สัญญาแชร์กับสัญญากู้ยืม ต่างกันอย่างไร

https://pantip.com/topic/39023001

สัญญาแชร์กับสัญญากู้ยืม ต่างกันอย่างไร

          สัญญากู้ยืม มีความใกล้เคียงกับ สัญญาแชร์ คือสัญญากู้ยืม เป็นสัญญาที่มีบัญญัติไว้ในหมวด 2 ยืมใช้สิ้นเปลือง

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 650 บัญญัติว่า “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืม โอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภทชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

          สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

          ตามหลักกฎหมายนั้น การกู้ยืมเงิน เป็นลักษณะของยืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่ง คือมีลักษณะที่ ผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิในเงินให้แก่ผู้ยืม ผู้ยืมมีกรรมสิทธิในเงินที่ยืม ชอบที่จะนำเงินใช้สอยหรือเอาประโยชน์แห่งตนด้วยวิธีการลักษณะหรือรูปแบบประการใด สุดแท้แต่ใจของผู้ยืมเอง โดยที่ผู้ให้ยืมไม่มีสิทธิติดตามเอาเงินตรานั้นคืนในฐานะที่เป็นกรรมสิทธิ หมายความว่า ถ้าผู้ให้ยืม จะเอาเงินธนบัตรฉบับนั้นคืนจากผู้ยืม ไม่สามารถทำได้ แต่ผู้ยืม สามารถนำธนบัตรที่มีจำนวนเท่ากันมาคืนได้ภายในกำหนดเวลาคืน ทั้งนี้ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1386 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมายเจ้าของทรัพย์สิน มีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้นกับทั้งมีสิทธิติดตามเอาคืน ซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฏหมาย”

          การกู้ยืมนี้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ หลักฐานเป็นหนังสือนี้ ไม่มีจำกัดว่า ทำขึ้นโดยวิธีใด อาจจะทำในลักษณะจดหมายโต้ตอบ หรือกระดาษที่เขียนข้อความแสดงให้เข้าใจว่ามีการกู้ยืมเงินก็ได้ การมีหลักฐานนั้น กฎหมายบังคับในกรณีที่ผู้กู้ยืม ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท (สองพันบาท) ขึ้นไป ตามมาตรา 653 ที่กล่าวว่า การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้นถ้ามีได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งห้องลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

          หลักฐานการกู้ยืมนั้น กฎหมายเพียงแต่บอกว่าหากไม่มีจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้เท่านั้น แต่การกู้ยืมและรับเงินไปยังคงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์อยู่ เพียงแต่ห้ามฟ้องร้องคดีทางศาลเท่านั้น ถ้าหากเกิดคดีข้อพิพาทขึ้นมาที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเห็นได้ว่าสาระสำคัญของการกู้ยืม ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. มีคู่สัญญาสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ยืม”

2. มีข้อตกลงว่า “ผู้ให้กู้” ยินยอมให้ “ผู้กู้” ใช้เงินได้ในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ เพียงแต่ส่งเงินคืนเงินตราที่มีชนิดปริมาณเท่ากับจำนวนที่กู้ยืมไว้ ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีมาตรา 656 คือผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นแทนจำนวนเงินที่กู้ยืมไป

3. มีวัตถุที่กู้ยืมเป็นตัวเงิน โดยผู้กู้ยืมชอบที่จะแสดงออกซึ่งทรัพยสิทธิใช้เงินที่ยืมได้ตามความประสงค์อย่างผู้มีกรรมสิทธิ

4. การกู้ยืมไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็เป็นสัญญากู้ยืมได้ เว้นแต่กรณีกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ถึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ซึ่งคำว่าฟ้องร้องให้หมายความรวมถึง การต่อสู้คดีในฐานะที่เป็นจำเลยด้วย

5. การคิดผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้ใช้เงิน ผู้ให้กู้ยืม สามารถคิดดอกเบี้ยเอาจาก ผู้กู้ยืม ได้ในอัตราร้อยละไม่เกิน 15 ต่อปี ของจำนวนเงินที่กู้ยืม จะสูงเกินกว่านี้มิได้

https://pantip.com/topic/41354347

          สัญญาแชร์นั้น คือสัญญาที่มีลักษณะ ที่มีบุคคลเกี่ยวข้องหลายฝ่าย จะมีนายวงแชร์ และลูกแชร์ที่มีจำนวนหลายคนเป็นสมาชิกในวงแชร์เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้นายวงแชร์รวบรวมเงินจากสมาชิกผู้ร่วมเล่น หรือลูกแชร์คนอื่นๆ คนละเท่าๆกัน หรือตามแต่ตกลง แล้วให้สมาชิกผู้ร่วมเล่นหรือลูกวงแชร์ ซึ่งประมูลดอกแชร์สูงสุดจะเป็นผู้ได้มีสิทธินำเงินกองนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ก่อน และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันจนจบวง ดังนั้นลักษณะสำคัญสัญญาแชร์จะมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2564 จึงประกอบไปด้วย

1. มีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป เข้าทำสัญญาโดยมีนายวงแชร์ เป็นผู้คอยเก็บรวบรวมเงินจากสมาชิกที่ร่วมเล่นในวงนั้นๆ

2. นายวงแชร์และสมาชิก จะมีการตกลงร่วมลงเงินในจำนวนเท่าๆกัน โดยผู้ร่วมเล่นแชร์ทุกคนต้องลงเงินตามที่ตนเองตกลงและจ่ายเงินตามที่รอบที่ถึงกำหนด

3. สมาชิกแต่ละคนจะได้รับประโยชน์ตอบแทน จากการที่สมาชิกชำระดอกเบี้ยค่าแชร์ โดยวิธีการประมูลให้ดอกแชร์สูงสุดตอบแทนเป็นผลประโยชน์ และดอกแชร์จะได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กัจำนวนสมาชิก และจำนวนมือที่จะได้รับ ไม่จำกัดดอกเบี้ยเหมือนกับการกู้ยืมเงิน

4. การเล่นแชร์ จะมีการทำสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่มีสัญญาเป็นหนังสือก็ได้ หรือมีเพียงหลักฐานการเล่นแชร์ก็ได้ ถ้าหากมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือการพูดคุยกันทางออนไลน์ ก็สามารถแสดงความน่าเชื่อถือเพื่อให้ ทนายความ สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนคดีได้

5. เมื่อสมาชิกวงแชร์คนใดคนหนึ่ง ประมูลดอกแชร์ได้สูงสุดตามที่ตกลงกันได้แล้ว ผู้ประมูลได้จะถือว่า เป็นผู้ได้กรรมสิทธิในเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ประมูลได้ และมีข้อกำหนดเพียงว่า ผู้ประมูลได้ ต้องส่งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่รับไปให้ครบถ้วน จนกว่าจะครบสัญญา

          เมื่อนำทั้ง สัญญาแชร์กับสัญญากู้ยืม มาพิจารณาเปรียบเทียบกันแล้ว ข้อที่เหมือนกันระหว่างสองสัญญานี้ คือ มีการใช้เงินได้เพราะเป็นผู้มีกรรมสิทธิโดยตรง มีการให้ดอกเบี้ยตอบแทน มีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเป็นคู่สัญญา และข้อที่เหมือนกันอีกข้อหนึ่งคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันในลักษณะพื้นฐานของนิติกรรมสัญญา เพราะมีลักษณะเป็นสัญญาที่มีข้อตกลงในวิธีการรับเงิน จ่ายเงิน ได้ดอกผลหรือค่าตอบแทนอื่นๆ

          ความแตกต่างของสัญญาแชร์และสัญญากู้ยืม คือ สัญญากู้ยืมนั้น ผู้ให้กู้ เป็นฝ่ายมอบเงินซึ่งตนมีกรรมสิทธิให้ผู้ยืมไป แต่กับสัญญาแชร์ สมาชิกในวงแชร์ทุกคน ต้องมอบเงินจำนวนเท่าๆกัน โดยท้าวแชร์จะเป็นผู้รวบรวมเงินเข้าเป็นกองกลางก่อน แล้วจัดประมูลหาผู้มีสิทธิใช้เงินกองทุนนั้นก่อน และเป็นลักษณะเช่นนี้หมุนเวียนกันไปจนกว่าจะครบ

          ดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืม ตาม พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เว้นแต่จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินได้โดยการได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือด้วยกฎหมายอนุญาต แต่กรณีของสัญญาแชร์ ไม่มีกฎหมายห้าม เพราะเป็นการเสนอผลประโยชน์หรือที่เรียกว่า “ดอกแชร์” เข้าประมูลแข่งขันกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้เพื่อตอบแทนในฐานะที่ผู้ร่วมเล่นได้รับโอกาสใช้เงินทุนกองการแชร์ก่อนเท่านั้น

          ข้อแตกต่างของวัตถุประสงค์การก่อเกิดสัญญาคือ วัตถุประสงค์ของการเล่นแชร์ เพื่อรวมเงินเป็นก้อน นำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ในการหมุนเวียนธุรกิจในระยะเวลาอันสั้น และมีหน้าที่จ่ายดอกผลในระหว่างที่ยังอยู่ในสัญญานั้น หรือเรียกว่าเป็นการหาและรวบรวมเงิน แล้วค่อยผ่อนใช้ภายหลังในระยะเวลาที่กำหนดแน่นอนเป็นช่วงเวลาไป

          ส่วนวัตถุประสงค์ของสัญญากู้ยืม ไม่มีวัตถุประสงค์จึงเป็นลักษณะของการรวบรวมสมาชิก ไม่มีการรวบรวมเงินจากสมาชิก แต่เป็นการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งได้ใช้เงินของตน เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนเข้าลักษณะวัตถุประสงค์เพิ่มพูนเงิน ด้วยเงินเป็นระบบเงินต่อเงิน

          ประการสุดท้ายคือ สัญญาแชร์มีการผัดเปลี่ยนหมุนเวียนฐานะ ลูกหนี้ เจ้าหนี้ในระหว่างผู้ร่วมเล่นแชร์ แต่สัญญากู้ยืม กำหนดฐานะตายตัวว่า ผู้ให้ยืมเป็นเจ้าหนี้ ส่วนผู้กู้ยืมเป็นลูกหนี้ ผู้เป็นลูกหนี้ไม่มีตามสัญญากู้ไม่มีโอกาสเปลี่ยนสถานะเหมือนสัญญาเเชร์

สรุป สัญญาแชร์กับสัญญากู้ยืม มีลักษณะที่เหมือนกันคือ ต่างเป็นนิติกรรมสัญญาที่บุคคลหลายฝ่ายตกลงใจเข้ามาทำสัญญากัน เพื่อรับประโยชน์จากเงินเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตนไม่ว่าจะเอาเงินไปใช้ลักษณะใดก็สุดแท้แต่บุคคลนั้น และเมื่อถึงกำหนดเวลา ต้องนำเงินมาใช้คืนตามกำหนดครับ

หากไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานทนายความ อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https:www.facebook.com/UDOMKADEE