สู้คดีไฟแนนซ์
สมมติอุดมคดีให้ข้อเท็จจริงว่า นาย A จัดไฟแนนซ์ ซื้อรถปิ๊กอัพ 1 คัน ในราคา 800,000 บาท (วางเงินดาวน์แล้ว) ยังต้องชำระค่างวดรถให้กับไฟแนนซ์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ 17,000 บาท เป็นเวลา 50 งวด ชำระทุกๆ สิ้นเดือนของแต่ละเดือน เริ่มชำระ 1 มกราคม 2567 เมื่อนาย A รับรถมาแล้วก็ผ่อนชำระเดือนละ 17,000 บาท ไปเรื่อยๆ พอผ่านไปงวดที่ 4 (ประจำงวดเมษายน 2567) เริ่มผ่อนชำระไม่ไหว แต่ก็มีจ่ายไปก่อนบ้างประมาณ 10,000 – 15,000 บาท แต่ไม่ถึง 17,000 บาท เมื่อมีเหตุการณ์ลักษณะนี้จะสามารถแก้ไขอย่างไรบ้าง สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี จะมาเล่าให้ฟังครับ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว หากนาย A ชำระน้อยกว่า 17,000 บาทต่อเดือน ถือว่าผิดนัดชำระตามสัญญาแล้ว และทางไฟแนนซ์จะถือเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อ นาย A ผิดนัดชำระ 3 งวดติดต่อกัน สมมติว่า นาย A ผ่อนไม่ครบ 17,000 บาท หรือไม่ผ่อนเลยสักบาท เริ่มในงวดเมษายน 2567 ดังนั้น ก็ต้องนับไป 3 เดือน คือ เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ซึ่งในระหว่างนี้ ทางไฟแนนซ์จะโทรทวงถามให้ชำระพร้อมค่าปรับล่าช้า ถ้าหากนาย A ติดขัดการชำระแค่ชั่วคราวแล้วผ่อนชำระได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่การผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน เป็นเหตุให้ทางไฟแนนซ์ส่งหนังสือทวงถามมาที่บ้านของนาย A โดยมีข้อความในทำนองให้ชำระค่างวดรถที่ยังคงค้างอยู่ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับจดหมาย หรือหากไม่ชำระให้ถือเอาจดหมายฉบับนี้ เป็นการบอกเลิกสัญญาและคืนรถให้ไฟแนนซ์เสีย
หากนาย A ได้รับจดหมายทวงถามแล้ว จะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ
แนวทางที่ 1. หากประสงค์จะใช้รถอยากผ่อนต่อ ให้นำเงินไปชำระตามปกติ 17,000 บาท สัก 1 งวดก่อน ก็ถือว่าไม่อยู่ในเงื่อนอันเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งส่วนนี้จะยากที่สุดเนื่องจาก นาย A จะต้องถูกทวงถามทางวาจา ติดตามที่บ้าน และให้เสียค่าปรับชำระล่าช้าอยู่เรื่อยๆ ที่ไฟแนนซ์สามารถเรียกค่าปรับได้เพราะเป็นเงื่อนไขตามสัญญาที่ นายA ได้ทำสัญญาไว้กับไฟแนนซ์ไว้ก่อนแล้ว
แนวทางที่ 2. หลังจากมีหนังสือทวงถามและเลิกสัญญาแล้ว นาย A ไม่อยากใช้รถต่อ ให้นัดกับไฟแนนซ์ เพื่อขอคืนรถ โดยต้องทำเป็นเอกสารการคืนรถให้เรียบร้อย แนะนำต้องถ่ายรูปในขณะคืนรถด้วย หรือลงบันทึกประจำวันไว้โดยให้ตัวแทนของไฟแนนซ์มาเซ็นเอกสารในบันทึกประจำวันนั้นด้วยก็จะดีมากๆ
หลังจากคืนรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นาย A ก็ทำได้แต่เพียงนับวันรอให้ไฟแนนซ์เอารถไปขายทอดตลาด เพื่อเอามาตั้งเป็นทุนทรัพย์ฟ้องเรียกค่าส่วนต่าง ค่าเสียโอกาสต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ฟ้องหลักหลายๆแสนบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนที่จะให้ไฟแนนซ์ไม่ฟ้องคุณ เว้นเสียแต่ว่าคุณจ่ายทั้งต้นเงินและเบี้ยปรับให้กับไฟแนนซ์จนพอใจแล้ว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี แนะนำ เพราะอย่างไร เครดิตคุณก็เสียอยู่แล้ว เรามาหาวิธีต่อสู้คดีหลังจากที่ถูกฟ้องกันดีกว่า
ไฟแนนซ์ฟ้องทำไงดี
เมื่อไฟแนนซ์เห็นว่าไม่มีวิธีอื่นใดจะบังคับชำระหนี้เอากับนาย A ได้แล้ว ไฟแนนซ์จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง หรือขายหนี้ให้กับบริษัทรับทวงหนี้ทำการยื่นฟ้องต่อศาลที่ นายA มีชื่ออยยู่ตามทะเบียนบ้าน (แม้นาย A จะอยู่จังหวัดอื่นก็ตาม) เช่น ตามทะเบียนบ้านนาย A อยู่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่มาทำงานที่กรุงเทพมหานคร หมายศาลจะไปติดที่บ้านของ นาย A ตามทะเบียนบ้านที่สุพรรณบุรี
มีหมายศาลนัดไกล่เกลี่ยเรื่องรถ ต้องทำอย่างไร
สมมติ นาย A ถูกฟ้องแล้วศาลนัดไกล่เกลี่ย ให้การ สืบพยาน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 การถูกฟ้องเรื่องค่าส่วนต่างเป็นเหมือนคดีมาตรการของไฟแนนซ์ที่จะต้องฟ้องทุกคดีภายในอายุความ หลายคนไม่รู้ว่าหากถูกฟ้องแล้ว จะต้องปรึกษาทนายและให้ทนายความดำเนินการเขียนคำให้การต่อสู้คดี เพื่อโต้แย้งคำฟ้องของไฟแนนซ์ในบางประเด็น บางคดีสู้จนยกฟ้องชนะขาดลอยโดยไม่ต้องจ่ายเลยสักบาทก็มี บางคดีต้องชำระบางส่วนเนื่องจากค้างค่างวดรถจริงๆก็มี บางรายตัดยอดหนี้ได้เกินครึ่งก็มี หากนาย A ได้รับหมายศาลแล้ว ให้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปติดต่อทนายความ เพื่อช่วยกันหาทางออกต่อสู้คดี การสู้คดีนั้นอาศัยการบรรยายฟ้องที่ไฟแนนซ์ฟ้องมา ซึ่งข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นมักจะคล้ายๆกัน โดยทนายความจะทำคำให้การต่อสู้และยื่นอย่างช้าคือ ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เมื่อศาลอ่านคำให้การแล้ว ก็จะกำหนดประเด็นข้อพิพาท แล้วนับสืบพยานต่อไปอีกหนึ่งนัด
ขึ้นศาลเรื่องรถน่ากลัวไหม
คดีฟ้องเรียกค่าส่วนต่างรถ ค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เป็นคดีทางแพ่ง ซึ่งโทษสูงสุดคือการยึดทรัพย์บังคับคดีกับทรัพย์สินของ นาย A เท่านั้น มีระยะเวลาในการบังคับคดี 10 ปี ดังนั้น การขึ้นศาลในคดีเกี่ยวรถ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด นาย A สามารถเบิกความไปตามความจริงและพยานเอกสารทั้งหมดที่ทนายความได้จัดเตรียมให้ ทนายก็ซักถาม และถามค้านตามรูปคดี สืบพยานเพียงครึ่งวันก็น่าจะเรียบร้อยแล้ว ศาลจะนัดอ่านคำพิพากษาถัดจากวันสืบพยานไปอีกประมาณ 1 เดือน
โดนไฟแนนซ์ฟ้องไม่มีรถคืน
ย้อนกลับไปช่วงก่อนที่จะถูกฟ้อง เมื่อไฟแนนซ์ส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามยึดรถคืน อันเป็นวิธีการบอกเลิกสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อไฟแนนซ์ ไม่เจอรถ ไฟแนนซ์อาจเลือกฟ้องได้ 2 แบบ คือ ฟ้องทางแพ่งเรียกรถคืน เรียกค่าเสียหายอื่นๆ ตามสัญญาที่ทำกับไฟแนนซ์ หรือ ฟ้องเป็นคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ โดยอาจจะแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่ออกหมายเรียก หรือหมายจับตามวิธีการและขั้นตอนของวิธีการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งจุดนี้จะต้องมีการประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อไปในภายภาคหน้าอีกด้วย
คดีรถยนต์อายุความกี่ปี
- อายุความอันเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ อายุความ 10 ปี
- อายุความค่าขาดประโยชน์ก่อนสัญญาสิ้นสุดลง อายุความ 6 เดือน หากสิ้นสุดสัญญาอายุความ 10 ปี
- อายุความค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ อายุความ 2 ปี
- อายุความค่าขายรถขาดทุน อายุความ 10 ปี
ตัวอย่างคำพิพากษาคดีไฟแนนซ์รถ ซึ่งคดีนี้ ยอดจัดไฟแนนซ์ 678,300 บาท จำเลยที่ 1 ชำระไปเกือบ 2 ปีแล้ว พอโควิด ก็หยุดชำระ ไปต่อไม่ไหวจึงคืนรถและค้างชำระค่างวดกันอยู่ ไฟแนนซ์จึงฟ้องมีเรียกค่าส่วนต่าง ค่าเสียหายกว่า 470,000 บาท สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี สู้คดีไฟแนนซ์ ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเพียง 10,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเพียง 5,000 บาท เท่านั้น แต่หากคุณไม่ไปศาล หรือใช้สิทธิต่อสู้คดีใดๆเลย คุณอาจจะต้องชดใช้หนี้เต็มตามฟ้องของไฟแนนซ์ก็เป็นได้ ซึ่งการต่อสู้คดีต่างๆ ก็อยู่ในกรอบ กติกากฎหมายอยู่แล้ว
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE