กรรโชกทรัพย์ ปอ. มาตรา 337
สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี เป็น สำนักงานทนายความ ทนายความ รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ครับ ให้บริการปรึกษาคดี วางแผนทางคดี ให้คำแนะนำเบื้องต้นด้านกฎหมาย คดีอาญา คดีแพ่ง คดีครอบครัว คดีที่ดิน คดีก่อสร้าง ฯลฯ สำนักงาน ทนายความ มีบทความที่น่าสนใจด้านกฎหมายอาญาครับ
วันนี้มีคำถามที่น่าสนใจจากกระทู้พันทิป เรื่องกรณีกรรโชกทรัพย์ เราจะต้องป้องกันตนเองอย่างไร โดยเนื้อหาในกระทู้บอกว่า หากเดินอยู่ดีๆ มีคนบอกว่ายาเสพติดเป็นยาของเรา ต้องหาเงินมาจ่าย ไม่อย่างนั้นจะถูกต้องข้อหายาเสพติดไว้ในครอบครอง จะแก้ต่างอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจมากๆครับ หากเราเป็นคนดีแล้ว มีคนมากลั่นแกล้งเพื่อกรรโชกทรัพย์จากเรา เบื้องต้นจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ เรามาทำความรู้จักความผิดฐานกรรโชกทรัพย์กันก่อนครับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่า จะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก…
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
(1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
(2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ…”
ความผิดฐานกรรโชกเป็นความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ โดยผู้กระทำต้องข่มขืนใจผู้อื่น การข่มขืนใจผู้อื่นนั้น อาจจะเป็นการข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญ ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน โดยมีเจตนาที่จะให้ผู้ถูกข่มขืนใจยอมให้ หรือยอมจะให้ ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เมื่อเปรียบเทียบความผิดนี้กับความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 309 จะพบว่าแทบจะเหมือนกัน แต่มาตรา 309 เป็นบทบัญญัติที่กว้างกว่า กล่าวคือ มาตรา 309 เจตนาที่ผู้กระทำประสงค์ก็คือ ให้ผู้ถูกข่มขืนใจกระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งใด ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ดังนั้น ถ้ามีการข่มขืนใจผู้อื่นให้ร้องเพลงให้ฟัง ให้นั่งอยู่นิ่งๆ หรือบังคับให้เดิน ก็อยู่ในความหมายของมาตรา 309 ทั้งสิ้น ในส่วนของการกระทำที่แตกต่างกันก็คือ มาตรา 309 เป็นการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย (ยอมด้วยความกลัว) ส่วนมาตรา 337 เป็นการขู่เข็ญว่าจะทำให้เกิดอันตราย จะเห็นได้ว่าการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายนั้นมีความหมายกว้างกว่าการขู่เข็ญ เพราะว่าการขู่เข็ญนั้นเป็นเหตุหนึ่งของการการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย แต่เหตุที่ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายไม่จำเป็นที่จะมีแต่เฉพาะการข่มขู่เท่านั้น การใช้อุบายหลอกลวงแล้วทำให้เกิดความกลัว ว่าจะเกิดอันตรายก็เป็นการทำให้กลัวอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่การขู่เข็ญ
จึงสรุปได้ว่า ความผิดฐานกรรโชกเป็นความผิดต่อเสรีภาพเสมอ แต่ในความผิดต่อเสรีภาพไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดฐานกรรโชก เพราะความผิดฐานกรรโชกมีเจตนามุ่งหมายที่จะต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินเท่านั้น เมื่อเป็นความผิดฐานกรรโชกแล้วก็คงไม่ต้องปรับมาตรา 309
คำพิพากษาฎีกาที่ 1447 / 2513 จำเลยกับพวกมีอาวุธปืนติดตัวเข้าไปพูดจาให้ ก. คิดบัญชีการเงินที่จำเลยกับ ก. เข้าหุ้นทำการก่อสร้างโดยถูกขู่ว่า ถ้าไม่คิดจะเกิดเรื่องแต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เพราะ ก. ไม่ยอมคิดบัญชีให้จำเลย ก็มีความผิดฐานพยายามกระทำความผิดต่อเสรีภาพ แต่ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก
จะเห็นได้ว่า ที่ไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชกก็เพราะว่ามีการข่มขืนใจ ให้ผู้อื่นกระทำการ คือการคิดบัญชี การคิดบัญชีไม่มีลักษณะเป็นทรัพย์สิน แต่ถ้าขู่ว่า ถ้าไม่ยอมส่งมอบเงินให้จะจับตัวเอาไปขัง เช่นนี้เป็นการขู่ว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ถ้าผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้หรือส่งเงินให้ย่อมเป็นความผิด ตามมาตรา 337 และในขณะเดียวกันก็ผิดมาตรา 309 ด้วย
ความผิดฐาน กรรโชกทรัพย์ ปอ. มาตรา 337 ในบางครั้งก็มีความใกล้เคียงกับ ความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 และ ทั้งสองความผิดนี้ อาจจะซ้อนกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ก. ใช้อาวุธปืนยิงขู่ ข. ให้ ข. ส่งมอบทนัพย์ให้ ถ้า ข. ไม่ให้จะใช้ปืนยิง จะเห็นได้ว่าการกระทำของ ก. เป็นการช่มขืนใจผู้อื่น โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตถ้า ข. ผู้ที่ถูกข่มขืนใจ ยอมส่งมอบทรัพย์ให้ ก็ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 337 สำเร็จ และในขณะเดียวกัน เมื่อเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในทันใดนั้น ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นในที่สุด ผู้ถูกข่มขู่ก็ยื่นทรัพย์ให้ การกระทำดังกล่าวก็เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย
ในกรณีที่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือกรรโชก ถ้าหากฟ้องจำเลยตามความผิดฐานกรรโชก จำเลยย่อมได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ถูกฟ้องในความผิดฐานชิงทรัพย์ อาจมีฎีกาบางเรื่องน่าจะเป็นชิงทรัพย์ แต่เหตุใดศาลฎีกาจึงตัดสินว่าเป็นกรรโชก จึงต้องดูด้วยว่าเรื่องนั้น ได้มีการฟ้องและขอลงโทษในความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
- กล่าวโดยสรุป พอจะแยกข้อแตกต่างระหว่าง ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ กับ ความผิดฐานชิงทรัพย์ ได้ดังต่อไปนี้
1. ความผิดฐานชิงทรัพย์ มีที่มาจากความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้นทรัพย์ที่จะชิงได้ มีแต่เฉพาะสังหาริมทรัพย์ ส่วนกรรโชกนั้นเป็นการบังคับให้ผู้อื่นยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า ดังนั้นอาจจะมีการกรรโชกสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ สิทธิประโยชน์ต่างๆที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินไม่มีรูปร่างได้
2. ความผิดฐานกรรโชกมีแต่เพียงเจตนาธรรมดา ส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์ เมื่อมีพื้นฐานมาจากลักทรัพย์ต้องมีเจตนาพิเศษ คือเจตนาโดยทุจริต และยังต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อประการใดประการหนึ่งใน 5 ประการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 339 ด้วย เช่น เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นเพื่อยึดถือทรัพย์นั้นไว้
ความผิดฐานกรรโชกส่วนของการกระทำ อาจจะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และรวมถึงการขู่เข็ญว่า จะทำอันตรายต่อเสรีภาพ หรือชื่อเสียงหรือทรัพย์สินด้วย แต่ในเรื่องชิงทรัพย์ จะต้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดจะใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น ไม่รวมถึงการขู่เข็ญ ว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ดังนั้นถ้ามีการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ และให้ยื่นทรัพย์สินให้ในทันใดนั้น ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานกรรโชก
3. แม้จะมีการใช้กำลังประทุษร้าย แต่ถ้าบังคับให้ผู้ถูกข่มขืนใจส่งทรัพย์สินให้ ในเวลาอื่นไม่ใช่ทันที ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานกรรโชก เพราะความผิดฐานชิงทรัพย์ การใช้กำลังประทุษร้าย กับการได้มาซึ่งทรัพย์จะต้องต่อเนื่องและไม่ขาดตอน
4. การยอมให้ หรือยอมจะให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน แม้จะยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 337 แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าการยอมให้หรือยอมจะให้นั้น ไม่ได้เกิดจากความเกรงกลัวเนื่องมาจากการขู่เข็ญ เช่น ให้เพราะเกิดความรำคาญ ก็เป็นเพียงแต่ความผิดฐานพยายามเท่านั้น เพราะมาตรา 337 ใช้คำว่า จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
ส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ได้คำนึงถึงความเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ของผู้ที่ถูกกระทำ ถ้ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือถูกขู่เข็ญว่าในทันใดนั้น จะใช้กำลังประทุษร้าย โดยเจตนาที่จะให้ได้ทรัพท์มาในขณะนั้น ผู้ถูกกระทำจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจให้ เพราะไม่ได้กลัว ก็เป็นความผิดตามมาตรา 339 ฐานชิงทรัพย์ แต่จะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อได้ครอบครองทรัพย์แล้ว
5. ความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นความผิดที่เกิดจากการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญเพื่อประการใดประการหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 339 ดังนั้น ถ้ากรณีเป็นการบังคับให้เขาต้องกระทำการหรือไม่กระทำการ ก็อาจจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพ เช่น การบังคับโดยใช้กำลังประทุษร้าย ให้ผู้อื่นยึดทรัพย์ให้ ก็เป็นความผิดต่อเสรีภาพด้วย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ความผิดต่อเสรีภาพนั้นเปรียบได้เสมือนหัวข้อใหญ่ กรณีที่ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ก็อาจเป็นความผิดฐานเสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา 309 ได้
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อที่ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE