แนวทางต่อสู้คดีฉ้อโกง
มีอยู่หลายๆครั้ง สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ได้รับการติดต่อให้เข้าช่วยเหลือในคดีฉ้อโกง ซึ่งต้องบอกก่อนว่า หลายๆคดีฝ่ายโจทก์อาศัยการฟ้องเพื่อหวังผลในลักษณะยอมรับสารภาพ และชำระค่าเสียหาย เมื่อผมได้ตรวจสำนวนแล้วกลับปรากฏว่า บางกรณีเป็นเพียงคดีแพ่งหรือเป็นเรื่องเพียงสัญญาเท่านั้น เห็นว่าเป็นการฟ้องโดยอาศัยหลักหรือข้ออ้างเกินความจริงไปเท่านั้น
การกระทำความผิดทางอาญา ส่วนสำคัญที่ถือเป็นองค์ประกอบความผิดนั่นคือ เจตนากระทำความผิดฐานฉ้อโกง นอกจากจะมีเจตนาประสงค์ต่อผลแล้ว ยังต้องมีเจตนาทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(1) อีกด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 285/2483 จำเลยใช้อุบายหลอกลวงให้เขาหลงเชื่อจนมอบเรือให้จำเลยไป และจำเลยได้ใช้เรือนั้นเป็นพาหนะเพื่อหนีจากที่คุมขัง ก็เรียกได้ว่าจำเลยได้เอาไปใช้ประโยชน์ตามความประสงค์ของจำเลย การกระทำของจำเลยที่เอาเรือไปเป็นการทุจริตอยู่ในตัว ผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาฎีกาที่ 6966/2537 จำเลยกับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมว่า พวกของจำเลยชื่อ ก. และขอกู้ยืมเงินโจทก์ร่วม โดยพวกของจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินลงชื่อ ก. กับมอบโฉนดที่ดินซึ่งมีชื่อ ก. ให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้ การกระทำของจำเลยกับพวกมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจากโจทก์ร่วม และมิให้โจทก์ร่วมใช้สัญญากู้ยืมเงินนั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องร้องเงินคืน ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยกับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยกับพวกได้มอบสัญญากู้ยืมเงินนั้นให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้ จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง
จากทั้งสองฎีกานี้ จะเห็นได้ว่า แม้จะถูกหลอกลวงโดยนำสัญญาต่างๆมาอ้างก็ตาม หน้าที่ของทนายโจทก์ต้องนำสืบค้นไปในจิตใจของผู้กระทำความผิดด้วยว่าทำสัญญาเพื่อบังหน้าเท่านั้น แต่มีเจตนาฉ้อโกงมาตั้งแต่แรก ข้อเท็จจริงอาจจะแยกเป็นกรณีไป เช่น วางแผนให้ทำสัญญาเพื่อเป็นอุบายหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ามีสิ่งนี้สิ่งนั้นอยู่จริง ทั้งที่ไม่มีความจริงนั้นเกิดขึ้นเลย หรือ หลอกขายกระเป๋าแบรนด์เนมโดยรับรองว่าเป็นของแท้และชำระเงินในราคาสูง ต่อมาผู้เสียหายนำกระเป๋าไปตรวจสอบกลับพบว่าเป็นของปลอม แต่ก็มีบางกรณีที่แม้จะเป็นหลอกลวงแต่ไม่เป็นความผิด ยกตัวอย่างเช่น
1.หลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์สินของตนกลับคืนมา เป็นการพูดหลอกลวงแม้จะแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ถ้าการพูดดังกล่าวก็เพื่อให้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้พูดกลับคืนมา ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามแต่อย่างใด ไม่เข้าองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341
2. การรับรองจะทำแล้วไม่ทำ ถือว่าเป็นการรับปากว่าจะทำอะไรในอนาคต เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เพราะเป็นการรับปากว่าจะทำในโอกาสข้างหน้า มิใช่เป็นการเอาความเท้จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือมิได้เป็นการปกปิดความจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้น ฉะนั้นหากในภายหน้าจำเลยไม่สามารถกระทำตามที่รับปาก ก็เป็นเรื่องผิดคำพูดหรือคำมั่นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามที่รับรองไว้เท่านั้น
3. ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 12659/2553 โจทก์หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสองจึงมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยทั้งสองไปปล่อยกู้ให้ ด้วยการเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี อันเป็นความผิดต่อ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์รับข้อเสนอดังกล่าวโดยมีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้การกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นเพียงการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองเพื่อฉ้อโกงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง
ในความจริงแล้ว แนวทางต่อสู้คดีฉ้อโกง อาจจะมีแนวทางที่หลากหลายไปอีกมากตามรูปแบบการตั้งเรื่องของแต่ละคดี แต่บางคดีใกล้เคียงทั้งทางแพ่งและอาญาที่จะเห็นได้บ่อย เช่น การผิดสัญญาแชร์ ผิดสัญญาเช่าซื้อรถ ฯ หรือการรับสินค้าไปแล้ว แต่ไม่ชำระราคา เหล่านี้ไม่อาจเป็นความผิดอาญาได้ หากฟ้องผิดประเด็นอาจจะเกิดความเสียหายต่อรูปคดี
ส่วนองค์ประกอบในความผิดฐานฉ้อโกง อาจจะมีฐานความผิดอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น
1. หากการฉ้อโกงโดยการหลอกลวง โดยใช้เอกสารเข้ามาหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง โดยความจริงแล้ว เอกสารนั้นออกโดยผู้ไม่มีอำนาจ ถือว่ามีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
2. หากการฉ้อโกงดังกล่าวหากมีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ถือผู้กระทำความผิด เป็นตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด
3. หากการฉ้อโกง ออกอุบายให้ผู้ถูกหลอกลวงจ่ายเงิน หรือเสียหายในทรัพย์สินไปหลายครั้ง ถือได้ว่าความผิดฐานฉ้อโกงเกิดขึ้นหลายกรรม
สรุป แนวทางต่อสู้คดีฉ้อโกง สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี มีข้อต่อสู้ให้ศึกษาหลักๆที่พบได้บ่อย อาจจะมีข้อต่อสู้นอกเหนือจากที่ยกตัวอย่างมา ต้องมีข้อเท็จอื่นๆเป็นองค์ประกอบด้วย การตั้งเรื่องฟ้อง หรือการต่อสู้คดี ต้องปรึกษาหรืออาศัย ทนายความที่มีประสบการณ์
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE