัญญาซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างผลัดกันเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ไม่เหมือนกับสัญญาบางชนิด ที่แม้จะมีคู่กรณีสองฝ่ายแน่นอน แต่หากเกิดหนี้แต่ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่ได้มีหนี้ อย่างนั้นเรียกว่าสัญญาที่ไม่ต่างตอบแทน เช่น สัญญาฝากทรัพย์ ผู้ฝากไม่มีหนี้ จะต้องทำอะไร แม้แต่ค่าฝากก็ไม่ต้องมี ถ้ามี จะเรียกว่าฝากทรัพย์มีบำเหน็จ กลายเป็นเรื่องต่างตอบแทนแล้ว แต่ซื้อขายเป็นหนี้สองฝ่ายผู้ขายมีหนี้จะต้องชำระแก่ผู้ซื้อ คือ การส่งมอบแล้ว ผู้ซื้อมีหนี้จะต้องชำระแก่ผู้ขาย คือการชำระราคา อย่างนี้เรียกว่าสัญญาต่างตอบแทน เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ ก็คือ หนี้ผูกพันทางฝ่ายผู้ขายก่อน ซึ่งผู้ขายมีหนี้จะต้องชำระแก่ผู้ซื้ออะไรบ้าง….
หน้าที่ประการแรกของผู้ขาย ก็คือจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปยังฝ่ายผู้ซื้อได้
ถ้าเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดา ผู้ขายไม่มีหน้าที่ๆ จะต้องกระทำการเพื่อโอนกรรมสิทธิ์เพราะกรรมสิทธิ์โอนเมื่อเกิดสัญญาซื้อขายตามมาตรา 458 จะมีก็ในกรณีที่เป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ที่จะต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน เช่นนี้ทางฝ่ายผู้ขายก็มีหน้าที่ไปดำเนินการให้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้ ก็คือดำเนินการให้ทำการซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนให้ได้
ประการที่สอง คือต้องมีการไปดำเนินการอื่นๆตามกฏหมาย ถ้ามีกฎหมายกำหนดให้ทำ เช่น การจดทะเบียนแต่ไม่ใช่จดทะเบียนตามแบบหน้าที่ประการแรก ซึ่งเป็นการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ ข้อนี้เป็นเรื่องจดทะเบียนตามกฏหมายอื่น
หน้าที่ประการที่สาม คือการส่งมอบทรัพย์สิน
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE