ฟ้องหย่า
การหย่า เป็นเหตุทำให้การสมรสสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการที่สำคัญเหตุหนึ่ง กฎหมายแทบทุกประเทศในโลก ยินยอมให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้ ทั้งนี้ เพราะว่าเมื่อคู่สมรสหมดสิ้นเยื่อใย คลายความเสน่หาต่อกันแล้ว จะบังคับให้จำต้องทนอยู่ด้วยกันต่อไปน่าจะเป็นการไม่สมควร
การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ต้องเป็นกรณีที่สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฟ้องหย่า และมีเหตุขอหย่าในการฟ้องคดีคู่สมรส จะต้องอาศัยเหตุหย่าเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือหลายเหตุ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 จะอาศัยเหตุอื่นนอกเหนือจากนี้มาเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1178 / 2532 การที่โจทก์ฟ้องขอหย่า โดยอ้างเหตุตามกฏหมาย จำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังที่โจทก์กล่าวหา ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้แบ่งสินสมรสนั้น เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าไม่มีเหตุหย่า ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุหย่าตามฟ้องหรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุหย่า ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องไป ไม่ต้องพิจารณาตามฟ้องแย้งของจำเลย การที่จำเลยฟ้องแย้งว่า ถ้าศาลพิพากษาหย่า ก็ให้แบ่งสินสมรสนั้น จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ศาลชอบที่จะไม่รับฟ้องแย้ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 3246 / 2533 เหตุ ฟ้องหย่า นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลย โดยอ้างเพียงว่าขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย โจทก์มีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ จึงไม่เข้าเหตุฟ้องหย่าตามที่กฎหมายระบุ ไว้ศาลจึงชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ และกรณีที่นี้ ศาลไม่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (2) ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ฟ้องโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6483 / 2534 การฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างสามีภริยาเรื่องต่างฝ่ายจะไม่นำบุตรหรือญาติเข้ามาอยู่ในบ้านที่สามีซื้อเป็นเรือนหอ ไม่เป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นภริยาไม่สนใจความเป็นอยู่ของโจทก์ ทั้งที่รู้ว่าโจทก์เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและอายุมาก จำเลยไม่สนใจจัดการบ้านเรือน อาหารและแอบไปถอนเงินฝากของโจทก์มาใช้ส่วนตัว เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติตนในฐานะภริยาบกพร่องไปเท่านั้น ไม่เป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3)(6)
คำพิพากษาฎีกาที่ 1412 / 2543 เหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 แยกไว้เป็น 2 กรณีคือ
- เหตุฟ้องหย่าที่ไม่ใช่เกิดจากความยินยอม พร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงต้องกล่าวอ้างว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการเข้าเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 1516
- เหตุฟ้องหย่าที่เกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตามมาตรา 1516 (4/2)
เหตุฟ้องหย่าอันเนื่องจากกรณีที่ 1. นั้น โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่สมควร หรือกระทำการอันเข้าเงื่อนไขที่มาตรา 1516 ได้ระบุไว้ นอกจากอนุมาตรา (4/2) ส่วนเหตุฟ้องหย่าอันเกี่ยวจากกรณีที่ 2. ก็ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริง ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่สมัครใจเพียงฝ่ายเดียวดังนั้น หากพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้เป็นไปดังที่กล่าวมาทั้งสองกรณีนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมกัน หรือไม่มีเยื่อใยต่อกัน และไม่มีความหวังที่จะคืนดีกันอีกแล้วก็ตาม
เหตุฟ้องหย่า
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE