สัญญาตัวแทน

https://pantip.com/topic/41104261

สัญญาตัวแทน

หลักกฎหมายของ สัญญาตัวแทน มาตรา 797 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือ สัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ตัวแทนมีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคน หนึ่งเรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดังนั้น
            อันความเป็นตัวแทนนั้น จะเป็นโดยแต่งตั้งแสดงออกชัด หรือโดยปริยายก็ย่อมได้

ลักษณะสำคัญของสัญญาตัวแทน

1. ความหมายของตัวแทน

          สัญญาตัวแทน คือ สัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะทำการดังนั้น

          ดังนั้น การเป็นตัวแทนและตัวการ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทั้งสองฝ่ายมีสภาพเป็นบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

          คำพิพากษาฎีกาที่ 5591 / 2551 แม้บริษัทจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นภายหลัง จากที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์แล้ว แต่ได้จัดตั้งขึ้นหลังจากทำสัญญาเพียงหนึ่งปี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและจำเลยที่ 1 แม้ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญา เพราะขณะนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ  ผู้มีอำนาจกระทำการแทน ได้รับและถือเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญากับโจทก์ โดยการจัดจำหน่ายหนังสือนิยสยของโจทก์ต่อไป ถือว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทราบและผูกพันตามข้อตกลงในการจำหน่ายนวนิยายให้เสร็จสิ้น ภายในระยะเวลาสองปีด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์

1.1 กรณีที่ถือว่าเป็นตัวแทน

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1865 / 2530 การดำเนินธุรกิจซื้อขายหุ้นของโจทก์ กระทำโดยผ่านทางจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ การซื้อหรือขายหุ้นเป็นจำนวนเท่าใดมีมูลค่าอย่างไร จำเลยจะต้องกระทำไปตามคำสั่งของโจทก์ทั้งสิ้น โดยจำเลยมิได้มีอำนาจในการที่จะใช้ดุลพินิจของตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นลักษณะของ ตัวการตัวแทน การให้จำเลยเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไป แทนโจทก์ในกิจการที่โจทก์มอบหมายให้ปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องตัวแทนเอาเงินไปใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193 / 30

          คำพิพากษาฎีกาที่ 33 / 2532 โจทก์มอบหมายให้จำเลยซึ่งเป็นทนายความของโจทก์ในคดีก่อนมีอำนาจรับเงินจากจำเลยในคดีนั้นแทนโจทก์ได้ เมื่อจำเลยรับเงินจาก  ธ.  ซึ่งชำระหนี้แก่โจทก์แทนจำเลยในคดีดังกล่าว เงินที่จำเลยรับไว้จึงตกเป็นของโจทก์ จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอก โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

          หมายเหตุ  ตามฎีกานี้ตัวความมอบอำนาจให้ ทนายความ มีอำนาจรับเงินในคดีแทนตัวความได้ ทนายความ จึงเป็นตัวแทนรับเงินแทนตัวความในคดีได้ เมื่อตัวแทนเบียดบังเอาเงินนั้นไป จึงมีความผิดฐานยักยอกและตัวความย่อมเป็นผู้เสียหาย

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3913 / 2534 จำเลยที่ 9 ว่าจ้างจำเลยที่ 7 เจ้าของเรือลากจูงไปทำการลากจูงเรือพ่วง โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 7 เป็นผู้ควบคุมเรือ ขับไปชนสะพานเสียหายจึงเป็นละเมิด เท่ากับจำเลยที่ 7 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 9 และถือได้ว่าจำเลยที่ 9 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ด้วย จำเลยที่ 9 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 7 ในผลแห่งละเมิด

          คำพิพากษาฎีกาที่ 668 / 2535 มาตรา 193 / 14 (1) การรับสภาพหนี้จะต้องกระทำโดยลูกหนี้ แต่ลูกหนี้อาจตั้งตัวแทนให้ชำระหนี้ได้ ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้ของลูกหนี้นั่นเอง จำเลยที่ 2 เคยลงลายมือชื่อรับสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 และเคยพูดขอผัดผ่อนชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 มอบหลังคาไฟเบอร์กระบะชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการกระทำโดยตระหนักเป็นปริยายว่า ยอมรับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยปริยาย จึงเป็นการรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

          คำพิพากษาฎีกาที่ 514 / 2538 จำเลยที่ และจำเลยที่ 2 มีสิทธิ แต่งตั้งทนายความให้ว่าความ และดำเนินกระบวนพิจารณาแทนได้ตามมาตรา 60 ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตัวแทนตามมาตรา 797 และการแต่งตั้งผู้ใดเข้าเป็นทนายความ ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นสำคัญ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิจะขอถอนทนายความ ซึ่งเป็นตัวแทนเมื่อไรก็ได้ ตามมาตรา 827 วรรค 1 หากทนายจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เสียหายอย่างไร ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 827 วรรคสอง ที่ให้สิทธิไว้

1.2 กรณีที่ไม่ถือว่าเป็น สัญญาตัวแทน

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1176 / 2510 เจ้าของรถยนต์ นำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถ เจ้าของรถยนต์วานช่างซ่อมขับรถคันนั้นไปส่งที่อื่น เมื่อส่งเสร็จแล้วช่างซ่อมรถขับรถกลับอู่ ไปชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายระหว่างทาง ดังนี้ ช่างซ่อมรถไม่ได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของเจ้าของรถยนต์ เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องร่วมรับผิดในการละเมิดนั้น

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1607 / 2532 โจทก์มอบพลอยจำนวน 3 หมู่ ให้จำเลยไปขาย โดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาสูงกว่าก็ได้ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิขายพลอยอย่างเป็นของตนเอง ไม่ใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทน แก่จำเลยเป็นเงิน 3% ของเงินที่ขายได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป การที่จำเลยไม่ยอมคืนพลอยหรือใช้เงินให้โจทก์เป็นเพียงผิดข้อตกลงกัน ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยในทางแพ่ง หาเป็นเรื่องที่มีความผิดในทางอาญาฐานยักยอกไม่

  • ข้อสังเกต

(1) การกระทำกิจการร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่กัน ทำมิใช่ตัวการตัวแทน

          คำพิพากษาฎีกาที่ 85/2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้พัฒนาที่ดินเพื่อจัดสรรแล้ว จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้นำที่ดินไปให้บุคคลภายนอกเช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จะนำเงินดังกล่าวชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 3   แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องโอนกรรมสิทธิที่ดินให้แก่ผู้เช่าซื้อ แสดงว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดสรรที่ดิน เพื่อจำหน่ายโดยแบ่งหน้าที่กัน มิใช่เป็นตัวการตัวแทน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ด้วย

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2765 / 2548 จำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาจ้างก่อสร้างบ้าน ลงในที่ดินของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมและมุ่งผูกพันในสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ ในฐานะอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงชื่อคู่สัญญาในสัญญาจ้างคนเดียวก็ตามหนี้ค่าก่อสร้างบ้านที่จำเลยทั้งสองมุ่งหมายจะได้อยู่อาศัยต่อไป ย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้

          หมายเหตุ ตามฎีกานี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างโจทก์ ทำการก่อสร้างบ้านพักอาศัยลงบนที่ดินของจำเลยทั้งสอง

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1521 / 2548 จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 และร่วมกันตกลงว่าจ้างโจทย์ให้เป็นพยาน ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้ร่วมว่าจ้าง กรณีมิใช่เรื่องตัวการตัวแทน

(2) การมอบอำนาจให้ลงชื่อในสัญญา ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวถึงการมอบอำนาจไว้ในสัญญา

          คำพิพากษาฎีกาที่ 66  / 2537 บริษัทโจทก์มอบอำนาจให้ จ. และ อ. ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อ จ. และ อ. กระทำการแทนโจทก์ได้ โดยไม่ต้องระบุในสัญญาเช่าซื้ออีกว่า โจทก์มอบอำนาจให้ จ. และ อ. กระทำการแทน

(3) การนำสืบถึงการเป็นตัวการตัวแทน ในการสั่งซื้อสินค้าถือว่าเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียด ไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้อง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา

          คำพิพากษาฎีกาที่ 528 / 2536 ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้  ส. เป็นตัวแทนในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวการ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด แม้โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการ และ ส. เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ โจทก์ก็สามารถนำสืบในข้อนี้ได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อเท็จจริงรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายกันอาจกระทำโดยตนเอง หรือโดยมีตัวแทนไปติดต่อทำสัญญาซื้อขายแทนก็ได้ และศาลวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น

(4) สัญญาตัวแทน กับสัญญาซื้อขาย

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3049 / 2528 โจทก์ซื้อกระจกกับบริษัท ก. แล้วขายต่อไปให้บริษัท ม. อีกต่อหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ทำการชี้ช่องหรือจัดการให้บริษัท ก. ได้เข้าทำสัญญากับผู้ใด หรือโจทก์ได้ขายกระจกแทนบริษัท ก. และหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ก. ก็ระบุไว้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ในทางตัวการตัวแทน แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โจทก์จึงมิได้เป็นนายหน้าหรือเป็นตัวแทนของบริษัท ก.

2. การแต่งตั้งตัวแทน

ความเป็นตัวแทนจะเป็นโดยแต่งตั้งแสดงออกชัด หรือโดยปริยายก็ได้

  • 2.1 ตัวแทนโดยแต่งตั้งแสดงออกชัด

          คำพิพากษาฎีกาที่ 7314 / 2532 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ และเป็นทนายความว่าความให้โจทก์ ถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยเป็นตัวแทน

  • 2.2 ตัวแทนโดยปริยาย

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3643 / 2532 โจทก์มอบหมายให้จำเลยดำเนินการโอนสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากชื่อโจทก์ไปเป็นของ ส. ผู้รับโอนให้เป็นที่เรียบร้อย จำเลยจึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์    

หมายเหตุ หากไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้กระทำกิจการนั้นต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัว

 หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อที่ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE