ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลักษณะสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง
เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ตามบทนิยามในมาตรา 1077 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1012 ในลักษณะทั่วไปของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนด้วย
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก
(1) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด หุ้นส่วนจำพวกนี้มีความรับผิดเท่าที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้นตามมาตรา 1077 วรรคหนึ่ง (1)
(2) หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตามมาตรา 1077 วรรคหนึ่ง (2) หุ้นส่วนประเภทนี้ต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน
3. ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
มาตรา 1078 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นท่านบังคับว่าต้องจดทะเบียน รายการที่กฎหมายบังคับให้ต้องนำไปจดทะเบียนนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา 1078 วรรคสอง
เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ก็จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีสภาพเป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1015 และนายทะเบียนก็จะนำความดังกล่าว ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 1021 เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถตรวจสอบและคัดลอกข้อมูลของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นได้ ตามมาตรา 1020 และเมื่อนายทะเบียนได้โฆษณารายการจดทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎหมายก็จะสันนิษฐานว่าบุคคลภายนอกได้รู้ถึงรายการต่างๆนั้นแล้วตามมาตรา 1022
การจดทะเบียนส่งผลให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีสิทธิ หน้าที่และความรับผิดแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนภายในขอบวัตถุประสงค์ของห้างตามมาตรา 66 กล่าวคือ การใดที่หุ้นส่วนผู้จัดการกระทำไปนอกขอบวัตถุประสงค์การนั้น ย่อมไม่ผูกพันห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 66 และคหุ้นส่วนผู้กระทำการนั้นย่อมต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 77
การจัดกิจการก่อนการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด
เนื่องจากการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ตามมาตรา 1078 นั้นมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลาเช่น การจองชื่อ การตรวจสอบชื่อห้าง ว่ามีผู้อื่นใช้แล้วหรือไม่ การจัดทำเอกสารเพื่อนำไปจดทะเบียนเป็นต้นดังนั้นผู้เป็นหุ้นส่วน อาจประสงค์จะดำเนินกิจการของห้างก่อนที่จะไปจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วเสร็จก็ได้
แต่เนื่องจาก กิจการในช่วงเวลาก่อนมีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น หากหุ้นส่วนยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กฎหมายจึงให้ถือว่ากิจการดังกล่าวมีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ดังนั้นมาตรา 1079 “บัญญัติว่า อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดานี่ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน”
ฉะนั้น แม้ว่าจะได้ตกลงกันไว้ว่า ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด หุ้นส่วนนั้นก็ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน จนกว่าจะได้จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวก็ใช้บังคับระหว่างกันได้
ข้อสังเกต
มาตรา 1079 ให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียน มีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่ภายหลังจดทะเบียนแล้วจะมีข้อพิจารณาดังนี้
(1) ความสัมพันธ์ระหว่างห้างหุ้นส่วนสามัญ (ก่อนจดทะเบียน) และห้างหุ้นส่วนจำกัด (หลังจดทะเบียน) เมื่อมีการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นนิติบุคคลแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องรับโอนสิทธิหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนสามัญก่อนจดทะเบียนด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนด้วย เพียงแต่การใดๆ ที่ทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ต้องร่วมรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนเสมือนห้างหุ้นส่วนสามัญด้วยเท่านั้น
(2) แม้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด รับเอาการจัดกิจการซึ่งได้ทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนแล้ว แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ที่มีอยู่ก่อนการจดทะเบียนจนกว่าหนี้ดังกล่าวจะระงับ
การนำบทบัญญัติว่าด้วย “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” มาใช้บังคับกับ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด”
มาตรา 1080 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย” เพราะฉะนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เว้นเสียแต่ว่า จะมีบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนจำกัดบัญญัติไว้เป็นพิเศษ”
ทั้งนี้ลำดับในการนำบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญมาปรับใช้นั้น ต้องพิจารณาบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลก่อน เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดมีสภาพเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหากเรื่องใดบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไม่ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษ จึงนำบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมาปรับใช้
(1) ผู้ที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องรับผิดในนี่ของห้างที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วน
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนที่ออกจากห้างไปแล้วยังต้องรับผิดในนี่ของห้างที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากห้างเป็นเวลา 2 ปีนับแต่ตนได้ออกจากห้าง
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE