หวย 30 ล้าน

หวย 30 ล้าน

ตามเนื้อข่าวกรณีที่มีข้อพิพาทหวย 30 ล้าน จากเพจ โหนกระแส

      “กรณีนายสมเกียรติ อายุ 60 ปี และนางสาวนารีรัตน์ อายุ 37 ปี คู่สามีภรรยา ชาวตำบลหนองกระทุ่ม อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ได้สั่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุด 5 ใบ งวดประจำวันที่ 1 ต.ค. 2566 กับเพจดังเพจหนึ่ง แบบเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผลปรากฏว่าเลขที่สั่งซื้อนั้นตรงกับผลการออกรางวัลที่ 1 คือเลข 727202 ทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลชุดนี้มีมูลค่าถึง 30 ล้านบาท แต่กลับเกิดปัญหาขึ้น

      หลังทางเจ้าตัวที่สั่งซื้อพบว่า ทางเพจดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำการส่งสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวมาให้ โดยอ้างว่าไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ซื้อในวันที่ทำการสั่งซื้อได้ คือวันที่ 23 ก.ย. ทำให้สามีภรรยาคู่นี่เกิดชวดเงิน 30 ล้านไปแบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งคู่จึงไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

      ล่าสุด นายสมเกียรติ เผยว่า ภายหลังจากแจ้งความไว้แล้วนั้น ก็ได้ติดต่อกับทนายเกิดผล ซึ่งทางทนายก็ได้ช่วยรับทำคดีดังกล่าวให้ ทำให้ตนเองนั้นรู้สึกใจชื้น และจะขอต่อสู้ให้ถึงที่สุด ซึ่งตอนแรกก็ค่อนข้างมั่นใจอยู่แล้ว เพราะว่าตนเองนั้นเป็นผู้ซื้อโดยถูกต้อง

      ปกติที่ตนสั่งซื้อของแบบเก็บเงินปลายทางนั้น เมื่อส่งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรให้แล้ว ถือว่าการซื้อขายนั้นสำเร็จ การที่เพจอ้างว่ามีการโทรเข้าไปสอบถามตนก็ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการแชตไลน์ก็เป็นหลักฐานว่าตนเองไม่ได้มีการยกเลิกการสั่งซื้อ อีกทั้งทางเพจก็ไม่มีการยกเลิกการขาย ซึ่งตอนนี้ทางเพจก็ยังไม่ได้มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด

      ส่วนที่ทางเพจได้ให้สัมภาษณ์กับบางสื่อไปแล้วว่า ได้ทำการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวให้กับลูกค้าที่มาทำการเลือกซื้อไปแล้วนั้น ตรงส่วนนี้และทุกๆ การดำเนินการทางกฎหมายนั้นขอยกให้ทางทนายเกิดผลรับผิดชอบให้ ซึ่งตนจะเดินทางเข้า กทม. เพื่อทำการแต่งตั้งทนายเกิดผลเป็นทนายความ เพื่อดำเนินการต่อไปให้ถึงที่สุด”

วันนี้อุดมคดีจะมาเล่าเรื่องการซื้อขายให้ฟัง

กรณี หวย 30 ล้านบาท จากข้อเท็จจริง พบว่า
1. มีการตกลงซื้อขายหวยกันจริง
2. มีการตกลงเลือกหมายเลขที่จะซื้อขายกันเสร็จแล้ว
3. มีการยืนยันการซื้อขายกันแล้ว โดยการแจ้งราคา และแจ้งที่อยู่
4. เหลือแต่เพียงขั้นตอนการส่งมอบหวย และการชำระราคา

ข้อเท็จจริง ตาม ข้อ 1. – 4. ถือว่า คำเสนอ กับ คำสนอง ตรงกันแล้วทั้งหมด ผลในทางกฎหมาย คือ เกิดเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแล้ว ผลในทางกรรมสิทธิ์ ประเด็นนี้ กฎหมายว่าด้วยการซื้อขายของไทย ถือหลักว่า ถ้าคำเสนอกับคำสนองตรงกันทั้งหมดแล้ว กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันที แต่กฎหมายว่าด้วยการซื้อขายของไทยนั้น อนุญาตให้คู่สัญญา สามารถตกลงกันยังไม่ให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อได้ โดยจะต้องตกลงกันในลักษณะ ของ เงื่อนไข หรือ เงื่อนไขเวลา

ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม บอกว่า
“”….. การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ กฎหมายของไทยอนุญาตให้ชะลอหรือหน่วงไม่ให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อได้ โดยต้องตกลงกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลากันขึ้นมาระหว่างคู่สัญญา…..””

ศาสตราจารย์ไพจิตร ปุญญพันธุ์ กับ ศาสตราจารย์ประพนธ์ ศาตะมาน บอกว่า
“”….. การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด หากมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา กำหนดไว้ว่ายังไม่ให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อ ก็ต้องถือว่า กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ จนกว่าเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาจะสำเร็จ…..””
สำหรับ การพิจารณาว่า การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดใด มีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลา หน่วงมิให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อนั้น ให้ดูจาก “ข้อความในสัญญา”

อาจารย์ฉันทวัธน์ วรทัต (ผู้บรรยาย วิชาซื้อขายฯ เนติบัณฑิตฯ)
“” ….. การวินิจฉัย ว่า สัญญาใดมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ต้องสังเกตุจากถ้อยคำในสัญญานั้น หากมีถ้อยคำในลักษณะที่ว่า “กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าฯ” หรือ “ทรัพย์สินที่ซื้อยังคงเป็นของผู้ขายจนกว่าฯ” ถ้ามีถ้อยคำในลักษณะหรือทำนองนี้ ต้องตีความว่า เป็นสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ หากไม่มีข้อความแบบนี้ ต้องถือว่ากรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว นับแต่เวลาที่คำเสนอกับคำสนองตรงกัน …..””
จากข้อเท็จจริง ที่ชี้แจงจากทางฝ่ายผู้ขาย พบว่า ไม่มีข้อความใดที่ชัดแจ้งหรือพอจะอนุมานได้เลยว่า ผู้ซื้อและผู้ขาย มีการตกลงกันในเรื่องเงื่อนไขในเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ มีเพียงข้อความที่เกิดจากฝ่ายผู้ขายเพียงฝ่ายเดียว ว่า จะต้องมีการโทรและยืนยันการซื้อขายกันก่อน ซึ่งข้อความนี้ #ไม่มีอยู่ในข้อความแชทการสนทนาการซื้อขายหวยกัน

ประกอบกับ ภายหลังผู้ซื้อยืนยันราคาและให้ที่อยู่แล้ว ผู้ขายแม้จะโทรหาผู้ซื้อไม่ได้ แต่ก็ไม่มีข้อความใดต่อไปอีก อันแสดงว่า เป็นการยกเลิกสัญญา หรือสงวนสิทธิเกี่ยวกับเรื่องของกรรมสิทธิ์ในหวยที่ซื้อขายกัน อันแสดงว่า เรื่องการโทรติดหรือไม่ติด ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหากเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขของการโอนกรรมสิทธิ์ ฝ่ายผู้ขายก็น่าจะต้องแสดงเจตนาไปยังผู้ซื้อ “”ซึ่งอย่างน้อยก็ควรแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา”” หรือ “”แสดงเจตนาว่าจะไม่ส่งหวยให้หากไม่โทรยืนยันกันก่อน “”
ดังนั้น สำนักงานกฎหมาย จึงเห็นว่า หวยหรือสลากชุดนี้ กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว โดยผลของกฎหมายและโดยเจตนาเท่าที่ปรากฏของคู่สัญญา และไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนหรือเงื่อนเวลา อันแสดงว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไป

เมื่อกรรมสิทธิ์ โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ และแม้ผู้ขายจะโอนขายหวยไปยังบุคคลภายนอกก็ตาม ก็ถือหลักว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” และเป็นเรื่องที่บุคคลภายนอก ถูกรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขาย เป็นเรื่องที่ บุคคลภายนอกกับผู้ขาย ต้องไปว่ากล่าวกันเอาเองหากได้รับความเสียหาย
คดีนี้ ฝ่ายผู้ซื้อ จึงมีโอกาสชนะคดีแพ่งมากกว่าฝ่ายผู้ขาย และฝ่ายผู้ขาย อาจจะมีความผิดทางอาญาฐานยักยอกได้ หากมีเจตนาทุจริต

ปล. การชำระเงินด้วยระบบเก็บเงินปลายทาง เป็นเต่เพียงรูปแบบหรือลักษณะของการชำระราคาเท่านั้น ไม่ใช่เงื่อนไขเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์

เครดิต คดีโลกธรรม

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE