สามีเสียชีวิต แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส
วันนี้ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี คัดเลือกกระทู้ที่น่าสนใจเอามาตอบคำถามให้นะครับ
เมื่อชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และเกิดทำมาหาได้จนเกิดทรัพย์สินร่วมกัน ต่อมาสามีตาย ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นว่า สามีมิได้ทำพินัยกรรม ไม่มีลูก และทรัพย์สินบางอย่างใช้ชื่อร่วมกัน จะต้องแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร และจะแบ่งหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างทำมาหาได้ร่วมกันให้กับทายาททางฝั่งชายอย่างไร สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี มีคำตอบครับ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า เจ้าของกระทู้ท่านนี้ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันกับสามี เบื้องต้นสันนิษฐานทางกฎหมายได้เลยว่า การที่ชายหญิงอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้น เมื่อทำมาหาได้และเกิดทรัพย์สินขึ้นในระหว่างอยู่ด้วยกัน ให้ถือว่าทรัพย์สินดังกล่าว เป็นกรรมสิทธิรวม ที่ชายและหญิงมีสิทธิได้รับคนละครึ่ง
เมื่อเรียงลำดับทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายครอบครัวแล้ว จะมี 6 ลำดับ ดังนี้
1. บุตร
2. บิดา มารดา
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 วางหลักไว้ว่า หากผู้ตายมีคู่สมรสแล้ว คู่สมรสก็มีสิทธิได้มรดกในฐานเดียวกันกับทายาทชั้นบุตร การตีความคู่สมรสของกฎหมายครอบครัว ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญ เมื่อเจ้าของกระทู้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่อาจนำหลักกฎหมายมาตรา 1635 มาพิจารณาได้
กรณีของเจ้าของกระทู้รายนี้ เมื่อเรียงลำดับทายาทแล้ว ปรากฎว่าสามี(ผู้ตาย)กับหญิงนั้น ไม่มีบุตรด้วยกัน และบิดามารดาของผู้ตายได้เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว จึงต้องพิจารณาทายาทในลำดับถัดไปจนกว่าจะสิ้นสุดในหกลำดับนี้ เมื่อพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับสามี เป็นทายาทลำดับที่สามผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกแล้วนั้น จึงต้องแบ่งทรัพย์สินให้กับพี่น้องสามีครึ่งหนึ่ง แล้วทางพี่น้องจะนำทรัพย์สินที่ได้ไปเฉลี่ยกันเองในส่วนที่รับไป
ทรัพย์สินมรดกจะแบ่งเพียงใด ต้องพิจารณาประกอบด้วยอีก 2 ส่วนคือ
1.เมื่อซื้อทรัพย์สินและมีการระบุชื่อคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แล้ว ถือว่าเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินส่วนนี้ หากมีการระบุชื่อสามีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ทรัพย์สินจึงต้องตกแก่พี่น้องของสามีทั้งสิ้น แต่ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายไม่เด็ดขาด สามารถพิสูจน์หักล้างได้ว่า หากสามีได้นำเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันไปซื้อทรัพย์สินนั้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นกรรมสิทธิรวมของฝ่ายหญิงด้วย
2.ในส่วนของทรัพย์สินที่สามีภริยาซื้อมาแล้วใช้ชื่อร่วมกัน แบบนี้ถือได้ว่า เป็นกรรมสิทธิรวม ต่างฝ่ายต่างได้สิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่ง ส่วนอีกส่วนต้องยกแก่พี่น้องของฝ่ายสามีไป
การรับมรดกของผู้ตาย ทายาทจะต้องรับไปทั้งทรัพย์สินและทรัพยสิทธิทั้งหลายของผู้ตายไปด้วย หมายความว่า เมื่อทายาทชอบที่จะรับทรัพย์สินของผู้ตายแล้ว ทายาทก็ย่อมที่จะต้องรับหนี้ของผู้ตายไปด้วย แต่ทั้งนี้ทายาทต้องรับผิดชอบไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ ดังนั้น บ้านหนึ่งหลัง ที่ยังต้องผ่อนชำระอีก 2 ล้านบาท หญิงกับทายาทผู้ตายจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบคนละ 1 ล้านบาท
อาคารพาณิชย์ที่สามีและหญิงมีชื่อกู้ร่วมกัน และมียอดหนี้อยู่ 3 ล้านบาทนั้น ก็ใช้หลักการเดียวกันกับบ้านหนึ่งหลัง ที่จะต้องรับผิดในยอดหนี้ธนาคารคนละครึ่ง หนี้ธนาคาร 6 แสนบาท ก็ต้องร่วมรับผิดคนละครึ่ง
สรุป สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี จะขอสรุปว่า สามีเสียชีวิต แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่มีชื่อร่วมอยู่ด้วย ถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์สินนั้นอยู่ครึ่งหนึ่ง ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อเป็นเจ้าของร่วม จึงต้องถือว่าเป็นมรดกที่ต้องแบ่งให้กับทายาทโดยธรรมในหกลำดับของผู้ตาย และในกรณีหนี้สินต่างๆที่มีชื่อร่วมกันในการรับผิด ต้องรับผิดชอบคนละครึ่ง ถึงแม้ว่าหลังจากนี้ เจ้าของกระทู้จะพยายามผ่อนชำระหนี้จนหมดแล้วแต่เพียงผู้เดียว แต่เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ใส่ชื่อมาได้ร่วมกัน จึงทำให้กรรมสิทธิในทรัพย์สินเป็นของเจ้าของกระทู้และของสามีที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส
หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE