ตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 908

https://pantip.com/topic/35906443

ตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 908 (bill of exchange)

วันนี้ สำนักงานกฎหมาย มีบทความที่น่าสนใจด้านกฎหมาย ตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 908 ซึ่งได้เขียนไปก่อนหน้านี้แล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ตั๋วแลกเงิน ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน วันนี้มาต่อตอนที่ 2 เริ่มที่รายการที่ 5. กันครับ

รายการที่ 5. สถานที่ใช้เงิน สถานที่ใช้เงินมีไว้เพื่อให้ผู้ทรงได้นำตั๋วไปยื่นให้ถูกต้อง ถ้าสถานที่ใช้เงินไม่ระบุไว้ มาตรา 910 วรรค3 บัญญัติให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน โดยตั๋วนั้นไม่เสียไป ในตัวสัญญาใช้เงินมีมาตรา 984 วรรค 3 บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกับมาตรา 910 วรรค 3 แต่เปลี่ยนคำว่า ผู้จ่ายเป็นผู้ออกตั๋ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าลักษณะของตั๋วสัญญาใช้เงิน

          ปัญหาว่า ถ้าในตั๋วกำหนดสถานที่ใช้เงินไว้หลายแห่ง โดยให้ขึ้นอยู่กับผู้ทรงเลือกว่าจะยื่นตั๋ว ณ ที่ใดตามที่กำหนดไว้ก็ได้ อย่างนี้ทำได้หรือไม่ การกำหนดสถานที่ใช้เงินหลายแห่งนั้นน่าจะทำได้ เพราะข้อกำหนดดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลและทำอันดีของประชาชน ข้อตกลงใดที่ต่างไปจากที่กฎหมายกำหนด ถ้าข้อตกลงนั้นไม่ขัดต่อความสงบแล้วน่าจะทำได้ กรณีก็เช่นกันถ้าเราแปลว่าข้อตกลงในเรื่องสถานที่ใช้เงินไม่ขัดต่อความสงบแล้วก็น่าจะใช้ได้

รายการที่ 6. คือชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดจำว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือรายการนี้ต้องระบุชื่อของผู้รับเงิน หรือระบุยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือว่าจะระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ก็ได้ แต่จะปล่อยไว้เฉยๆ ไม่ได้ การระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินก็อาจจะระบุไว้ได้หลายวิธี เช่น จ่ายนายแดง หรือตามคำสั่ง หรืออาจจะระบุตำแหน่งของผู้รับเงินก็ได้ส่วนการจ่ายเงินแก่ผู้ถือ ก็อาจจะระบุได้หลายวิธีเหมือนกัน เช่น “จ่ายนายแดงหรือผู้ถือ” หรือว่า “จ่ายผู้ถือหรือตามคำสั่งหรือผู้ถือ” หรือ ว่าจ่าย “ผู้ถือ” ก็เป็นการระบุว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือเหมือนกัน

          คำพิพากษาฎีกาที่ 6305 / 2548 เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกแล้วเขียนคำว่า “สด” ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า “จ่าย” ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดจำว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงินตามมาตรา 899 การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรค1 ประกอบมาตรา 989 วรรค 1 แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น

รายการที่ 7. วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน วันออกตั๋วเงินก็คือ วันที่ลงในตั๋วหรือวันที่สั่งจ่ายไม่ใช่วันที่เขียนตั๋วอันนี้ต้องแยกให้ชัดเจน วันเขียนตั๋วนั้นอาจจะเป็นวันหนึ่ง ส่วนวันที่ออกตั๋วอาจจะเขียนลงวันที่ล่วงหน้าก็ได้ เช่น เขียนตั๋ววันที่ 10 มกราคม แต่ลงวันที่ในตั๋วเป็น 10 กุมภาพันธ์ ดังนี้วันที่ 10 กุมภาพันธ์จึงเป็นวันที่ออกตั๋ว

          คำพิพากษาฎีกาที่ 655 / 2489 วินิจฉัยว่า เช็คลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าก็ดี สั่งให้จ่ายเงินสดหรือให้แก่ผู้ถือก็ดีเป็นเช็คที่สมบูรณ์

  • คำพิพากษาฉบับนี้ยังมีผู้ถืออยู่ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 1577 / 2523 นั้นขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกด้วย

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1540 / 2512 วินิจฉัยว่า เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเป็นเช็คลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้า ถือว่าเป็นวันออกเช็คที่จำเลยจะต้องรับผิดตามเช็คนั้น ไม่ใช่ถือเอาวันเขียนเช็คเป็นวันออกเช็ค

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1416 / 2522 วินิจฉัยว่า ผู้ออกเช็คตายก่อนวันที่ลงล่วงหน้าในเช็ค กองมรดกต้องรับผิด ตามลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คนั้น

ประโยชน์ของวันออกตั๋วหรือก็คือวันที่ลงในตั๋วนั่นเอง
ประโยชน์ของวันออกตั๋วมีอะไรบ้างประโยชน์ของวันออกตั๋วมีอยู่สองประการด้วยกันคือ

          (1) ตั๋วแลกเงินที่มีข้อกำหนดให้ดอกเบี้ย ถ้าไม่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในตัวนั้น ก็ให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ลงในตั๋ว ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 911

          (2) ตั๋วแลกเงินสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็นนั้น ต้องนำตั๋วไป ยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว วันที่ลงในตั๋วคือออกตั๋ว ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 928 และตั๋วแลกเงินที่ให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น ก็ต้องนำไป ยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายในหกเดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋วเหมือนกัน ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 944 ถ้าไม่นำไปยื่นภายในกำหนดในมาตรา 928 ก็ดี ในมาตรา 944 ก็ดี ผู้ส่งย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่คู่สัญญาคนอื่นๆ ทั้งหมด เว้นแต่ผู้รับรอง ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 973

ผู้ทรงโดยสุจริตลงวันที่ถูกต้องแท้จริงได้

  • ผู้ทรงนั้นต้องสุจริต นอกจากสุจริตแล้วยังต้องลงวันออกตั๋วถูกต้องแท้จริงด้วย ตั๋วนั้นถึงจะมีผล

ในกรณีที่ตั๋วแลกเงินที่ไม่ได้ลงวันออกตั๋วเอาไว้ในมาตรา 910 วรรคสุดท้าย บัญญัติว่า “ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใด กระทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้”

  • ถ้าเราสังเกตได้ว่าตามมาตรา 910 วรรคสุดท้ายนี้เอง ผู้ที่จะจดวันลงไปได้ต้องเป็นผู้ทรง คนอื่นจะมาจดวันลงไปไม่ได้
  • ถามต่อไปว่า ถ้าเป็นตัวแทนของผู้ส่งทำได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ทำได้
  • เพราะเป็นเรื่องการมอบอำนาจมอบหมาย ให้ตัวแทนไปกระทำการ ยกตัวอย่างเช่น พนักงานธนาคารถือได้ว่าเป็นตัวแทนของผู้ทรง เมื่อผู้ทรงเอาเช็คไปยื่นต่อธนาคารในกรณีที่ไม่มีวันที่ พนักงานธนาคารก็สามารถที่จะลงวันที่ให้ไปก็ได้ ก็ถือว่า พนักงานนั้นเป็นตัวแทนของผู้ทรงตั๋วเงินนั้น บางทีเช็คบางฉบับที่ไปเรียกเก็บเงินนั้นไม่มีวันที่ แต่พนักงานธนาคารประทับตราลงวันที่ไว้ให้ อันถือเป็นการลงวันที่ถูกต้องแท้จริงได้ไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยลายมือชื่อ
  • ต้องลงวันถูกต้องแท้จริงนั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าต้องกระทำการโดยสุจริต คำว่า สุจริตก็คือเข้าใจว่า เป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง วันที่ถูกต้องแท้จริงก็คือ วันที่ผู้สั่งจ่ายประสงค์ที่จะลงให้วันที่วันนั้นลงไป วันที่ลงนั้น อาจเป็นคนละวันกับวันที่เขียนตั๋ว วันที่เขียนตั๋ว ก็หมายถึงวันที่เราถือตั๋วไป อาจเขียนล่วงหน้าไปก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นวันเดียวกัน

สำหรับมาตรา 910 วรรคท้าย อนุโลมนำไปใช้ในเรื่องเช็ค ซึ่งในเช็คก็มีคำพิพากษาฎีกาอยู่หลายเรื่อง ที่ทำให้เห็นแนวของการแปลมาตรา 910 วรรคสุดท้าย ว่าการลงวันที่ถูกต้องแท้จริงนี้ ใช้บังคับได้หรือไม่อย่างไร คำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยไว้ก็คือ

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2612 / 2517 วินิจฉัยว่า ผู้สั่งจ่ายออกเช็คประกันเงินกู้ให้โจทก์ โดยผู้สั่งจ่ายตกลงว่าจะชำระหนี้เงินในกลางปี 2514 การที่โจทก์ลงวันที่ออกเช็คเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2514 แม้หลังจากวันเขียนเช็คไปถึงสี่ปี และหลังจากผู้สั่งจ่ายตายแล้วถึงสามปี ก็เป็นการลงวันออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริงและสุจริต

กรณีที่ไม่ปรากฏว่าเหตุที่ไม่ลงวันออกตั๋วไว้ ถือว่าผู้สั่งจ่ายมอบหมายให้ผู้ทรงไปลงวันที่เอาเอง โดยลงวันใดก็ได้ แม้นานไปบ้างก็ถือว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง

          คำพิพากษาฎีกาที่ 502 / 2521 วินิจฉัยว่า ธนาคารไม่จ่ายเงินตามเช็คเพราะ ไม่ลงวันที่ออกเช็ค บัญชีปิดแล้ว ผู้สั่งจ่ายตาย ผู้ทรงรับเช็คคืนจากธนาคารลงวันที่สั่งจ่ายแล้วฟ้องสามีผู้รับมรดกผู้ตายให้ใช้เงินตามเช็คได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2395 / 2522 วินิจฉัยว่า ออกเช็คชำระราคาค่าสินค้าโดยไม่ได้ลงวันออกเช็ค แสดงว่ายอมให้ผู้ขายกรอกวันลงได้ตามที่ผู้ขายเห็นสมควร ต่อมา 6 ปี ผู้ขายซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คกรอกวันลงไป อันเป็นเวลาภายหลังหนี้เดิมซึ่งเป็นเรื่องซื้อขาย ขาดอายุความแล้ว ผู้ทรงก็บังคับเอาตามเช็คเอาแก่ผู้สั่งจ่ายได้

คดีนี้แม้หนี้เดิมจะขาดอายุความซื้อขายซึ่งมีอายุครบ 2 ปี ก็เป็นเพียงฟ้องเรียกตามมูลหนี้เดิมไม่ได้ เพราะขาดอายุความเท่านั้น แต่ยังมีหนี้อยู่และสามารถฟ้องเรียกเงินตามเช็คได้

มีแนวคำพิพากษาฎีกาที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า ถ้าไม่ลงวันออกเช็คไว้แสดงว่ายอมให้ผู้ส่งกรอกวันเอาไว้ตามที่เห็นสมควร แต่กรณีที่ลงวันห่างจากวันเขียนเช็คมากเกินไป จนเห็นได้ว่าไม่ใช่เจตนาของผู้ออกเช็คก็ถือไม่ได้ว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง อันนี้เป็นเรื่องการฟังข้อเท็จจริงเช่นกัน

          คำพิพากษาฎีกาที่ 104 / 2518 วินิจฉัยว่า กู้เงินโดยออกเช็คให้แก่ผู้ให้กู้เช็คนั้นไม่ได้ลงวันที่ ดังนี้ถือว่าได้ตกลงกันอยู่ในตัวว่า ผู้กู้ผิดนัดเมื่อใด ผู้ให้กู้กรอกวันลงและนำเช็คไปขึ้นเงินได้ ผู้ให้กู้กรอกวันลงหลังจากเช็คถึงกำหนดกว่า 10 ปี ธนาคารไม่จ่ายเงิน คดีขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1002

          คำพิพากษาฎีกาที่ 1407 / 2535 วินิจฉัยว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังโดยไม่ได้ลงวันเดือนปีที่สั่งจ่ายไว้ แล้วจำเลยที่ 1 มอบเช็คดังกล่าวให้แก่  ส.  เมื่อปี 2516 เก็บเช็คไว้เป็นเวลา 13 ปีเศษแล้ว  ส. ลงวันเดือนปีสั่งจ่ายเป็นวันที่ 16 เมษายน 2529 โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงด้วย และ  ส. ได้มอบเช็คพิพาทดังกล่าวชำระหนี้ค่าว่าความให้โจทก์ ดังนี้วันที่ในเช็คไม่ใช่วันที่ถูกต้องอย่างแท้จริง และจะถือว่า ส. จดวันเดือนปีที่ออกเช็คพิพาทโดยสุจริตไม่ได้

กรณีตัวแทนลงวันออกตั๋ว
เราพูดกันมาแล้วว่าผู้ที่จะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงตามมาตรา 910 วรรคท้าย คือ ผู้ทรง

แต่ถ้าเป็นตัวแทนของผู้ทรง เช่น พนักงานธนาคารซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ส่งอาจจะลงวันที่ถูกต้องแท้จริงแทนผู้ทรงได้

          คำพิพากษาฎีกาที่ 2474 / 2534 วินิจฉัยว่า การที่เจ้าหน้าที่ธนาคารลงวันที่สั่งจ่ายในเช็ค ถือเป็นปริยายได้ว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ลงวันที่สั่งจ่ายโดยสุจริตแทนโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ส่งและเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริง

รายการในตั๋วแลกเงิน

          เราได้พูดกันไปแล้วถึงรายการในตั๋วแลกเงิน รายการที่ 7 คือ วันและเวลาสถานที่ออกตั๋วแลกเงิน ก็คงเหลือข้อสังเกตตามมาตรา 910 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ส่งโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้”

          สำหรับถ้อยคำในมาตรา 910 วรรคท้ายนั้น เป็นการให้สิทธิแก่ผู้ทรงลงวันที่ถูกต้องแท้จริง หมายถึงกรณีที่ผู้ออกตัวไม่ได้ลงวันไว้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ออกตั๋วได้ลงวันไว้ แต่วันนั้นไม่ถูกต้องแท้จริง กรณีก็ไม่อาจที่จะนำมาปรับเข้ากับมาตรา 910 วรรคท้าย แต่ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ใหม่ต้องพิจารณาตามมาตรา 1007

กรณีที่ไม่ต้องด้วยตามมาตรา 910

          กรณีที่ 1. ถ้าผู้ออกตั๋วลงวันผิดโดยไม่ตั้งใจ ในระหว่างคู่กรณีกันเองต้องถือว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เพราะเหตุว่าคู่กรณีตกลงกันไว้อย่างนั้นว่าจะให้ใช้เงินวันไหน ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลง แต่ถ้าหากกรณีลงวันผิดเกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้สุจริตแล้ว จะเอาการลงวันผิดนั้นไปอ้างว่า เป็นการลงโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อใช้ยันบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ ต้องถือว่าวันที่ลงไปนั้นเป็นวันที่ถูกต้อง

          กรณีที่ 2. ถ้าผู้ออกตั๋วลงวันผิดโดยตั้งใจ กรณีนี้ไม่ว่าออกตั๋วเงินล่วงหน้าหรือย้อนหลัง ก็ต้องถือว่าเจตนาที่จะออกตั๋วล่วงหน้า หรือย้อนหลังนั้นโดยถือตามวันที่ลงไว้

          กรณีที่ 3. กรณีลงผิดโดยเห็นชัดเจนว่าผิดไปหรือพลั้งเผลอไป เช่น กรณีลงวันที่ 31 กันยายน เห็นได้ชัดว่าเดือนกันยายนมี 30 วัน กรณีนี้น่าจะแปล 30 กันยายน ในทางปฏิบัติ กรณีของธนาคารถ้าเกิดไปลงวันที่ 31 กันยายน ธนาคารไม่จ่ายเงินให้ เว้นแต่บางธนาคารอาจแปลความหมายว่า 30 กันยายนก็ได้

          สถานที่ออกตั๋วแลกเงิน สถานที่ออกตั๋วแลกเงินนั้นเรามาดูกันตามมาตรา 910 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า “ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋วให้ถือว่าตัวนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย” ซึ่งนำไปใช้เรื่องเช็คด้วยถ้าเป็นเรื่องของตั๋วสัญญาใช้เงิน มีบทบัญญัติเฉพาะในมาตรา 984 วรรค4 บัญญัติว่า “ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้ระบุสถานที่ออกตั๋วท่านให้ถือว่าตั๋วนั้น ได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว” เหตุที่บัญญัติไว้เช่นนั้น เพราะว่าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีผู้สั่งจ่าย ก็ให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว

รายการที่ 8. ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 909 (8) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายสำคัญมาก ถ้าไม่มีก็ไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนการลงลายมือชื่อจะทำอย่างไร รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับลายมือชื่อที่ลงในตั๋วตามมาตรา 900 ก็ดีความรับผิดของผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วก็ดี เราได้พูดคุยกันอย่างละเอียดพอสมควรแล้วจะไม่กล่าวซ้ำอีก

สรุป ตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 908 ตอนที่ 2 นี้ เป็นบทความที่เกี่ยวกับตราสารอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดแบบเอาไว้ ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้สั่งจ่ายสั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จ่าย ให้ใช้เงินจํานวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคําสั่งของบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน ซึ่งทาง สำนักงานทนายความ อุดมดี ได้เขียนบทความของตอนที่ 1 เอาไว้ >> ตั๋วแลกเงิน

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line : @Udomkadee
Fanpage : https://www.facebook.com/UDOMKADEE