สิทธิและหน้าที่ของผู้ทรงสิทธิบัตร
สิทธิและหน้าที่ของผู้ทรงสิทธิบัตร หรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรจะเกิดขึ้นเมื่อมีการจดทะเบียน การประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ และได้ออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตร ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะเปลี่ยนฐานะ เป็นผู้ทรงสิทธิบัตร หรือ ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร และจะมีสิทธิและหน้าที่ตามกฏหมายที่กำหนดหากมีการโอนสิทธิบัตรให้แก่ผู้อื่น ผู้รับโอนสิทธิบัตรจะมีฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร และมีสิทธิหน้าที่เช่นเดียวกับผู้โอนสิทธิบัตรหรือผู้โอนอนุสิทธิบัตรทุกประการ
โดยทั่วไปแล้วสิทธิและหน้าที่ของผู้ทรงอนุสิทธิบัตร มีลักษณะเช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยมาตรา 65 ทศ บัญญัติให้นำบทบัญญัติเรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาใช้กับอนุสิทธิบัตรโดยอนุโลม
สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร
เนื่องจากสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร มีลักษณะเป็นความคิดที่เป็นนามธรรมไม่ใช่วัตถุที่มีรูปร่างดังเช่นทรัพย์ทั่วไป จึงทำให้ลักษณะของสิทธิบัตร ของผู้ส่งสิทธิบัตรแตกต่างกันไปจากสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่มีรูปร่างทั่วไป โดยเฉพาะสิทธิเด็ดขาดหรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้ทรงสิทธิบัตร และเนื่องจากกฎหมายได้แยกสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรออกเป็น 2 ประเภท คือ การประดิษฐ์ และ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองมีลักษณะแตกต่างกัน จึงทำให้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทมีขอบเขตที่แตกต่างกันไปด้วย
สิทธิเด็ดขาดคืออะไร
สิทธิเด็ดขาด คือ สิทธิแต่ผู้เดียว ได้แก่สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร ที่จะแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ บุคคลอื่นไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตร
สิทธิเด็ดขาดมีผลในทางกฎหมาย 2 ลักษณะคือ
1. เป็นการหวงห้ามหรือกีดกันไม่ให้บุคคลอื่นแสวงหาประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับสิทธิบัตร หากบุคคลอื่นฝ่าฝืนถือว่าเป็นการละเมิดหรือล่วงสิทธิในสิทธิบัตร
2. ทำให้ผู้ทรงสิทธิบัตร มีสิทธิอนุญาตให้บุคคลอื่นแสวงหาประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับสิทธิบัตร
อย่างไรก็ตามมาตรา 35 ทวิ และ มาตรา 62 ทวิ และมาตรา 65 ทศ ได้บัญญัติข้อยกเว้นให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ฝ่าฝืน ที่กระทำการใดใดตามมาตรา 36 และมาตรา 63 ก่อนวันออกสิทธิบัตร 2 กรณีคือ
กรณีที่ 1 มีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรตามมาตรา 28 แล้วโดยผู้ฝ่าฝืนไม่สุจริตและรู้ว่าการประดิษฐ์นั้นได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว
กรณีที่ 2. ผู้ฝ่าฝืนได้รับคำบอกกล่าวเป็นรายลักษณ์อักษร ว่าการประดิษฐ์นั้นได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว
ดังนั้นหากภายหลังได้มีการออกสิทธิบัตรแล้วผู้ขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ฝ่าฝืนได้ตามมาตรา 35 ทวิและมาตรา 62 ทวิ
เหตุที่กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นสองข้อนี้ เพราะนับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตรจนวันออกสิทธิบัตร ต้องมีการตรวจสอบเป็นเวลานาน ช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีผู้แสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์ที่ได้เปิดเผยแล้ว โดยอาจจะผลิตหรือขายก่อนที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรจะได้รับสิทธิบัตร ดังนั้นกรณีมาตรา 35 ทวิและมาตรา 62 ทวิจึงเป็นกรณีที่มีการกระทำใดใดระหว่างวันขอรับสิทธิบัตรถึงวันออกสิทธิบัตร
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE