คนเสมือนไร้ความสามารถ

https://pantip.com/topic/31034987

คนเสมือนไร้ความสามารถ

บทความเกี่ยวกับ คนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ติดตามกันได้เลยครับ

1. หลักเกณฑ์การเป็น คนเสมือนไร้ความสามารถ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 จากกรณีดังกล่าว คนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2. ประการคือ

(1) มีเหตุบกพร่องแยกเป็น 5 ประการ

          1.1 กายพิการ เช่น แขนด้วน หูหนวก ตาบอดทั้งสองข้าง เป็นใบ้ เป็นอัมพาตตลอดร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมาโดยกำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง

          1.2 มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คือ มีจิตใจไม่ปกติ หรือสมองพิการ เป็นผู้มีความรู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขนาดวิกลจริต ไม่ว่าจะเป็นมาโดยกำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง

          1.3 ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ คือ บุคคลที่ใช้จ่ายเงินทองอย่างไม่จำเป็นและไร้อย่างไร้ประโยชน์ ต้องใช้จ่ายเงินทองเกินกว่ารายได้ที่มีอยู่ โดยปราศจากเหตุผล แต่การลงทุนแล้วขาดทุน หรือการใช้งานรักษาพยาบาลบิดามารดา สามีภรรยา หรือบุตร ไม่ใช่ปราศจากเหตุอันสมควร ประพฤติตนเสเพล เช่น เที่ยวกลางคืนเล่นการพนัน และเป็นอาจิณหรือบ่อยๆ ครั้ง

          1.4 ติดสุรายาเมา

          1.5 มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกัน

(2) ทำให้ไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่สิทธิของตนเองหรือครอบครัว

          คำพิพากษาฎีกาที่ 95 / 2483 ผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาต มือเท้าตายไม่สามารถนั่งได้ด้วยตนเองได้ แต่ถ้าไม่สามารถสืบให้ศาลทราบได้ว่า ผู้ป่วยมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้ ก็เห็นว่าเป็นเพียงผู้ป่วยกายพิการเท่านั้น ศาลย่อมพิพากษายกคำร้อง

          นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บุคคลอาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยผลต่อเนื่องจากการที่ร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าในทางพิจารณา ได้ความว่าบุคคลนั้นไม่วิกลจริต แต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ตามมาตรา 33

2. การให้คนเสมือนไร้ความสามารถอยู่ในความพิทักษ์

ผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถจะต้องจัดอยู่ให้อยู่ในความพิทักษ์ตามมาตรา 32 วรรคสอง

          ผู้ที่มีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้สั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามมาตรา 28 ประกอบมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ได้แก่
(1) คู่สมรส
(2) ผู้บุพการีคือบิดามารดาปู่ย่าตายายทวด
(3) ผู้สืบสันดานคือลูกหลานเหลนลื่อ
(4) ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์
(5) ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้นั้นอยู่
(6) พนักงานอัยการ

การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ แยกการพิจารณาออกได้เป็นกรณีดังนี้

          ก. กรณีคนเสมือนไร้ความสามารถเป็นผู้เยาว์ กฎหมายให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้พิทักษ์ (ตามมาตรา 1569)

          ข. กรณีคนเสมือนไร้ความสามารถเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว และไม่มีคู่สมรส กฎหมายให้บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดา เป็นผู้พิทักษ์ เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น (ตามมาตรา 1569 / 1 วรรคสอง)

          ค. กรณีคนเสมือนไร้ความสามารถสมรสแล้ว กฎหมายให้ภรรยาหรือสามีเป็นผู้พิทักษ์ เว้นแต่ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้พิทักษ์ก็ได้

          สำหรับผู้ปกครองไม่เป็นผู้พิทักษ์โดยกฎหมาย ผู้ปกครองจะเป็นผู้พิทักษ์ได้ก็ต่อเมื่อศาลแต่งตั้ง และในกรณีที่คนเสมือนและความสามารถไม่มีบิดามารดา หรือคู่สมรส ศาลย่อมตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้พิทักษ์ได้ (ตามมาตรา 1463)

  • ผู้พิทักษ์มีอำนาจในการควบคุมดูแลการทำนิติกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถ

3. ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

          ตามมาตรา 34 คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน แล้วจึงจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ดังต่อไปนี้
(1) นำทรัพย์สินไปลงทุน
(2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงิน หรือทุนอย่างอื่น
(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืม หรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
(4) รับประกันโดยประการใดๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
(5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี
(6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การที่ให้พอสมควรแก่ฐานะอนุรูป เพื่อการกุศล การสังคมหรือตามหน้าที่จรรยา
(7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มา หรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมมาทรัพย์ หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
(9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
(10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนการพิจารณาใดๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
(11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

          ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (11) ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็น คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้ ตามมาตรา 34 วรรคสอง

          และในกรณีที่ คนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรค 1 หรือวรรค 2 ได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทน คนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ตามมาตรา 34 วรรค 3

          ในกรณีที่ผู้พิทักษ์ไม่ยินยอมให้คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 34 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถร้องขอ ศาลจะสั่งอนุญาตให้กระทำการนั้น โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก็ได้ ถ้าการนั้นเป็นคุณประโยชน์แก่คนเสมือนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 35

          คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่ต้องด้วยข้อจำกัดตามมาตรา 34 ซึ่งจะทำได้เฉพาะเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน ดังนั้น คนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน จึงจะกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 วรรค 1 ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 ประการ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์สามารถตรา 34 วรรค 2 อีก

          ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการดังกล่าวไป โดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ มีผลทำให้เป็นโมฆียะตามมาตรา 34 วรรคท้าย ถ้าเป็นกิจการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้นี้ คนเสมือนไร้ความสามารถมีอำนาจกระทำการได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน และหากผู้พิทักษ์ไม่ยินยอมให้คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำนิติกรรมใดๆ โดยปราศจากเหตุผล  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 666 / 2494 (ป) คนเสมือนไร้ความสามารถย่อมประกอบกิจการต่างๆได้ เว้นแต่ในบางกรณีจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนเท่านั้น กฎหมายมิได้ให้อำนาจผู้พิทักษ์มีอำนาจปกครองคนเสมือนไร้ความสามารถด้วยไม่  ฉะนั้นผู้พิทักษ์จะฟ้องความแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยลำพังของตนเอง โดยมิได้รับมอบอำนาจจากคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 5720 / 2546  ตามมาตรา 34 (10) คนเสมือนไร้ความสามารถฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาได้ด้วยตนเอง โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน ดังนั้น ผู้พิทักษ์จึงมีอำนาจหน้าที่เพียงให้ความยินยอมหรือไม่ให้ความยินยอมแก่คนเสมือนไร้ความสามารถในการฟ้องคดีเท่านั้น แต่ไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจผู้พิทักษ์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ การที่โจทก์ลงลายมือชื่อแต่งทนายความและบรรยายฟ้องว่าโจทก์ในฐานะผู้พิทักษ์ของ ข. คนเสมือนไร้ความสามารถ อันเป็นการฟ้องคดีแทน  ข. โดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

4. การสิ้นสุดของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

เหตุที่จะทำให้การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถสิ้นสุดลงมี 2 กรณีคือ

          (1) เมื่อมีเหตุที่ได้ขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงแล้ว และบุคคลตามมาตรา 28 หรือคนเสมือนไร้ความสามารถเองได้ร้องขอต่อศาล ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 36 ประกอบมาตรา 31

          (2) เมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นการเป็นบุคคลวิกลจริต และถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

สรุป ผู้ที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ต้องจัดอยู่ในความพิทักษ์ คนเสมือนไร้ความสามารถจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน จึงจะกระทำการตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 34 วรรค 1 ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 ประการ และหากคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับการยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะกระทำการนั้นได้ ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอม มีผลทำให้เป็นโมฆียะ ดังนั้น ถ้าเป็นกิจการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้นี้ คนเสมือนไร้ความสามารถมีอำนาจกระทำการได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน และหากผู้พิทักษ์ไม่ยินยอมให้คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ โดยปราศจากเหตุผล คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นก็อาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตได้

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE