ตัวแทนเชิด

https://pantip.com/topic/34929978

ตัวแทนเชิด

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 “บุคคลใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่ง ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเอง ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้น จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่า บุคคลอีกคนหนึ่งนั้น เป็นตัวแทนของตน

หลักกฎหมายสำคัญของตัวแทนเชิด

         หลักสำคัญ “ตัวแทนเชิด” คือ ไม่มีความสัมพันธ์หรือการมอบหมายระหว่างตัวการกับตัวแทนมาก่อน ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับ ตัวแทนโดยปริยาย  เพิ่งตัวแทนโดยปริยายมีความผูกพันธ์หรือข้อตกลงทางใดทางหนึ่งระหว่างตัวการตัวแทนมาก่อนจึงแตกต่างจากตัวแทนเชิดซึ่งเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายแต่ตั้งตัวแทนโดยปริยายและตัวแทนเชิดไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798

         คำพิพากษาฎีกาที่ 5042 / 2561 จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ กรณีตัวแทนเชิดไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 798 การตั้งตัวแทนเพื่อทำกิจการอันใดจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด กรณีนี้โจทก์เป็นตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืน จากจำเลยที่เป็นตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลในความจริงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น ไม่ใช่การนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร

         อีกกรณีหนึ่งจะสังเกตได้ว่า บทบัญญัติ มาตรา 821 ใช้ถ้อยคำว่า  “…บุคคลนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก..”  ซึ่งต่างจากมาตรา 820 ซึ่งใช้ถ้อยคำว่า “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอก…”  แสดงให้เห็นความมุ่งหมายของกฎหมายที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการ ของการคุ้มครองของบุคคลภายนอกผู้สุจริต ในกรณีตัวแทนเชิดว่าตัวการต้องเป็นฝ่ายรับผิดต่อบุคคลภายนอก หรืออีกนัยหนึ่งบุคคลภายนอกเป็นฝ่ายฟ้องตัวการให้รับผิดได้ฝ่ายเดียว แต่ตัวการในกรณีเรื่องตัวแทนเชิดฟ้องบุคคลภายนอกไม่ได้ และตัวแทนเชิดย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

         คำพิพากษาฎีกาที่ 5984 / 2545 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของตัวการ ที่มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น ไม่มีข้อความใดที่กำหนดให้บุคคลภายนอกต้องรับผิดหรือมีความผูกพันต่อตัวการเลย บุคคลภายนอกจึงมีอำนาจฟ้องให้ตัวการรับผิดได้ แต่บุคคลภายนอกไม่อาจฟ้องตัวแทนได้ และตัวการก็จะฟ้องบุคคลภายนอกให้รับผิดไม่ได้เช่นกัน เมื่อจำเลยเป็นบุคคลภายนอกจึงหาอาจจะกล่าวอ้าง หรือพิสูจน์ว่าโจทก์ ซึ่งลงชื่อเป็นผู้ซื้อในสัญญาที่ทำกับตนนั้น  เป็นเพียงตัวแทนเชิดของ ว. ตัวการเพื่อให้จำเลยไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดตามสัญญาได้ไม่ ทั้งการที่จำเลยนำสืบว่าความจริงโจทก์ไม่ใช่ผู้จะซื้อแต่ ว. เป็นผู้จะซื้อนั้น ย่อมเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขาย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ด้วย

         ข้อสังเกต ฎีกานี้ โจทก์ฟ้องจำเลยให้คืนเงินมัดจำค่าซื้อที่ดิน และค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แต่จำเลยปฏิเสธความรับผิด โดยบอกโจทก์เป็นเพียงตัวแทนเชิดของ  ว. ทั้งที่โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญากับจำเลย การกล่าวอ้าง หรือนำสืบพิสูจน์ของบุคคลภายนอกว่า คู่ความอีกฝ่ายเป็นเพียงตัวแทนเชิด เพื่อพ้นความรับผิดในคดีนี้ทำไม่ได้  เพราะจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เป็นผู้ลงชื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยตรง  หากให้จำเลยนำสืบได้ว่าโจทก์เป็นเพียงตัวแทน จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยยังไม่ต้องรับผิดต่อนาย  ว. ด้วยเพราะนาย ว. ฟ้องจำเลยไม่ได้ ข้ออ้างดังกล่าวจึงปรับใช้กับมาตรา 821 ไม่ได้

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850 / 2558 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เป็นบทบัญญัติถึงความรับผิดของตัวการที่มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น มิได้กำหนดให้บุคคลภายนอกต้องรับผิดหรือมีความผูกพันต่อตัวการ  บุคคลภายนอกย่อมมีอำนาจฟ้องตัวการ ให้รับผิดได้ แต่บุคคลภายนอกไม่อาจฟ้องตัวแทนได้ และตัวการก็จะฟ้องบุคคลภายนอกให้รับผิดไม่ได้เช่นกัน  เมื่อจำเลยเป็นบุคคลภายนอก จึงหาอาจกล่าวอ้างว่าโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้รับจ้างในสัญญาจ้างเหมา ที่ทางปกครองนั้นเป็นเพียงตัวแทนเชิดของบริษัท  จ. ตัวการเพื่อให้จำเลยไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดตามสัญญาได้ไม่ จำเลยจึงต้องผูกพัน รับผิดตามสัญญาจ้างเหมากับโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

สรุป ลักษณะสำคัญของ ตัวแทนเชิด คือไม่มีสัญญาข้อตกลงการเป็นตัวแทนตัวการ แต่เกิดขึ้นโดย

1. เชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทน

2. รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เชิดตัวเค้าเองออกแสดงเป็นตัวแทน

         ดังนั้น บุคคลที่จะถือว่าเป็นตัวการในกรณีนี้อาจเป็นฝ่ายแสดงออกเอง หรือนิ่งเฉยไม่นำพาเมื่อเห็นบุคคลอีกคนหนึ่งมีพฤติการณ์ใดๆ ที่ถือว่าทำแทนตนหรือในนามของตน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป โดยพิเคราะห์จากพฤติการณ์ต่างๆ เช่น หัวกระดาษจดหมายของตัวการ  การปักป้ายชื่อตัวการเป็นผู้ก่อสร้างทางที่ประจักษ์ต่อบุคคลภายนอกอีกคนหนึ่งเป็นผู้ก่อสร้าง หรือการที่ตัวการเห็นเป็นปกติต่อธุรกรรมต่างๆ ที่บุคคลภายนอกทำต่อบุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนของต้นอยู่เป็นนิจ ซึ่งตนน่าจะชี้แจงความจริงให้ปรากฏแก่บุคคลภายนอก แต่กลับนิ่งเฉย บุคคลภายนอกจึงเข้าใจว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน  เป็นต้น

         บางกรณีตัวแทนเชิด เคยเป็นตัวการตัวแทนกันมาก่อน แต่ขณะไปผูกพันกับบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นตัวแทนแล้ว แต่ตัวการยังคงปล่อยให้ตัวแทนเดิมนั้นทำการดั่งเช่นปฏิบัติมา จึงเป็นตัวแทนเชิดที่ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต

         กรณีกรรมการบริษัทมีอำนาจลงลายมือชื่อแต่ไม่ประทับตราบริษัท ตามข้อกำหนดที่จะทำแทนบริษัทได้โดยสมบูรณ์ ตามหนังสือรับรองที่จดทะเบียนไว้ แต่ก็ถือได้ว่ากรรมการผู้นั้นเป็นตัวแทนเชิด เมื่อทำกิจการใดไป ย่อมของผลให้บริษัทตัวการ ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต

         คำพิพากษาฎีกาที่ 5140 / 2550  ส. เป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อ และประทับตราของจำเลย กระทำการแทนจำเลยได้แม้  ส. ไม่ได้ประทับตาของจำเลย แต่หนังสือรับสภาพหนี้ มีชื่อของจำเลยที่ด้านบนของกระดาษประกอบพฤติการณ์ของ ส. จึงถือว่า  ส. เป็นตัวแทนเชิดของจำเลย การที่  ส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงโจทก์ ถือเป็นการกระทำของจำเลย หนังสือรับสภาพหนี้มีข้อความตอนหนึ่งว่า “…ขอความกรุณาจากท่านช่วยลดราคาลงให้อีกบ้างตามควร พร้อมทั้งขอผ่อนผันชำระค่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นรายเดือนต่อไป” จึงเป็นการกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับตามสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นการยอมรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

         คำพิพากษาฎีกาที่ 853 / 2512 จำเลยเชิดบุคคลหนึ่งให้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยได้ เมื่อบุคคลนั้นทำสัญญาในนามจำเลย ตกลงจะผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ สัญญานั้นย่อมสมบูรณ์ผูกพันจำเลย จำเลยจะยกเอาข้อบังคับของบริษัทมายันโจทก์หรือบุคคลภายนอกไม่ได้

         ยอมให้เขาใช้ชื่อกิจการ จะปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ด้วยเหตุผลส่วนตัว ระหว่างตนกับผู้ใช้ชื่อกิจการของตนไม่ได้

         คำพิพากษาฎีกาที่ 403 / 2531 ชื่อโอเชี่ยนวิว เป็นชื่อในทางการค้าขายของบริษัทจำเลย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่โรงแรมโอเชี่ยนวิว จำเลยให้ผู้อื่นเช่าโรงแรมโอเชี่ยนวิว และบังคับให้ผู้เช่าใช้ชื่อเดิมจนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโรงแรมโอเชี่ยนวิวเป็นกิจการของจำเลย ดังนี้เป็นพฤติการณ์ที่บริษัทจำเลยแสดงออกแก่โจทก์ และบุคคลทั่วไปว่า การดำเนินกิจการโรงแรมเป็นกิจการของบริษัทจำเลยเอง จึงเป็นการเชิดผู้เช่าเป็นตัวแทนของบริษัทจำเลย ดังนั้น เมื่อผู้เช่าโรงแรมโอเชี่ยนวิวสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และไม่ชำระราคา บริษัทจำเลยจะยกเหตุแห่งการเช่าระหว่างกันเองมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่

         สรุป ตัวแทนเชิด คือ ตัวแทนที่ไม่ได้มีการแต่งตั้ง ไม่มีสัญญา หรือข้อตกลงการเป็นตัวการ ตัวแทน แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากการถูกตัวการเชิดบุคคลหนึ่งให้เป็นตัวแทนของตน หรือตัวการรู้อยู่แล้ว แต่ยอมให้ตัวแทนเชิดแสดงเป็นตัวแทน นั่นเอง

หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ติดต่อ สำนักงานกฎหมาย อุดมคดี ที่
เบอร์ 082-583-8658
Line:@Udomkadee
Fanpage: https://www.facebook.com/UDOMKADEE