การตีความพินัยกรรม ตอนที่ 2

https://pantip.com/topic/32661358

การตีความพินัยกรรม ตอนที่ 2

   จากที่ได้เคยทำบทความเกี่ยวกับ การตีความพินัยกรรม ตอนที่ 1 ไปแล้ว วันนี้จะมาเขียนเรื่อง การตีความพินัยกรรม ตอนที่ 2 ต่อไปเลยครับ

3. ด้วยการที่ผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม ด้วยความตั้งใจ

      มาตรา 1696 บัญญัติว่า ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป

  • วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ

โอนไปโดยสมบูรณ์ หมายความว่า โอนโดยสมบูรณ์ตามประเภทของนิติกรรมนั้นๆ เช่น หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ การโอนขายต้องทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากเป็นสังหาริมทรัพย์โอนโดยการส่งมอบ เว้นแต่สังหาริมทรัพย์พิเศษ  กรณีเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครอง การโอนการครอบครองทำได้เปลี่ยนด้วยการส่งมอบ เมื่อมีการส่งมอบสละการครอบครอง และอีกฝ่ายเข้าครอบครองแล้ว ย่อมเป็นการโอนโดยสมบูรณ์

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3354/2535 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน ส.ค.1 เมื่อยังไม่ได้ รับคำร้องจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้แก่กันได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทำได้โดยการส่งมอบ เมื่อ ก. ส่งมอบการครอบครองให้แก่  ห. ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ ครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ การยกที่ดินให้แก่โจทก์ดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ถือได้ว่า  ก. ผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดในพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่ ก. ทำไว้แต่เดิมเคยยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยนั้นเป็นอันเพิกถอนไปตามมาตรา 1696

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1942 / 2523 แม้เจ้ามรดกจะเคยทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย แต่เมื่อต่อมาเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยสมบูรณ์ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นย่อมเป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696

      การโอนหรือทำลายด้วยความตั้งใจ หมายถึง สมัครใจโอนหรือทำลาย แต่จะโอนไปด้วยสาเหตุใดไม่สำคัญ เช่น อยากยกให้แต่ต่อมาป่วยต้องใช้เงินรักษาตัวเป็นจำหน่ายไป ถ้าเป็นการโอนหรือทำลายโดยไม่สมัครใจ เช่น ถูกข่มขู่ให้โอนก็ไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นต่อผู้ขู่เข็ญอย่างไร เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย ผู้รับพินัยกรรมก็มีสิทธิตามนั้น ซึ่งต่างจากกรณีทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมสูญหาย หรือถูกทำลายไป โดยผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งหากได้ของแทนหรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นกรณีตามมาตรา 1681 หากไม่ได้ก็เป็นกรณีตาม มาตรา 1698 (4) คือข้อกำหนดพินัยกรรมตกไป

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3128 / 2538  ม. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมา  ม. ยกที่ดินตาม น.ส. 3 ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทอยู่ด้วยให้แก่  ป. จึงถือว่า ม. ได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความตั้งใจแล้ว ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ระบุยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นอันเพิกถอนตามมาตรา 1696 วรรคหนึ่ง

      การโอนทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมนี้ จะโอนไปโดยสมบูรณ์แล้วหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย แม้จะมีการโอนไปแล้ว แต่ต่อมาหากทรัพย์นั้นได้โอนกลับมา เป็นของผู้ทำพินัยกรรมอีก ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นก็ยังอยู่

      คำพิพากษาฎีกาที่ 3875 / 2535 ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แม้ต่อมาผู้ตายได้ยกที่ดินดังกล่าวให้น้องสาว แต่หลังจากนั้นน้องสาวผู้ตายก็ได้โอนกรรมสิทธิที่ดินแปลงนี้กลับคืนให้แก่ผู้ตายอีก เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่โจทก์ผู้รับพินัยกรรมแต่ผู้เดียว

      ข้อสังเกต มาตรานี้ มีผลกับผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง แต่ผู้ทำพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้นไปเสียก่อนเท่านั้น ส่วนผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป แม้ทรัพย์สินบางอย่างโอนไปก็ยังคงมีสิทธิ ได้รับมรดกตามส่วนในทรัพย์สินที่เหลือ

4. ด้วยการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกับพินัยกรรมฉบับก่อน

      มาตรา 1697 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกลับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อน เป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้น

      เป็นกรณีมีการทำพินัยกรรมฉบับหลัง โดยมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และข้อความขัดกัน มาตรา 1697 บัญญัติให้ถือว่า พินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพินัยกรรมในมาตรา 1647 ที่ว่า การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้น ทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม

      มาตรา 1697 ต่างจาก 1694 ตรงที่ ถ้าเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนทั้งฉบับ ตามมาตรา 1694 ในการทำพินัยกรรมฉบับหลังจะมีข้อความระบุว่า ขอเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนไว้โดยชัดแจ้ง แต่มาตรา 1697 ไม่จำเป็นต้องมีข้อความว่าเป็นการเพิกถอน เพียงแต่ทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาแล้วข้อความบางส่วนไปขัดกับฉบับเดิม ก็จะมีผลเป็นการเพิกถอนข้อความเสียงที่ขัดกันแล้ว อย่างไรก็ตาม หากขัดกันทั้งหมดทุกข้อ ก็ย่อมมีผลให้พินัยกรรมฉบับเดิมถูกเพิกถอนทั้งฉบับนั้นเอง ดังนั้นการเพิกถอนตามมาตรา 1697 จึงเป็นการเพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรม ไม่ใช่เพื่อความพินัยกรรมทั้งฉบับ เว้นแต่ จะมีข้อความจากการไปทั้งหมดดังกล่าวมาแล้ว

      คำพิพากษาฎีกาที่ 1078 / 2537 พินัยกรรมฉบับก่อนเจ้ามรดก ยกที่ดินให้โจทก์ 10 ไร่ ส่วนพินัยกรรมฉบับหลังเจ้ามรดกยกที่ดินให้โจทก์ จำเลย และบุตร คนอื่นๆ รวม 7 คน คนละ3 ไร่ ส่วนที่เหลือยังคงเป็นส่วนของเจ้ามรดกอยู่ โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดิน 10 ไร่ ที่เคยทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ก่อนเลย ทั้งพินัยกรรมฉบับแรกตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนพินัยกรรมฉบับหลัง ตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก พินัยกรรมทั้งสองฉบับในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกและการตั้งผู้จัดการมรดกจึงขัดกัน และเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะเกี่ยวกับการยกทรัพย์มรดกให้ทายาท และเกี่ยวกับการตั้งผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1697

      คำพิพากษาฎีกาที่ 7462 / 2555 พินัยกรรมฉบับแรก ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 4 แปลง และบ้านให้แก่จำเลยกับพี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม และระบุตัดทายาทอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่ให้รับมรดก พินัยกรรมฉบับที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดินอีก 3 แปลง ซึ่งไม่ใช่ที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมฉบับแรกให้พี่น้องของผู้ทำพินัยกรรมเมื่อพินัยกรรมฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลัง ไม่มีข้อความให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรก หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรก จึงต้องถือว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกยังคงมีอยู่ และกรณีไม่ใช่พินัยกรรมฉบับก่อนและฉบับหลังขัดกัน เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกสมบูรณ์ ทรัพย์สินในพินัยกรรมฉบับแรกจึงไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่ละรายไว้ในพินัยกรรมแต่ละฉบับ โจทก์แม้จะเป็นทายาทโดยธรรมแต่ไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรม จึงมีสิทธิ์ในทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมในส่วนที่ไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมเท่านั้น

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อที่ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE