หมิ่นประมาท

https://pantip.com/topic/41454861

          หมิ่นประมาท ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีผลกับชีวิตของมนุษย์เราอย่างมาก ทำให้เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งการแสดงความคิดเห็นบางครั้ง อาจเป็นเรื่องการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแค่เพียงรำคาญใจเท่านั้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้องของหมิ่นประมาทมีดังนี้

          มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

องค์ประกอบของความผิด
องค์ประกอบภายนอกของความผิด

  1. ผู้ใด : คือผู้กระทำการหมิ่นประมาท
  2. ใส่ความผู้อื่น : การใส่ความต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง โดยการพูด สัญลักษณ์ ข้อความ รูปภาพ วีดิโอ
  3. ต่อบุคคลที่สาม 
  4. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นได้รับความเสียหาย

องค์ประกอบภายใน
คือ มีการกระทำโดยเจตนา (ดูภายในจิตใจขณะกระทำผิด)

ยกตัวอย่างถ้อยคำที่เป็นหมิ่นประมาท เช่น

  1. นางสาวเอ เป็นคนไม่ดี คบชู้กับสามีคนอื่น
  2. นาย ก. เป็นข้าราชการที่ไม่ดี ชอบเรียกรับสินบนกับราษฎร

โทษของคดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดอันยอมความได้ ฉะนั้น หากผู้เสียหายทราบว่ามีการกระทำหมิ่นประมาทเกิดขึ้นต้องเเจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2551

          ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น จะต้องเป็นการใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 แห่ง ป.อ. ด้วย แต่ข่าวในหนังสือพิมพ์ระบุชื่อบุคคลที่ถูกใส่ความว่า ม. และโจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวมาเบิกความว่าเป็นนามปากกาของผู้เสียหาย โดยโจทก์ไม่ได้นำบุคคลที่สามมาเป็นพยานยืนยันได้ว่าขณะผู้เสียหายทำงานเป็น นักข่าวอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ร. มีนามปากกาว่า ม. ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของ พ. และ อ. ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสซักค้าน จึงฟังไม่ได้ว่ามีบุคคลอื่นทราบว่าผู้เสียหายมีนามปากกาว่า ม. แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายกับจำเลยเคยทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ร. อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยทราบดีว่าผู้เสียหายมีนามปากกาว่า ม. แต่เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความยืนยันได้ว่ามีบุคคลที่สามทราบว่านามปากกา ม. ตามข้อความในหนังสือพิมพ์ ร. หมายถึงผู้เสียหาย ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นคนเขียนข้อความดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเนื่องจากไม่มีบุคคลที่สามทราบว่า ม. เป็นผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14169/2557

          ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการใช้ข้อความ ต้องพิจารณาข้อความว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็นและอ่านข้อความแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความที่ จ. เขียนเห็นได้ว่า ความหมายของข้อความเป็นการแสดงว่าผู้เขียนยืนยันข้อเท็จจริงและเชื่อตามหนังสือร้องเรียนที่ จ. อ้างว่าได้รับจากชาวบ้านว่า โจทก์เป็นคนนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแก่ผู้จำหน่าย โดยผู้เขียนและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบว่า เป็นความจริงและจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ทั้งต่อมาโดยผลของการตีพิมพ์ข้อความยังเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาไม่ไว้วางใจและตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพรับราชการไม่พึงปรารถนา แม้ผลการสอบสวนจะไม่มีความผิดแต่ก็จะมีมลทินมัวหมอง และอาจะมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการอีกด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจ จัดทำ และควบคุมข่าวและข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต้องถือเป็นตัวการร่วมรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์และหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509 – 510/2553

          ขณะเกิดเหตุ ต. ผู้เสียหายดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลในเขตท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ 1 เป็นราษฎร จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการเจ้าของและผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ซึ่งออกจำหน่ายแก่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยทั้งสองร่วมกันเขียนข้อความลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ในหนังสือพิมพ์ว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอไม่ดำเนินการให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ส. ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วงว่า ส. ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในหมู่ที่ 2 ตำบลบางม่วงไม่น้อยกว่า 15 ปี และนำสำเนาทะเบียนบ้านปลอมเป็นเอกสารในการยื่นสมัครอันเป็นการแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม การที่ผู้เสียหายไม่ดำเนินคดีเรื่องที่จำเลยที่ 1 ร้องทุกข์กล่าวโทษมีลักษณะหน่วงเหนี่ยวส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการที่ผู้เสียหายละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเขียนข้อความลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์โดยจำเลยที่ 1 ได้ติดตามเรื่องราวขอทราบผลการร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เสียหายก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ตอบ จำเลยที่ 1 เป็นประชาชนในตำบลบางม่วง ย่อมมีส่วนได้เสียในการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง และการเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจในการบริหาร จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) (3)

          สรุป หมิ่นประมาท เป็นคดีที่สามารถฟ้องได้ทั้งทางคดีแพ่งเเละคดีอาญา เพียงแต่ผู้เสียหายเก็บรวบรวมหลักฐาน ข้อความที่หมิ่นประมาท และรีบดำเนินการภายในอายุความนะครับ


หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE